สทน.ใช้เทคนิคการวาวรังสีเอกซ์ ใช้ศึกษาทองโบราณ กรุวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ อยุธยา
ในโอกาสครบรอบ 666 ปีของกรุงศรีอยุธยา ราชธานีแห่งที่สองของไทย และร่วมฉลองการขึ้นทะเบียนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในฐานะมรดกโลกครบ 25 ปี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้จัดเสวนา ความรู้ใหม่จากการศึกษาเครื่องทองสมัยอยุธยา ซึ่งในโอกาสนี้นักวิจัยของ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้ร่วมเสนอผลงาน “การศึกษาทองกรุ วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะเบื้องต้น โดยวิธีการวาวรังสีเอกซ์”
งานวิจัยนี้จัดขึ้นเพื่อศึกษาลักษณะเฉพาะของทองโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา จากกรุวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นโบราณสถาน 2 แห่งสำคัญมีการมีการขุดพบเครื่องทองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเครื่องทองที่รอดพ้นจากการศูนย์เสียให้พม่าเมื่อไทยเราเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310
ดร.ศศิพันธ์ คะวีรัตน์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชำนาญการ จากกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาของ สทน. ได้เล่าถึงที่มาของโครงการวิจัยนี้ว่า ต้องการทราบว่าแหล่งที่มาของทอง ลักษณะ เพื่อเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ ด้านสังคม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ในสมัยโบราณ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้ใช้เทคนิค การวาวรังสีเอกซ์ (X-ray fluorescence) หรือเอกซ์อาร์เอฟ (XRF)
“การวาวรังสีเอกซ์สามารถวิเคราะห์ธาตุได้หลายธาตุ ที่หนักตั้งแต่ แม็กนีเซียม จนถึง ยูเรเนียม แต่อาจจะมีธาตุที่วิเคราะห์ไม่ได้อยู่ ไม่ถึง 20 ธาตุ จากทั้งหมด ร้อยกว่าธาตุ เราก็ใช้วิธีการกระตุ้นตัวอย่าง จะได้เป็นสเปคตรัม แล้วสเปคตรัมจะอ่านค่าออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ให้เราสามารถทราบได้เลย การใช้เทคนิคการวาวรังสีเอกซ์นี้ เป็นเทคนิคการตรวจวิเคราะห์โดยที่ไม่ต้องทำลายตัวอย่าง ทำให้ไม่เกิดความเสียหายแก่ทองที่นำมาศึกษาโบราณ และเทคนิคนี้ยังเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก” ดร.ศศิพันธ์กล่าว
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ นักวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างทองจากพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา จำนวน 12 ชิ้น ประกอบด้วยเครื่องทอง โบราณ 10 ชิ้น และตัวอย่างที่ทำจากวัสดุไม่ใช่ทองอีก 2 ชิ้น ตัวอย่างทองคำจากแหล่งโบราณคดีทางภาคใต้ 2 ชิ้น และได้นำทองรูปพรรณสมัยปัจจุบัน จำนวน 11 ชิ้น มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ด้วยเครื่องวิเคราะห์การวาวรังสีเอกซ์แบบพกพา (Portable XRF) วัดรังสีเอกซ์จากตัวอย่าง โดยใช้เวลาในการวัดตัวอย่างละ 60 วินาที วัดอย่างน้อยตัวอย่างละ 2 ตำแหน่ง แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ทางสถิติ
ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่าทองคำ จากกรุวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะมีความบริสุทธิ์อยู่ในช่วง 19 ถึง 23 K ยกเว้น 2 ชิ้นงานที่มีความบริสุทธิ์สูงถึงเกือบ 24 K ได้แก่ ผอบทองคำ และแผ่นตาลบัตรจำลอง ซึ่งทั้ง 2 ชิ้นนี้ประกอบอยู่ในเจดีย์ศรีสุริโยทัย สันนิษฐานว่า การที่ชิ้นงานดังกล่าวมีความบริสุทธิ์สูงเป็นพิเศษ น่าจะมาจากกระบวนการผลิตที่แตกต่างจากชิ้นอื่น ซึ่งเมื่อเปรียบกับทองในปัจจุบันมีการกระจายตัวของความบริสุทธิ์ตั้งแต่ 9 ถึง 24 K และมีส่วนผสมของดีบุก
ผลการศึกษาทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทองจากอยุธยานี้มีส่วนผสมของดีบุกมาได้อย่างไร เพราะดีบุกมาจากทางภาคใต้ คณะวิจัยจึงประสานขอตัวอย่างเครื่องทองโบราณที่มากจากทางภาคใต้ด้วย ซึ่งทองของภาคใต้จะมีดีบุกผสมอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับทองของอยุธยาแล้ว ยังมีองค์ประกอบของธาตุอื่นเหมือนเช่นเดียวกับที่เจอในอยุธยา แทบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างเดียวกันเลยก็ว่าได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าทองทั้งภาคใต้ที่ได้ตัวอย่างมากับทองที่อยุธยาอาจจะมาจากแหล่งเดียวกัน
การใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาทองในโลกนี้เริ่มมาราว 20 ปีที่แล้ว แต่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียงงานวิจัย ของ แอนนา เบนเน็ต นักวิทยาศาสตร์ ที่เป็นผู้ศึกษาทองโบราณที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นคนเดียวที่มีการศึกษาเรื่องทองโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากข้อมูลที่ได้ข้างต้น ดร.ศศิพันธ์และคณะวิจัยจะดำเนินการตรวจสอบและเก็บข้อมูลลักษณะของทองโบราณในพระนครศรีอยุธยา และแหล่งทองในประเทศไทยให้ได้มากขึ้น เพื่อให้เห็นถึงแนวทางในการวิเคราะห์เครื่องทองโบราณโดยไม่ทำลายชิ้นงาน เพื่อประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูลเครื่องทองโบราณของประเทศ ทำให้เข้าใจรูปแบบเทคโนโลยี การผลิตเครื่องทองสมัยโบราณ และสามารถสืบหาแหล่งที่มาของทองโบราณแล้วความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนได้ สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการจำแนกทองคำโบราณและทองคำ ที่ผลิตในปัจจุบันนี้ได้อีกด้วย