ช่วงหน้าแล้งเป็นช่วงที่เกษตรกรขาดแคลนหญ้าสดสำหรับเลี้ยงโค แต่สำหรับ “ลุงจอมใจ” แห่งแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ไม่มีปัญหานี้ เพราะได้สูตรอาหารหมักราคาถูก แต่ขุนโคเนื้อให้ได้น้ำหนักตามเป้า แถมยังช่วยลดปัญหาหมอกควันจากการเผาวัสดุเหลื้อทิ้งทางการเกษตรได้อีกทาง
นายจอมใจ บุญเทียม เกษตรกรตัวอย่าง จาก ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า เลี้ยงโคขุนมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ลูกๆ เพิ่งจนเกิด เพราะอาชีพนี้สร้างรายได้เป็นอย่างดี และตอนนี้มีฟาร์มเลี้ยงโคขุนกว่า 100 ตัว
นอกจากประสบความสำเร็จในอาชีพเลี้ยงโคขุนแล้ว จอมใจยังเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ตัวเอง อย่างเมื่อเร็วๆ นี้เขายังเป็นวิทยากรชุมชนให้แก่ศูนย์เรียนรู้การจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ดูแลโดยเทศบาลตำบลท่าผา
ภายในศูนย์ดังกล่าวมีบ่อหมักอาหารโคขนาด 150 ตัน ซึ่งต่อยอดผลงานวิจัยพัฒนาอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช.ภาคเหนือ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สูตรอาหารโคหมักมีส่วนผสมเป็นเศษวัสดุทางการเกษตร รำกลาง กากน้ำตาล น้ำและลูกแป้งจุลินทรีย์สำหรับเป็นหัวเชื้อหมัก ซึ่งในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม มีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการปลูกข้าวโพดจำนวนมาก และวิธีกำจัดส่วนใหญ่จะเผาทิ้งจนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ ทางการจึงส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนเศษเหลือทิ้งเหล่านั้นเป็นอาหารหมักสำหรับโค ซึ่งนอกจากช่วยลดหมอกควันทางภาคเหนือแล้วยังช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายอาหารโคในช่วงหน้าแล้งที่ขาดแคลนหญ้าสดได้ด้วย
สำหรับวิธีทำอาหารหมักโคด้วยเปลือกข้าวโพดอย่างง่ายๆ คือ ใช้เปลืออกข้าวโพดแห้ง 100 กิโลกรัม ใส่ภาชนะที่มีฝาปิดหมักด้วยหัวเชื้อจากลูกแป้งจุลินทรีย์ 0.5 กิโลกรัม รำข้าวกลาง 1 กิโลกรัม และน้ำ 100 ลิตร แล้วทิ้งไว้นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นรดน้ำให้เปลือกข้าวโพดชุ่มน้ำ และผสมให้เข้ากัน ไล่อากาศออกและหยียบให้แน่น หมักทิ้งไว้ 21 วันจึงนำไปเลี้ยงโคได้
จอมใจเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่นำองค์ความรู้เรื่องการผลิตอาหารโคในรูปแบบหมักไปใช้เลี้ยงโคขุนกว่า 100 ตัวในฟาร์มของตัวเอง โดยใช้เศษซังข้าวโพด เปลือกข้าวโพด รวมถึงต้นข้าวโพดหลังเก็บฟักแล้วมาหมักเป็นอาหารให้กิน และผลิตได้มากถึงวันละ 15 ตัน ซึ่งการหมักอาหารนั้นทำให้โคกินซังข้าวโพดแห้งๆ ได้มากขึ้น จากเดิมโคตัวหนึ่งกินได้ไม่ถึง 10กิโลกรัม เพิ่มเป็น 20 กิโลกรัม และยังช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนหญ้าสดเลี้ยงโคในช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี
อาหารโคในรูปแบบหมักนี้เป็นองค์ความรู้จาก ดร.ขรรค์ชัย ดั้นเมฆ คณะเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเผยกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า อาหารหมักนี้สามารถใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ได้หลายอย่าง และการหมักจะช่วยเพิ่มความน่ากินได้มากขึ้น อาหารนุ่มขึ้น โคจึงกินได้มากขึ้น รวมถึงมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้นด้วย คล้ายๆ การหมักนมทำโยเกิร์ตที่เพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
นายสุริยะ ทองสา เกษตรกรจาก จ.พะเยา เป็นผู้เลี้ยงโคเนื้ออีกรายที่นำอาหารหมักไปใช้เลี้ยงโคเนื้อ โดยใช้ฟักทองตกเกรดซึ่งหาได้ง่ายในพื้นที่รวมกับเปลือกข้าวโพดแห้งด้วย เขาบอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า อาหารหมักช่วยลดค่าใช้อาหารสำเร็จรูปลงถึง 50% จากเดิมต้องให้อาหารสำเร็จรูปตัวละ 9 กิโลกรัมต่อวัน ลดเหลือตัวละ 1 กิโลกรัมต่อวัน
การเลี้ยงโคด้วยอาหารหมักจากเศษเปลือกข้าวโพดนี้ ดร.ขรรค์ชัยบอกว่าช่วยลดการเผาทิ้งลงได้มาก หากโค 1 ตัวกินอาหารหมักวัน 5 กิโลกรัม จะชวยลดการเผาเศษวัสดุจากการปลูกข้าวโพดได้ปีละ 2 ตัน
นายสุริยะยังช่วยยืนยันโดยบอกว่าเมื่อก่อนต้องซังข้าวโพดและเปลือกข้าวโพดเหล่านี้ไม่มีราคา ให้กันฟรีๆ แต่เมื่อมีความต้องการมากขึ้นตอนนี้เริ่มซื้อขายกันในราคาตันละ 300 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รับได้ เพราะได้อาหารเลี้ยงโคที่ให้คุณภาพใกล้เคียงโคขุนจากต่างประเทศ
ด้านนายวิเชียร จำปาดี รองนายกเทศมนตรีตำบลท่าผา ให้ข้อมูลว่า อ.แม่แจ่ม ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งอำเภอมากถึง 200,000 ไร่ และหลังเก็บเกี่ยวได้เผาเศษวัสดุที่เหลือจนกลายเป็นปัญหาหมอกควัน จึงมีความพยายามแก้ที่ต้นเหตุเพื่อลดการเผาและให้ อ.แม่แจ่ม เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องลดการเผา หรือ “แม่แจ่มโมเดล”
นอกจากมาตรการห้ามเผาในช่วงเวลาที่กำหนดคือ 20 ก.พ.– 20 เม.ย. แล้ว การส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุจากการปลูกข้าวโพดไปใช้ผลิตเป็นอาหารโคขุนยังมีส่วนช่วยลดการเผาได้ ซึ่งผลจากการดำเนินงาน นายวิเชียรเผยว่าจากเดิมเคยตรวจพบจุดฮอตสปอต (Hotspot) ที่บ่งบอกถึงตำแหน่งที่มีการเผากว่า 300 จุด เหลือเพียง 30 จุด
นายวิเชียรกล่าวอีกว่าการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชอย่างอื่นเป็นอีกวิธีช่วยลดการเผาลงได้ ซึ่งทางการได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกสับปะรด มะม่วงและมะขาม ทดแทนการปลูกข้าวโพด และคาดว่าปี 2560 เกษตรกรจะปลูกข้าวโพดกันน้อยลงเนื่องจากราคาตกต่ำด้วย