นักดำน้ำเจอ “ปลาถ้ำ” ในถ้ำใต้น้ำที่เยอรมนี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นปลาถ้ำชนิดแรกที่พบในยุโรป แม้จะมีปลาถ้ำในโลกมากกว่า 150 ชนิด แต่ยังไม่เคยพบในยุโรปและแอนตาร์กติกามาก่อน
ปลาถ้ำตัวแรกในยุโรปนี้ถูกพบโดยนักดำน้ำชื่อ “โจอาคิม ไครเซลไมเออร์” (Joachim Kreiselmaier) เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค.2015 ระหว่างสำรวจส่วนที่ลึกที่สุดของเส้นทางแม่น้ำดานูบ-อาค (Danube-Aach)
ไครไซลไมเออร์ได้พบปลาลอช (loach) ตัวสีชมพูในสกุลบาร์บาทูลา (Barbatula) ที่ถ้ำใต้น้ำอันหนาวเหน็บและห่างไกล ซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างแม่น้ำดานูบและบ่อน้ำพุอาคทอปฟ์ (Aachtopf) ทางตอนใต้ของเยอรมนี
บริเวณที่พบปลาถ้ำดังกล่าวนั้นมีนักดำน้ำไม่เกิน 30 คนที่เข้าไปถึง โดยไครไซลไมเออร์อธิบายว่าเป็นเพราะทัศนวิสัยที่ไม่ดี กระแสน้ำแรง อีกทั้งยังมีอุณหภูมิหนาวเหน็บ และทางเข้ายังวกวน นักดำน้ำส่วนใหญ่จึงไม่กลับไปบริเวณนั้นอีก
ตอนนี้มีปลาถ้ำทั่วโลกกว่า 150 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่มีเม็ดสีของผิวเพียงเล็กน้อย และไม่มีตาหรือมีตาขนาดเล็กมากๆ และล้วนอาศัยอยู่แทบทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์กติกาและยุโรป
เอเอฟพีได้รายงานถึงการค้นพบนี้ว่า นักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ลงวารสารวิชาการเคอร์เรนท์ไบโอโลจี (Current Biolog) อีกทั้งในรายงานทางวิชาการยังระบุถึงการค้นพบของนักดำน้ำด้วย
หลังจากไครไซลไมเออร์พบปลาถ้ำแล้ว เขาได้บันทึกภาพปลาดังล่าวไว้บางส่วน แล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาถ้ำดู และกลับไปดำน้ำที่บริเวณดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมทั้งจับปลาถ้ำดังกล่าวตัวเป็นๆ กลับมาเพื่อศึกษาด้วย
นักวิจัยได้เปรียบเทียบปลาถ้ำดังกล่าวและคุณลักษณะทางพันธุกรรมกับปลาอื่นๆ ที่ว่ายน้ำอยู่ใกล้ผิวน้ำของถ้ำและยืนยันว่า ปลาลอชดังกล่าวคือปลาถ้ำอย่างแน่นอน และตัดขาดจากประชากรปลาอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นปลาถ้ำชนิดแรกที่รู้จักในยุโรป
เพราะอาศัยอยู่ในความมืด ตาของปลาลอชมีตาขนาดเล็กกว่าปลาอื่นและโค้งเข้าข้างใน ส่วนสีของปลาค่อนข้างจางกว่าปลาอื่นๆ อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีเงี่ยงยาวๆ คล้ายหนวดบนหัวและช่องจมูก
ผู้เชี่ยวชาญยังระบุอีกว่า ปลาลอชในยุโรปนี้น่าจะโผล่มาเมื่อประมาณ 20,000 ปีที่แล้ว โดย อาร์เน นอลเต (Arne Nolte) จากมหาวิทยาลัยโอลเดนเบิร์ก (University of Oldenburg) และสถาบันชีววิวัฒนาการมักซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Evolutionary Biology) บอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ธารน้ำแข็งลำลายและทำให้ระบบเหมาะสำหรับเป็นแหล่งอาศัยของปลา