xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นคืนชีพวัว auroch ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 400 ปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพจำลองวัว Aurochs (Cr.DFoidl)
บรรพบุรุษของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณรู้จักเลี้ยงวัว และมีความผูกพันกับวัว จนถึงกับมีสำนวน คำพังเพย และสุภาษิตเกี่ยวกับวัวมากมาย เช่น
 
“ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” ซึ่งมีความหมายว่า เรื่องเก่ายังไม่ทันจะจบสิ้น ก็มีเรื่องใหม่ซ้อนขึ้นมา
“ซื้อวัวหน้านา” หมายความว่า เมื่อถึงเวลาทำนา ชาวนามักต้องการจะซื้อวัว ดังนั้นวัวจึงมีราคาแพง แต่ถ้าคอยให้พ้นเวลาทำนาไปก่อน ก็จะได้วัวราคาถูก
“เขียนเสือให้วัวกลัว” เป็นการเปรียบเทียบให้รู้ว่า ถ้าจะขู่ใครใดให้เกรงก็ต้องสำแดงสิ่งที่เขากลัวให้เขาเห็น เหมือนกับการให้วัวได้เห็นเสือ เพราะใครๆ ก็รู้ว่าวัวกลัวเสือ
“วัวแก่กินหญ้าอ่อน” หมายถึง ชายแก่ที่มีภรรยาสาว ในทำนองเดียวกับวัวแก่ที่มีฟันไม่แข็งแรง จึงชอบกินหญ้าอ่อนที่เคี้ยวง่าย
“วัวไม่กินหญ้าก็อย่าข่มเขา” หมายถึง อย่าบังคับให้ใครทำสิ่งที่เขาไม่ยินดีจะทำ
“วัวไม่มีหลัก ฟักไม่มีร้าน” หมายถึง คนที่ไม่มีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่ง คือเป็นคนจรจัด ในทำนองเดียวกับวัว ถ้าไม่มีการผูกไว้กับหลัก ก็จะตะเลิดทำนองเดียวกับฟักที่ต้องมีร้านให้เลื้อยเป็นที่เป็นทาง
“วัวพันหลัก” คือ คนที่ถูกกล่าวหาแล้วใช้คำแก้ตัวพูดย้อนไปวนมา เหมือนวัวที่ถูกผูกกับหลัก แล้วเดินวนไปรอบๆ จนในที่สุดเมื่อเชือกหมด ก็หนีไปไหนไม่ได้
“วัวใครเข้าคอกใคร” มีความหมายเดียวกับ ใครก็หวงของที่ตนมีและไม่ชอบให้ใครอื่นมาแย่ง ในทำนองว่าใครทำอะไรลงไป ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ทำ
“วัวสันหลังหวะ” หมายถึงคนที่ทำอะไรผิดพลาดแล้วมักรู้สึกระแวงว่า คนอื่นจะรู้ ดังนั้นเวลาได้ยินอะไรหรือเห็นอะไร มักแสดงอาการพิรุธ เหมือนวัวที่หลังมีแผลเหวอะหวะ เวลาเห็นอีกาบินผ่าน ก็กลัวว่าอีกาจะบินลงมาจิกแผล
“วัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน” หมายถึงคนโลภที่ต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างไม่รู้จักพอ
“วัวหายล้อมคอก” หมายถึงการทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่คิดป้องกันความล้มเหลวไว้ล่วงหน้า เมื่อเหตุร้ายบังเกิด ความเสียหายที่ตามมาจะรุนแรง จนคนที่รับผิดชอบจัดการแก้ไขไม่ทัน
“ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” มีความหมายว่า วัวที่มีรูปร่างลักษณะดี มักจะมีหางที่เป็นพู่เหมือนใบโพธิ์ ในทำนองเดียวกัน การจะรู้ว่าผู้หญิงจะเป็นคนดีหรือไม่ดี ให้ดูจากคนที่เป็นแม่ของเธอ
“ตีวัวกระทบคราด” หมายถึง การกระทำที่คนหนึ่ง แต่มุ่งหวังให้กระทบอีกคนหนึ่ง เพราะคราดที่ใช้กวาดหญ้าหรือขยะมักทำด้วยไม้ที่นำมาเรียงเป็นซี่ และมีด้ามยาวสำหรับให้วัวลากไป ดังนั้นเวลาชาวนาต้องการกวาดหญ้าก็จะตีวัว เพื่อกระตุ้นให้มันลากคราดไป โดยจะไม่ตีคราด เพราะคราดเป็นสิ่งไม่มีชีวิต ดังนั้นจึงตีวัวแทน
“วัวลืมตีน” คือคนที่ลืมชาติกำเนิดเดิมของตน เช่น เวลาร่ำรวยขึ้นมา มักไม่นึกว่าในอดีตตนเคยเป็นคนยากจนมาก่อน
“วัวเคยขา ม้าเคยขี่” หมายถึงการมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ทำนองรู้ใจไปหมดทุกเรื่อง เปรียบเหมือนคนกับวัวที่รู้ใจกัน เช่น เวลาคนขี่ขยับขาท่าใด วัวก็จะรู้ทันที โดยคนขี่ไม่ต้องออกปากสั่ง
“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” หมายถึง การที่พ่อแม่ทำโทษลูก เป็นการสั่งสอนให้หลาบจำ เพื่อให้ลูกจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี จึงต้องมีการลงโทษในบางครั้งบางคราว และนับเป็นการอบรมด้วยความรัก ด้านวัวก็ต้องถูกตี ถ้าวัวตัวนั้นเดินไปกินหญ้าในนาของคนอื่น เพื่อให้มันหลาบจำจะได้ไม่ทำเช่นนั้นอีก เหล่านี้คือสำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับวัว ที่นิยมใช้สอนใจและให้ข้อคิด

ไม่มีใครรู้ชัดว่า มนุษย์เริ่มเลี้ยงวัวตั้งแต่เมื่อใด ภาพวาดวัวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่บนผนังถ้ำ Lascaux ในฝรั่งเศสเป็นภาพของฝูงวัวป่าพันธุ์ auroch การวัดอายุของสีที่ศิลปินถ้ำใช้ในการวาดภาพแสดงให้เห็นว่า ในอดีตเมื่อประมาณ 17,000 ปีก่อน จิตรกรถ้ำคงได้เห็นฝูงวัว auroch จำนวนมากอาศัยอยู่ในป่าเอเชียกลาง และยุโรป จึงได้ล่าตัวมาฆ่า เพื่อบริโภคเนื้อ และนม ส่วนหนังได้ถูกนำไปทำเครื่องนุ่งห่ม

อีก 7,000 ปีต่อมา เมื่อมนุษย์รู้จักทำเกษตรกรรม ชาว Sumerian และ Assyrian ที่อาศัยในดินแดน Mesopotamia ของเอเชียกลางเริ่มรู้จักใช้วัวในการทำงานหนัก เช่น ลากเกวียน และไถนา การตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวัวจึงเกิดขึ้น จนชนหลายชาติพากันนับถือวัวเป็นเทพเจ้า ดังเช่น อารยธรรม Minoan บนเกาะ Crete ที่มีเทพ Minotaur ซึ่งมีตัวเป็นคนและหัวเป็นวัว เป็นต้น

เมื่อจักรพรรดิ Julius Caesar แห่งอาณาจักรโรมันทรงกรีฑาทัพบุกโจมตีชนชาว Gaul ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในฝรั่งเศสตอนใต้ นักประวัติศาสตร์ในสมัยนั้นได้บันทึกว่า ได้เห็นวัวป่าพันธุ์ auroch ที่มีรูปร่างเตี้ยกว่าช้างเล็กน้อย (เรื่องนี้ไม่จริง เพราะ auroch เตี้ยกว่าช้างมาก)

วันเวลาได้ล่วงเลยไปจนถึงยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้อุปกรณ์ผ่อนแรง การพึ่งพาอาศัยวัวในการทำเกษตรกรรมจึงเริ่มลดลงในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนา วัวยังเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อไป

ลุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวนาในฟาร์มแถบยุโรปตะวันออกยังมีการเลี้ยงวัว auroch อยู่บ้าง แต่จำนวนวัวได้ลดลงไปมากแล้ว เพราะถูกล่าและฆ่าโดยขุนนางชั้นสูง แม่ทัพทหาร และกษัตริย์เพื่อความบันเทิงและสนุกสนาน จนถึงปี 1627 วัว auroch ตัวสุดท้ายของโลกก็จบชีวิตลงในโปแลนด์

หลังจากนั้นไม่นานนักชีววิทยาชาวโปแลนด์คนหนึ่งชื่อ Felix Pawel Jarocki แห่งมหาวิทยาลัย Warsaw ได้เขียนบันทึกแสดงความประสงค์จะฟื้นคืนชีพวัวพันธุ์ auroch แต่ไม่มีใครรับฟังความคิดเห็นนี้ เพราะไม่รู้จะทำเช่นไร

จนกระทั่งปี 1920 นักชีววิทยาชาวเยอรมันหลายคนจาก Berlin และ Munich ได้คิดจะคืนชีพวัว auroch อย่างจริงจังจึงนำวัวสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีในเยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน มาผสมพันธุ์กัน เพื่อให้ได้วัวที่มีรูปร่างคล้าย auroch มากที่สุด เพราะรู้ว่ายีน (gene) ของ auroch ยังมีหลงเหลืออยู่บ้างในวัวปัจจุบันบางสายพันธุ์ จากข้อมูลลักษณะบางประการของ auroch ที่มีในบันทึกของนักชีววิทยาว่า วัวพันธุ์นี้มีรูปร่างแข็งแรง นิสัยดุร้าย ลีลาท่าเดินสง่า ขายาว และสูงตั้งแต่ 1.55-1.8 เมตร ในการวัดจากกีบเท้าถึงไหล่ น้ำหนักตัวประมาณ 1 ตัน มีเขาโค้งที่ยาวประมาณ 130 เซนติเมตร และฐานเขามีความกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร เขามีสีน้ำตาลอ่อน และปลายเขามีสีดำ กะโหลกมีขนาดใหญ่ หน้าผากมีขนยาวและหยิก ขนตามตัวเป็นสีน้ำตาลเข้ม จนถ้าดูเผินๆ จะดูดำ บริเวณหลังมีขนยาว และขนที่บริเวณปากมีสีน้ำตาลอ่อน

แม้ว่า auroch จะสูญพันธุ์ไปตั้งแต่เมื่อ 400 ปีก่อนก็ตาม แต่นักชีววิทยาปัจจุบันก็กำลังพยายามสร้าง auroch ขึ้นมาใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ความพยายามจะคืนชีพ auroch อย่างเป็นทางการได้เริ่มในปี 1991 ที่ห้องปฏิบัติการเมือง Bad Sassendorf ในเยอรมนี โครเอเชีย โปรตุเกส สเปน และโรมาเนีย โดยนักชีววิทยาได้นำวัวพันธุ์ Chianina ของอิตาลี ซึ่งเป็นวัวที่สูงที่สุดในโลกมาผสมกับวัวพันธุ์ Sayaguesa ของสเปน ซึ่งมีกะโหลกศีรษะยาว และขนที่ปากมีสีขาว แต่ต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีจึงจะรู้ผลว่า ลูกวัวที่ได้มีรูปลักษณ์ตามที่ต้องการหรือไม่ แม้วัวรุ่นลูกจะส่อแววว่ามีรูปลักษณ์ที่ต้องการ คือตามเอกลักษณ์ที่กล่าวมาแล้ว แต่มันก็อาจหมดไปในรุ่นหลาน เพราะเกิดการกลายพันธุ์ ด้านนักชีววิทยาฮังการีและเยอรมนีได้ทดลองผสมวัวพันธุ์ Heck กับวัวแอฟริกันพันธุ์ Watusi ซึ่งเป็นวัวที่มีเขาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และพบว่าได้ผลที่น่าพอใจ แต่ก็ต้องอดใจคอยติดตามผลอีกหลายชั่วอายุวัว

ด้านนักพันธุศาสตร์สัตว์แห่งมหาวิทยาลัย Wageningen ได้ถอดรหัสพันธุกรรมของวัวพันธุ์ต่างๆ และได้เปรียบเทียบ nucleotide polymorphism ซึ่งเป็น genetic marker ใน genome ของวัว auroch ที่ตายไปแล้วผลปรากฏว่า วัวอิตาเลียนพันธุ์ Maremmana และวัวสเปนพันธุ์ Sayaguesa มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับวัว auroch มากที่สุด

โครงการนี้ได้วางแผนนำ genome ของวัวพันธุ์ต่างๆ มาสร้างวัวที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงวัว auroch ให้มากที่สุดให้ได้ภายในเวลาอีก 10 ปี เพราะเชื่อว่า ข้อมูลพันธุศาสตร์จะชี้นำนักผสมพันธุ์วัวให้ประสบความสำเร็จ คือบรรลุเป้าหมาย การที่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องคอยให้วัวเติบโตมีอายุพอสมควร จึงจะรู้ชัดว่า วัวที่ผสมพันธุ์ใหม่มี DNA ของวัว auroch หรือไม่

ความจริงการพยายามจะสร้างสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ต้องการ โดยเฉพาะไดโนเสาร์ที่แม้จะสูญพันธุ์ไปกว่า 65 ล้านปีแล้วก็ตาม คนทุกคนก็ยังสนใจ ตลอดเวลาที่มีการพบฟอสซิลของมัน ไม่ว่าจะเป็นไข่ กระดูก หรือรอยเท้าของมัน ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น ตัว sloth ยักษ์ (Megalinyx jeffersonii) ช้าง mastodon นก moa แรดขน และเสือฟันดาบ ฯลฯ กลับแทบไม่มีใครโหยหา

สำหรับในกรณีของไดโนเสาร์นั้น เรารู้ว่า อุกกาบาต คือสาเหตุหลักที่ทำให้มันสูญพันธุ์ แต่ในกรณีสัตว์อื่นๆ ต้นเหตุคือมนุษย์ ที่ได้ฆ่ามันเป็นอาหาร ทำลายที่อยู่อาศัย และเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ จนทำให้มันไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ มาบัดนี้ มนุษย์กำลังหาหนทางสร้างสัตว์ที่สาบสูญพันธุ์ไปแล้วนี้ขึ้นใหม่ และในเวลาเดียวกันมนุษย์ก็ตระหนักรู้ว่า สภาพแวดล้อมของโลกได้เปลี่ยนไปมาก จากสภาพในอดีตที่สัตว์เหล่านี้เคยมีชีวิตอยู่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ถ้าจะมีการ clone ไดโนเสาร์ มนุษย์จะต้องสร้าง Jurassic Park ให้ไดโนเสาร์ได้อาศัยอยู่เพราะ ณ วันนี้เราได้สร้าง Pleistocene Park ให้ม้าโบราณพันธุ์พื้นเมือง Yakutian ได้อาศัยอยู่ใน Siberia และถนอมวัว musk ให้อาศัยอยู่ในแถบ Greenland อย่างไม่ให้สูญพันธุ์ ห้ามการล่าสุนัขป่าใน Yellowstone Park ของอเมริกา และในทำนองเดียวกันคือเราคงต้องบริหารจัดการป่าในยุโรปให้ดี เพื่อให้วัว auroch สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างสันติสุข เหมือนดังที่มันเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 400 ปีก่อน

ดังนั้นในขณะกำลังมีการสร้างวัว การบริหารจัดการป่าให้วัวอยู่ และการควบคุมศัตรูของวัวไม่ให้มาราวีก็เป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษย์ต้องดำเนินการไปด้วยกัน เพื่อต้อนรับ auroch ให้ได้มีชีวิตอยู่บนโลกได้อย่างยั่งยืนอีกคำรบหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติมจาก Once and Future Giants: What Ice Age Extinctions Tell Us About the Fate of Earth’s Largest Animals โดย Sharon Levy จัดพิมพ์โดย Oxford University Press ปี 2011






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น