เมื่อวันที่ 11กุมภาพันธ์ ปี 2016 อุปกรณ์ LIGO (จากคำเต็ม Laser Interferometer Gravitational - Wave Observatory) หรือหอสังเกตคลื่นโน้มถ่วงสองเครื่องแฝดที่ใช้หลักการแทรกสอดของแสงเลเซอร์ในการตรวจจับ ซึ่งอยู่ที่เมือง Livingston ในรัฐ Louisiana กับที่เมือง Hanford ในรัฐ Washington ของสหรัฐอเมริกา ได้รายงานข่าวการตรวจจับคลื่นโน้มถ่วงที่เกิดจากการโคจรวนรอบกันและกันของหลุมดำสองหลุม แล้วชนกันอย่างรุนแรง
ข่าวนี้ทำให้คนทั้งโลกรู้สึกตื่นเต้น และยินดีมาก เพราะทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein ซึ่งได้ทำนายไว้เมื่อ 100 ปีก่อนว่า เอกภพมีคลื่นโน้มถ่วง นอกเหนือจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นน้ำ คลื่นเสียง ฯลฯ ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ
ความพยายามของนักฟิสิกส์จำนวนนับพันที่พบคลื่นโน้มถ่วงครั้งนี้ทำให้ทุกคนในวงการฟิสิกส์คาดว่า รางวัลโนเบลฟิสิกส์สำหรับผลงานเรื่องคลื่นโน้มถ่วงคงต้องเป็นของนักฟิสิกส์ 3 คน คือ (1) Rainer Weiss แห่ง Masschusetts Institute of Technology (MIT) (2) Ronald Drever กับ (3) Kip Thorne แห่ง California Institute of Technology (Caltech) ในอเมริกาอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว
ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein ได้แสดงให้เห็นว่าระยะทางและเวลาในบริเวณรอบมวลใดๆ สามารถยืดออก หดเข้า และบิดโค้งได้ และการบิดโค้งของปริภูมิ-เวลานี้เองที่ทำให้เกิดแรงโน้มถ่วง ทฤษฎีของ Einstein ยังได้ทำนายอีกว่า เวลามวลเคลื่อนที่ด้วยความเร่ง โครงสร้างของปริภูมิ-เวลารอบมวลก้อนนั้น จะมีการสั่นขึ้น-ลง เป็นระลอกคลื่น ซึ่งเรียกว่าคลื่นโน้มถ่วง เหมือนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะเกิดเวลาประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่ด้วยความเร่ง
แต่ในกรณีคลื่นโน้มถ่วง ถ้ามวลหนึ่งถูกเร่งให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า กฎความถาวรของโมเมนตัมระบุว่า มวลอีกก้อนหนึ่งจะถูกเร่งให้เคลื่อนที่ไปข้างหลัง ดังนั้นคลื่นโน้มถ่วงที่เกิดขึ้นจากมวลทั้งสองที่เหมือนกันทุกประการจะหักล้างกันหมด
ด้วยเหตุนี้ ถ้านักฟิสิกส์ต้องการจะเห็นคลื่นโน้มถ่วง นอกจากวัตถุจะต้องมีความเร่งแล้ว รูปทรงของวัตถุก็ต้องมีความไม่สมมาตรด้วย เช่น เวลาดาวฤกษ์ถึงวาระดับขันธ์ โดยการระเบิดเป็น supernova จะมีคลื่นโน้มถ่วงปรากฏ หรือคลื่นอาจจะเกิดจากดาวนิวตรอนที่ไม่กลมดิก เวลาหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วก็สามารถปล่อยคลื่นโน้มถ่วงออกมาได้ หรือเวลาหลุมดำคู่หนึ่ง หรือดาวนิวตรอนคู่หนึ่ง หมุนวนรอบกันและกัน แล้วพุ่งเข้าชนกัน ก็สามารถทำให้เกิดคลื่นโน้มถ่วงได้
ในปี 1974 Joseph Taylor กับศิษย์ชื่อ Russell Hulse ได้พบดาวนิวตรอนสองดวง ที่โคจรรอบกันและกันว่าได้ปล่อยแสงที่มีความถี่น้อยลงๆ ตลอดเวลา 2 ปีที่ดาวทั้งสองเคลื่อนที่เข้าใกล้กัน การวัดความถี่ของแสงได้ผลตรงคำทำนายของ Einstein พอดี ผลการสังเกตที่แสดงว่าคลื่นโน้มถ่วงเกิดจากการลดพลังงานของดาวนิวตรอนคู่ ทำให้ Hulse และ Taylor ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1993
แต่ผลงานนี้เป็นการตรวจจับคลื่นโน้มถ่วงโดยทางอ้อม คือนักทดลองมิได้เห็นคลื่นจริงๆ ในอดีต Joseph Weber แห่งมหาวิทยาลัย Maryland ได้พยายามรับคลื่นโน้มถ่วงโดยตรง โดยใช้วัสดุทรงกระบอกที่ทำด้วยอะลูมิเนียมมวล 1 ตัน ติดตั้งในสุญญากาศ โดยมี transducer เป็นอุปกรณ์รับสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดจากการยึดตัวออก และหดตัวเข้าของทรงกระบอก เวลาถูกคลื่นโน้มถ่วงเคลื่อนที่มากระทบ
ในการทดลองที่กระทำในปี 1969-1970 Weber อ้างว่า อุปกรณ์ของเขาสามารถรับคลื่นโน้มถ่วงได้ แต่ทีมนักวิจัยชาติอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ผลการทดลองของ Weber โดยได้แสดงให้เห็นว่า อุปกรณ์ของ Weber ไม่มีความไวพอที่จะรับคลื่นโน้มถ่วงได้
นักฟิสิกส์จึงได้เบนความสนใจไปใช้เทคโนโลยีการแทรกสอดของแสงเลเซอร์เพื่อตรวจจับคลื่นโน้มถ่วง ตามข้อเสนอของ M. Gutsenshtein และ V. Pustovoit แห่งมหาวิทยาลัย Moscow ว่า ถ้าแยกแสงเลเซอร์ออกเป็น 2 ลำ แล้วให้พุ่งไปในแนวตั้งฉากกัน ไปตามแขนของอุปกรณ์แทรกสอด เมื่อแสงกระทบกระจกซึ่งติดอยู่ที่ปลายแขน แสงจะกลับมารวมกัน ทำให้เกิดการแทรกสอด และถ้ามีการปรับความยาวของแขนทั้งสองให้พอเหมาะ แสงลัพธ์จะหักล้างกันพอดี ทำให้อุปกรณ์ไม่สามารถบันทึกสัญญาณได้ แต่ถ้ามีคลื่นโน้มถ่วงผ่านแขนทั้งสองข้างของอุปกรณ์แทรกสอดนั้น คลื่นโน้มถ่วงจะทำให้แขนข้างหนึ่งยืดออก และอีกข้างหนึ่งหดเข้า ความยาวของแขนที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดสัญญาณแทรกสอดที่สามารถรับได้ ถ้าแขนของอุปกรณ์ยิ่งยาวเป็นกิโลเมตร สัญญาณลัพธ์จะยิ่งชัด
ในปี 1972 Rainer Weiss รู้สึกติดใจความคิดที่จะใช้เลเซอร์ตรวจจับคลื่นโน้มถ่วงมาก เขาจึงเขียนโครงการชื่อ Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory (LIGO) ขึ้นมา เป็นจดหมายเหตุที่มีความยาว 23 หน้าเพื่อนำเสนอเป็นรายงานต่อมหาวิทยาลัย MIT ต่อมาความคิดนี้ได้รับการกระตุ้น โดย Kip Thorne ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีแห่ง Caltech ในปี 1975 ซึ่งได้เชิญให้ Weiss มาทำวิจัยที่ Caltech โดยจะจัดหาตำแหน่งให้ แต่ประวัติการทำงานของ Weiss ที่จะทำให้ได้งาน มีค่อนข้างน้อย Caltech จึงไม่มีงานให้ Weiss ทำ
นั่นหมายความว่า Weiss กับ Thorne และ Ronald Drever ซึ่งเป็นสหายของ Thorne ต้องทดลอง LIGO แยกกัน จนกระทั่งปี 1987 องค์การ National Science Foundation (NSF) ของอเมริกาจึงลงมติว่า ให้ทั้ง 3 คนทำงานร่วมกัน เพราะถ้าไม่ร่วมกัน งบประมาณวิจัยมูลค่า 10,500 ล้านบาทก็จะไม่มี
อุปกรณ์ LIGO ที่ Hanford และ Livingston จึงถือกำเนิด โดยทั้งสองอุปกรณ์แฝดที่มีโครงสร้างเหมือนกันทุกประการ เพื่อตรวจสอบผลการวัดของกันและกัน ในประเทศอื่นๆ ก็มี LIGO เช่น VIRGO ของฝรั่งเศส-อิตาลีที่เมือง Pisa ซึ่งมีแขนความยาว 3 กิโลเมตร และ GEO ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับเยอรมัน ที่เมือง Hanover ในเยอรมนี ซึ่งมีแขนยาว 600 เมตร กับ TAMA ที่เมือง Tokyo ในญี่ปุ่น ซึ่งมีแขนยาว 300 เมตร
ดังนั้น LIGO ของอเมริกาที่มีแขนยาวที่สุด จึงเป็นอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นโน้มถ่วงที่ไวที่สุด
สำหรับประวัติของบุคคลที่ให้กำเนิดความคิดเรื่อง LIGO ชื่อ Reiner Weiss นี้มีชื่อเล่นว่า Rai เป็นคนที่มีวิถีชีวิตที่น่าสนใจมากคนหนึ่ง จากเด็กหนุ่มที่ขอลาออกจากมหาวิทยาลัย เพราะตกหลุมรักเพื่อนสาว แล้วพยายามหวนกลับคืนวงการวิชาการใหม่ จนกระทั่งได้แนวคิดที่จะสร้างอุปกรณ์ตรวจสอบทฤษฎีของ Einstein และประสบความสำเร็จในที่สุด
Weiss เกิดเมื่อปี 1932 ที่ Berlin ในเยอรมนี บิดาเป็นนักประสาทวิทยา ส่วนมารดาเป็นนักแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ ครอบครัวมีเชื้อชาติยิว จึงทำให้มีปัญหาในการดำรงชีวิตในเยอรมนี เพราะถูกอำนาจนาซีกลั่นแกล้งตลอดเวลา ดังนั้นจึงพากันอพยพไปอยู่ที่ Prague ใน Czechoslovakia แต่ก็ต้องอพยพอีกเมื่อได้ข่าวว่ากองทัพนาซีได้บีบบังคับรัฐบาลเชคโกฯ ให้ยกดินแดนส่วนหนึ่งให้เยอรมนี และรัฐบาลก็ยินยอม ครอบครัว Weiss จึงตัดสินใจหนีออกจากยุโรปเมื่อเดือนมกราคม ปี 1939 เพื่อไปอเมริกาเป็นเวลา 2 เดือนก่อนที่ Hitler จะยึดครองเชคโกสโลวาเกีย
ในช่วงแรกตระกูล Weiss ประสบความลำบากพอสมควร เพราะบิดามารดาพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดี จึงต้องทุ่มเททำงานในโรงงานหนักเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว เด็กชาย Weiss จึงต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในบ้านกับน้องสาว และได้เข้าเรียนที่โรงเรียน Columbia Grammar and Preparatory School ทว่า Weiss ไม่ชอบเรียนหนังสือ จึงหนีเรียนบ่อย เพื่อไปเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ และชอบซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้พวกนักเลงท้องถิ่น จะได้ไม่รังแกและรีดไถเงินจากตน
ชีวิตในวัยเด็กของ Weiss จึงไม่มีความสุขนัก แต่เพราะเป็นลูกชาย ดังนั้น พ่อแม่จึงยินยอมให้สิทธิ์พิเศษบ้าง เช่น ให้อยู่ในห้องที่ใหญ่ที่สุดของบ้าน เป็นต้น
แม้เวลาเรียนหนังสือ Weiss จะไม่ชอบเรียนในห้อง แต่ก็สอบผ่านทุกครั้ง เมื่อจบการเรียนระดับมัธยมศึกษาได้สมัครเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่ MIT เพราะต้องการจะเป็นช่างซ่อมวิทยุ แต่พบว่าหลักสูตรที่นั่นเน้นการทำงานในโรงไฟฟ้ามากกว่า จึงเปลี่ยนใจไปเรียนฟิสิกส์แทน เพราะพบว่า เป็นวิชาที่ตั้งเกณฑ์การเข้าเรียนต่ำที่สุด Weiss ได้เรียนฟิสิกส์จนกระทั่งถึงปี 3 จึงขอลาออกจากการเป็นนิสิต เพราะตกหลุมรัก และต้องการติดตามคนรักไปที่รัฐ Illinois เมื่อความรักดับสลาย Weiss ได้หวนกลับไปเรียนต่อที่ MIT โดยขอเรียนนอกเวลา และทำงานในห้องปฏิบัติการที่นั่นเป็นการหาเงินไปในเวลาเดียวกัน จนกระทั่งจบปริญญาตรี เมื่ออายุ 23 ปี อีก 7 ปีต่อมาก็สำเร็จขั้นปริญญาเอกด้วยวิทยานิพนธ์ที่ทำเรื่องนาฬิกาอะตอม จากนั้นได้ไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Princeton กับ Robert Dicke ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เป็นเวลา 2 ปี จึงกลับไปเป็นอาจารย์ชั่วคราวที่ MIT
ในขณะนั้นวงการฟิสิกส์กำลังตื่นเต้นกับข่าวการพบรังสีไมโครเวฟภูมิหลัง (Cosmic Microwave Background CMB) ที่ยังหลงเหลืออยู่หลัง Big Bang โดยในเวลานั้น (ปี 1965) อุณหภูมิของรังสีได้ลดลงมาก จนมีค่าประมาณ 2.7 องศาสัมบูรณ์ แต่การวัดสเปกตรัมของความยาวคลื่นต่างๆ ได้พบว่า รังสีที่มีความยาวคลื่นสั้นมีปริมาณมากกว่าที่ทฤษฎีได้ทำนายไว้ เพื่อพิสูจน์ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ผิดปกติ Weiss ได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดรังสีในบอลลูน แล้วปล่อยขึ้นเหนือบรรยากาศโลก แล้วก็พบว่า ทฤษฎี Big Bang ยังถูกต้องทุกประการ
ผลงานนี้ทำให้ชื่อเสียงของ Weiss โด่งดังมาก และทำให้ Weiss ได้งานประจำที่ MIT
ในปี 1976 เมื่อ NASA ส่งดาวเทียม Cosmic Background Explorer (COBE) ขึ้นอวกาศเพื่อวัดอุณหภูมิของ CMB อย่างละเอียด คือ ผิดพลาดไม่เกิน 1 ในแสน และได้เห็นความแปรปรวนของอุณหภูมิปรากฏในบริเวณต่างๆ ของเอกภพ ซึ่งชี้บอกสถานที่ให้กำเนิดกาแลกซี่ ผลงานนี้ทำให้ John Mather และ George Smoot ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 2006 แต่มีนักฟิสิกส์หลายคนที่คิดว่า Weiss น่าจะได้ร่วมรับรางวัลโนเบลนี้ด้วย
นี่เป็นการพลาดรางวัลโนเบลครั้งแรก
หลังจากการศึกษา CMB Weiss ได้เปลี่ยนมาสนใจเรื่องคลื่นโน้มถ่วง เพราะภาควิชาฟิสิกส์ของ MIT ได้ขอให้ Weiss สอนทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป โดยหัวหน้าภาคไม่ตระหนักว่า Weiss ไม่เคยเรียนวิชานี้ เขาจึงเลี่ยงสอนเนื้อหาที่ไม่เน้นทฤษฎี แต่เน้นการทดลองแทน โดยเฉพาะเรื่องการตรวจจับคลื่นโน้มถ่วง ซึ่งถ้าว่ากันตามทฤษฎีแล้ว โลกของเราได้รับคลื่นโน้มถ่วงตลอดเวลา แต่รับไม่ได้ เพราะเครื่องตรวจจับที่ใช้ยังไม่ไวพอ และไม่มีใครสามารถตอบได้ชัดว่าอุปกรณ์ที่ใช้วัดจะเห็นสัญญาณเป็นเช่นไร
Weiss กับ Thorne คิดว่า ถ้า supernova ที่มีจำนวนมากมายในเอกภพ มีการระเบิดปีละครั้ง เขาก็คงรับคลื่นได้ปีละหน แต่การคำนวณแสดงให้เห็นว่า supernova ที่จะระเบิดนั้น ต้องอยู่ใกล้โลกมาก LIGO จึงจะรับสัญญาณได้ แต่สำหรับดาวนิวตรอนคู่ที่หมุนวนรอบกันและกัน จนในที่สุดมาชนกัน จะสร้างคลื่นโน้มถ่วงที่ LIGO จะเห็นได้ ถ้าดาวทั้งคู่อยู่ห่างจากโลกไม่เกิน 65 ล้านปีแสง (20 megaparsecs)
Weiss ต้องการเพิ่มความสามารถในการรับคลื่นโน้มถ่วงของอุปกรณ์ LIGO จึงออกแบบอุปกรณ์ให้รับสัญญาณจากการชนกันของดาวนิวตรอนสองดวงได้ที่ระยะทาง 150-200 megaparsecs แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่คือ เขาไม่รู้เวลาที่เหตุการณ์การชนกันจะเกิด
นอกจากนี้ ปัญหาการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่เกิดจากแผ่นดินไหว หรือการจราจรทางรถยนต์ และทางรถไฟบนถนนและรางที่ตัดผ่านใกล้ห้องปฏิบัติการ LIGO ก็จะต้องถูกกำจัดให้หมดไปด้วย คล้ายๆ กับการขอร้องให้ธุรกิจทุกชนิดในบริเวณ LIGO หยุดทำงาน เวลา Weiss จะรับคลื่นโน้มถ่วง เพราะเขาไม่ต้องการให้ความยาวของแขนอุปกรณ์เปลี่ยนแปลงโดยสาเหตุที่มิใช่คลื่นโน้มถ่วง ดังนั้นจึงต้องให้อุปกรณ์อยู่ในสุญญากาศที่มีความดันอากาศภายในต่ำกว่า 10-8 มิลลิบาร์ เพราะถ้ามีโมเลกุลแก๊สหลงเหลืออยู่ภายในท่อ โมเลกุลจะรบกวนสัญญาณแสง จนความไวของอุปกรณ์ LIGO สามารถรับสัญญาณได้ด้วยความไว 1 ในหมื่นล้าน ล้าน ล้านส่วนได้
นับเป็นเวลา 41 ปีหลังจากที่ Weiss คิดสร้าง LIGO ในที่สุดผลงานของเขาก็ได้ทำให้โลกยินดี จนใครๆ ก็คิดว่า Weiss ควรได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับ Kip Thorne และ Ronald Drever ในอนาคตอันใกล้นี้ และจะไม่พลาดรางวัลเป็นครั้งที่สอง
แม้ยังไม่ได้รางวัลโนเบลฟิสิกส์ แต่ Weiss กับเพื่อนๆ ก็ได้รับรางวัลอื่นๆ ไปมากมายแล้ว เช่นรางวัล Special Breakthrough, รางวัล Gruber Cosmology, รางวัล Shaw Prize in Astronomy และรางวัล Kavli Prize in Astrophysics ซึ่ง Weiss ก็ได้แบ่ง 90% ของเงินรางวัลที่เขาได้รับ เป็นทุนการศึกษาของนิสิต เพราะเขาเป็นคนที่เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้ด้อยโอกาสกว่า
ปัจจุบันนอกจาก LIGO ที่อเมริกาแล้ว โลกก็ยังมีห้องปฏิบัติการคลื่นโน้มถ่วงอีกในหลายประเทศ เช่น GEO600 ในเยอรมนี Virgo ในอิตาลี และ LIGO ในอินเดีย รวมถึงการใช้กล้องโทรทรรศน์ BICEP2 ที่ขั้วโลกใต้ เพื่อสังเกตคลื่นโน้มถ่วงด้วย และมีโครงการ International Pulsar Timing Array (IPTA) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างบรรดาประเทศในอเมริกาเหนือ-ยุโรป-ออสเตรเลีย ในการติดตามดาว pulsar ซึ่งเป็นดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองเร็วมาก โดยหวังว่า เวลาคลื่นโน้มถ่วงเคลื่อนที่ผ่านดาว pulsar จังหวะแสงจาก pulsar จะเปลี่ยนแปลง
ส่วนโครงการ GEO600 ซึ่งอยู่ที่เมือง Hanover ในเยอรมนีมีแขนที่ยาว 600 เมตร จึงมีความไวน้อยกว่า LIGO ของอเมริกา แต่จะรับคลื่นโน้มถ่วงได้ ถ้าคลื่นนั้นรุนแรงมาก
ด้านโครงการ Virgo ซึ่งอยู่ที่เมือง Cascina ในอิตาลี ก็สามารถรับคลื่นโน้มถ่วงที่เกิดเวลาดาวนิวตรอนชนกัน ซึ่งมีความถี่แตกต่างจากคลื่นที่ Weiss รับได้
ด้านนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นก็สนใจคลื่นโน้มถ่วง จึงมีโครงการ Kamioka Gravitational Wave Detector (KAGRA) ที่จะเริ่มทำงานในปี 2018
ในปี 2022 India ก็มีกำหนดจะเข้าร่วมในโครงการตรวจจับคลื่นโน้มถ่วง
ถึงปี 2034 องค์การอวกาศแห่งยุโรป (ESA)จะส่งอุปกรณ์ LISA ขึ้นอวกาศเพื่อสังเกตคลื่นโน้มถ่วง (LISA มาจากคำ Laser Interferometer Space Antenna)
อุปกรณ์เหล่านี้จะรับคลื่นโน้มถ่วงที่มีความถี่และพลังงานต่างๆ กันเพื่อให้นักฟิสิกส์ได้เห็น spectrum ทั้งหมดของคลื่นชนิดนี้เป็นการเปิดศักราชการศึกษาดาราศาสตร์คลื่นโน้มถ่วงอย่างเต็มตัว
อ่านเพิ่มเติมจาก Gravity from the Ground Up โดย B.S.Schutz จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press ปี 2003
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์