xs
xsm
sm
md
lg

พิษแมงมุมร้ายแรงถึงตาย แต่อาจช่วยชีวิตผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแมงมุมใยกรวยที่มหาวิทยาลัยควีนแลนด์ในบริสเบนเผยแพร่ออกมา ซึ่งทีมวิจัยได้สกัดเอาโปรตีนจากพิษแมงมุมที่มีฤทธิ์ร้ายแรงถึงตายนี้ไปศึกษาและพบว่ามีศักยภาพลดความเสียหายของสมองหลังเกิดอาการโรคหลอดเลือดทางสมองได้ (Bastian RAST / UNIVERSITY OF QUEENSLAND / AFP)
ความหวังผู้ป้วยโรคหลอดเลือดสมองเมื่อนักวิจัยจากออสเตรเลียพบว่า พิษจากแมงมุมที่มีฤทธิ์ร้ายแรงถึงชีวิตนั้นมีศักยภาพที่จะลดความเสียหายของสมองหลังเกิดอาการสโตรกได้

รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือสโตรกนั้นคร่าชีวิตประชากรโลกปีละ 6 ล้านคน และอีก 5 ล้านคนที่รอดชีวิตนั้นต้องอยู่ในสภาพทุพพลภาพตลอดชีวิต

ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland) และมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ในออสเตรเลีย ระบุว่าพิษแมงมุมนั้นเป็นแหล่งเหมาะสำหรับค้นหาโปรตีนเพื่อใช้ทางการแพทย์ เนื่องจากพิษเหล่านั้นพุ่งเป้าไปที่ระบบประสาทของแมลง

เกลนน์ คิง (Glenn King) หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า พวกเขาค้นหาว่าจะเจออะไรบ้างในพิษของแมงมุมใยกรวยซึ่งเป็นหนึ่งในพิษแมงมุมที่ร้ายแรงที่สุดในโลก และได้จับแมงมุม 3 ตัวจากเกาะเฟรเซอร์ (Fraser Island) บนชายฝั่งควีนแลนด์กลับมาที่ห้องปฏิบัติการเพื่อรีดพิษ

ทีมวิจัยใช้ไฟฟ้าชาร์จเข้าที่เขี้ยวพิษของแมงมุม ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบีบรัดตัวและพิษถูกบีบออกมา พวกเขาพบว่าโปรตีนเล็กๆ ชื่อ Hi1a เป็นโปรตีนที่กั้นช่องทางสื่อสารของไอออนตัววัดกรด (acid-sensing ion channels) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการทำลายของสมองหลังเกิดอาหารหลอดเลือดสมอง โดยคิงได้เผยเรื่องนี้หลังทีมวิจัยทดลองฉีดโปรตีนดังกล่าวที่สังเคราะห์ขึ้นให้หนูทดลอง

“เราเชื่อว่าเราได้พบวิธีลดผลกระทบจากการทำลายสมองหลังสโตรกได้เป็นครั้งแรก” คิงกล่าว

สำหรับการค้นพบนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซนส์ ( Proceedings of the National Academy of Sciences) หรือ PNAS

คิงบอกด้วยว่า โปรตีนขนาดเล็กนี้ให้ความหวังที่จะเป็นยารักษาได้ในอนาคต โดยสิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับโปรตีน Hi1a คือมีระดับการปกป้องนานถึง 8 ชั่วโมงหลังเกิดอาหารโรคหลอดเลือดทางสมองไปแล้ว ซึ่งเปิดโอกาสในการรักษาที่ยาวนานขึ้น

“ Hi1a ยังให้การปกป้องแกนสมองส่วนที่มักได้รับผกระทบมากที่สุดจากการขาดออกซิเจน ซึ่งโดยปกติจะฟื้นไม่ได้เนื่องจากการตายของเซลล์อย่างฉับพลันเนื่องจากอาการสโตรก” คิงกล่าว

ด้าน สตีเฟน เดวิส (Stephen Davis) ผู้อำนวยการศูนย์สมองโรงพยาบาลรอยัลเมลเบิร์น (Royal Melbourne Hospital Brain Centre) กล่าวว่า การทดลองระดับพรีคลีนิคนี้น่าตื่นเต้น โดยบอกว่าสารปกป้องประสาทที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพนี้จะจ่ายให้รถพยาบาลเพื่อฉีดให้แก่ผู้ป่วยก่อนไปถึงโรงพยาบาล และเพิ่มโอกาสผู้ป่วยสโตรกหลายๆ รายใหได้รับการรับรักษา

ก้าวต่อไปของงานวิจัยนี้คือการทดสอบว่าสารออกฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพนี้จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันเมื่อทดลองในมนุษย์ในการทดสอบระดับคลีนิคหรือไม่ ซึ่งคิงหวังว่าการทดสอบในมนุษย์นั้นน่าจะทำได้ภายในอีก 2 ปี
 ภาพแมงมุมใยกรวยที่มีพิษร้ายแรงแต่โปรตีนของพิษมีฤทธิ์บรรเทาความเสียหายของสมองหลังเกิดอาหารสโตรกได้ (Bastian RAST / UNIVERSITY OF QUEENSLAND / AFP)







กำลังโหลดความคิดเห็น