xs
xsm
sm
md
lg

วัสดุดามกระดูกสัตว์เล็กฝีมือไทย ช่วยเจ้าของประหยัด ตอบโจทย์สัตวแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.นพ.ญ.ดร.มนชนก
ข่าวดีสำหรับคนรักสัตว์ และเจ้าของสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ อย่างสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ชิสุ หรือกระต่าย นักวิจัยไทยพัฒนาวัสดุดามกระดูกสัตว์เล็กและถ่ายทอดให้เอกชนได้เป็นครั้งแรก นับเป็นอีกช่องทางช่วยเจ้าของสัตว์เลี้ยงประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา ไม่ต้องพึ่งวัสดุจากต่างประเทศที่มีราคาแพงแต่ไม่สามารถรับน้ำหนักสัตว์เลี้ยงได้ และยังเป็นบันไดสู่การพัฒนาวัสดุทางแพทย์สำหรับมนุษย์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับศูนเทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และบริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวการถ่ายทอดนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์สู่ภาคเอกชน โครงการหมุดยึดแผ่นดามและแผ่นดามกระดูกสำหรับสัตว์เล็ก เมื่อ 31 มี.ค.60 ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กรุงเทพฯ
ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก วิจารสรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมสัตวแพทย์ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย เล่าถึงความเป็นมาของการหมุดยึดแผ่นดามและแผ่นดามกระดูก ก่อนถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนว่า ที่ผ่านการรักษากระดูกสัตว์เล็ก เช่น สุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน สุนัขพันธุ์ชิสุ หรือกระต่าย ที่หักและบาดเจ็บนั้นอาศัยวัสดุฝังในซึ่งเป็นวัสดุสำหรับดามกระดูกใบหน้ามนุษย์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะมีขนาดเล็กพอดีขนาดกระดูกสัตว์เล็กที่มีน้ำหนักประมาณ 5-7 กิโลกรัม

ทว่า กระดูกสำหรับดามใบหน้ามนุษย์นั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักและแรงกระแทก ทำให้สัตว์เลี้ยงเสี่ยงขาหักซ้ำ จึงเกิดโจทย์วิจัยในการพัฒนาวัสดุดามกระดูกสัตว์เล็กที่มีน้ำหนัก 5-7 กิโลกรัม โดย ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มีสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้ารับการรักษาวันละ 300-400 ตัว เป็นรายที่ต้องผ่าตัดวันละ 40 ตัว ในจำนวนนั้นต้องดามกระดูกวันละ 2-3 ตัว

“สำหรับสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากใช้วัสดุดามกระดูกสำหรับมนุษย์ได้ แต่สัตว์เลี้ยงขนาดเล็กยังไม่มีวัสดุที่เหมาะสม อีกทั้งวัสดุดามใบหน้ามนุษย์ที่นำมาประยุกต์ใช้กับสัตว์เลี้ยงยังมีราคาแพงประมาณ 5,000-6,000 บาท เจ้าของบางรายไม่สามารถจ่ายได้ จึงต้องพัฒนาวัสดุที่มีราคาถูกลงและมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับรับน้ำหนักสัตว์เลี้ยง” ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนกกล่าว

นอกจากปัญหาในการรักษากระดูกสัตว์เล็กแล้ว ทีมวิจัยยังได้รับถ่ายทอดพระกระรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านทาง ADTEC เมื่อปี 2553 ใจความว่า “ให้ทำงานวิจัยค้นคว้าพัฒนาวัสดุฝังในทางการแพทย์ สำหรับใช้ในมนุษย์และให้ทำวิจัยสำหรับใช้ในสัตว์ให้มาก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์” จากนั้นในปี 2554 ทีมวิจัยจึงเริ่มพัฒนาวัสดุดามกระดูกสำหรับสัตว์เล็ก

ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก บอกอีกว่าเป้าหมายของทีมวิจัยจะพัฒนาให้วัสดุดามกระดูกสัตว์เล็กมีราคาต่ำกว่าวัสดุนำเข้าอย่างน้อย 1 ใน 3 และหลังจากถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บริษัทไมโครสตาร์ส โดยการมอบสิทธิและนวัตกรรมการผลิตหมุดยึดแผ่นดามและแผ่นดามกระดูกสำหรับสัตว์เล็ก ทางโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็จะเป็นหนึ่งในลูกค้าสำคัญ และในฐานะนายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ฯ ยังจะส่งเสริมให้สถานรักษาพยาบาลสัตว์อื่นๆ หันมาใช้วัสดุที่ทีมวิจัยพัฒนา พร้อมทั้งให้การอบรมเทคนิคการผ่าตัดใส่อุปกรณ์ด้วย

ด้าน น.สพ.สิรันดร์ ถึกอ่ำ จากแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีประสบการณ์ผ่าตัดสัตว์มานับ 10,000 ตัว และเป็นหนึ่งในทีมวิจัย บอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงข้อดีที่สามารถพัฒนาวัสดุดามกระดูกสัตว์เล็กได้เองว่า แก้ปัญหาเรื่องไม่มีวัสดุที่เหมาะสมสำหรับสัตว์เล็ก และไม่เจอปัญหาเจ้าของสัตว์บ่นเรื่องราคาแพง รวมทั้งให้สัตว์ได้เข้าถึงการรักษา เพราะกรณีที่เจ้าของไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ก็จะเลือกใช้วิธีเข้าเฝือกแทน

น.สพ.สิรันดร์อธิบายอีกว่า ปกติเมื่อกระดูกหักแล้วจะเชื่อมประสานได้เอง แต่ช่วงรอยต่อของกระดูกที่สร้างขึ้นใหม่นั้นเปราะบางและรับน้ำหนักได้ไม่มาก การเสริมวัสดุดามจะช่วยรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้น ป้องกันการหักซ้ำ โดยจากการทดสอบพบว่าเมื่อสุนัขหนัก 5 กิโลกรัมกระโดดจะเกิดแรงกระแทกสะท้อนกลับมาถึง 20 กิโลกรัม ซึ่งกระดูกที่เพิ่งประสานไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้ กระดูกเสี่ยงหักซ้ำแล้วต้องผ่าตัดใหม่

ส่วน นายพร้อมพงศ์ ไชยกุล กรรมการ/กรรมการบริหาร/กรรมการบริหารความเสี่ยง/รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายการจัดการวัตถุดิบ) บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการับถ่ายทอดเทคโนโลยีครั้งนี้ว่า ปกติทางบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีห้องคลีนรูมที่สามารถต่อยอดสู่การผลิตเครื่องมือแพทย์ และทีมวัสดุศาสตร์ของบริษัทได้เห็นความน่าสนใจของวัสดุดามกระดูก ซึ่งอนาคตสามารถต่อยอดสู่วัสดึทางการแพทย์สำหรับมนุษย์ได้
ภาพตัวอย่างการดามกระดูกสุนัขขนาดเล็ก ด้วยวัสดุที่ทีมนักวิจัยไทยพัฒนาขึ้น ซึ่งวัสดุดามนั้นสามารถดัดแปลงรูปทรงตามรูปร่างกระดูกได้
ผศ.สพ.ญ.ดร.มนชนก (กลาง) และทีมวิจัยผู้ร่วมพัฒนาวัสดุดามกระดูกสัตว์เล็ก
พิธีมอบสิทธิแก่บริษัทสตาร์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์






กำลังโหลดความคิดเห็น