xs
xsm
sm
md
lg

อัจฉริยะนักวิทย์ชาวญี่ปุ่นกับรางวัลโนเบลที่ได้รับ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Yoshinori Ohsumi ( Credit Toru YAMANAKA / AFP)
เมื่อถึงเวลาที่เป็นเดือนตุลาคมของทุกปี คนญี่ปุ่นทั้งประเทศจะตั้งหน้าตั้งตาคอยฟังข่าวรางวัลโนเบลจาก Stockholm ว่า จะมีนักวิทยาศาสตร์ นักประพันธ์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักรณรงค์เพื่อสันติภาพชาวญี่ปุ่นคนใดได้รับรางวัลหรือไม่ และถ้ามีผู้คนทั้งประเทศก็จะพากันตื่นเต้น ยินดี และภาคภูมิใจในความสามารถของผู้ได้รางวัลจนต้องจัดงานเฉลิมฉลอง เปิดเวทีสัมภาษณ์ รวมถึงเผยแพร่ประวัติของเขาเหล่านั้นออกทางโทรทัศน์และสื่อมวลชนทุกรูปแบบ เป็นเวลานาน จนกระทั่งผู้รับรางวัลคนนั้นตาย

สถิติการพิชิตรางวัลอันทรงเกียรตินี้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1901-1999 มีคนญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลโนเบล ดังนี้ คือ
ในปี 1949Hideki Yukawa สาขาฟิสิกส์จากการเสนอทฤษฎีแรงนิวเคลียร์อย่างแข็งว่าเกิดจากการแลกเปลี่ยนอนุภาค meson ระหว่างอนุภาคนิวคลีออนในนิวเคลียส

ในปี 1965Sin-Itiro Tomonaga สาขาฟิสิกส์จากการเสนอทฤษฎีอันตรกริยาระหว่างแสงกับประจุไฟฟ้า (quantum electrodynamics QED)

ในปี 1968Yasunari Kawabata สาขาวรรณกรรม จากผลงานเขียนที่บรรยายความรู้สึกนึกคิดของชาวญี่ปุ่นได้อย่างถึงแก่น

ในปี 1973Leo Esaki สาขาฟิสิกส์ จากการพบปรากฏการณ์ทะลุทะลวงของอิเล็กตรอนในสารกึ่งตัวนำ

ในปี 1974Eisaku Sato สาขาสันติภาพ จากการเสนอกฎหมายบังคับไม่ให้ญี่ปุ่นผลิตอาวุธนิวเคลียร์

ในปี 1981Kenichi Fukui สาขาเคมี จากการเสนอทฤษฎี orbital ที่ใช้อธิบายการเกิดปฏิกิริยาเคมี

ในปี 1987Susumu Tonegawa สาขาแพทย์ศาสตร์จากการเสนอทฤษฎีที่อธิบายความหลากหลายของภูมิคุ้มกัน (antibody) ในร่างกายคน

ในปี 1994Kenzaburo Oe สาขาวรรณกรรม จากผลงานที่ได้สังเคราะห์โลกจินตนาการกับโลกจริง จนทำให้เห็นจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่นปัจจุบัน

เราจะเห็นได้ว่า ภายในช่วงเวลาศตวรรษแรกของการจัดตั้งรางวัลโนเบล มีชาวญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลเพียง 8 คน แต่ในเวลาต่อมาคือ ตั้งแต่ปี 2000-2016 จำนวนผู้พิชิตรางวัลโนเบลที่เป็นชาวญี่ปุ่นมีมากถึง 17 คน คิดแยกเป็นสาขาฟิสิกส์ 8คน สาขาเคมี 6 คน และสาขาแพทย์ศาสตร์ 3 คน และจากคนทั้ง 17 คนนั้น มีสองคนที่ได้โอนสัญชาติเป็นชาวอเมริกัน คือ Yoichiro Nambu กับ Shinji Nakamura ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ทั้ง 2 คน ดังนี้คือ

ในปี 2000Hideki Shirakawa สาขาเคมีจากผลงานการพบและพัฒนาพอลิเมอร์ที่นำกระแสไฟฟ้าได้

ในปี 2001 Ryori Noyori สาขาเคมีจากการเสนอทฤษฎีการเติมไฮโดรเจนที่ใช้เร่งปฏิกริยาโดยสมบัติซ้าย-ขวา (chirally catalysed hydrogenation reaction)

ในปี 2002Masatoshi Koshiba สาขาฟิสิกส์ จากผลงานการตรวจจับอนุภาคนิวตริโนจากอวกาศได้และKoichi Tanaka สาขาเคมี จากการพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์โครงสร้างของชีวโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่

ในปี 2008Yoichiro Nambu สาขาฟิสิกส์จากการเสนอทฤษฎีการแตกแยกของสมมาตรในฟิสิกส์, Makoto Kobayashi สาขาฟิสิกส์ จากการพัฒนาทฤษฎีการแตกแยกสมมาตร ที่นำไปสู่คำทำนายว่า ธรรมชาติมีควาร์ก 3 ตระกูลก่อนที่นักทดลองจะพบในเวลาต่อมา, Toshihide Maskawa จากผลงานที่ทำวิจัยร่วมกับ Makoto Kobayashiและ Osamu Shimomura สาขาเคมี จากการพบและพัฒนาโปรตีนเรืองแสงสีเขียว (green fluorescent protein GFP)

ในปี 2010Ei-ichi Negishi สาขาเคมี จากการสังเคราะห์สารอินทรีย์ที่ต้องอาศัยการกระตุ้น palladium เพื่อจับคู่ข้ามขั้ว
และ Akira Suzuki สาขาเคมี จากผลงานที่ได้ทำร่วมกับ Ei-ichi Negishi

ในปี 2012Shinya Yamanaka สาขาแพทย์ศาสตร์ จากการพบว่า สะเต็มเซลล์ที่เติบโตเต็มที่สามารถ
นำมาจัดโปรแกรมของยีนใหม่ให้เป็นเซลล์ที่ไม่โตเต็มที่จึงสามารถเติบโตเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้

ในปี 2014Isamu Akasaki สาขาฟิสิกส์ จากการประดิษฐ์หลอดไฟไดโอดที่เปล่งแสงสีน้ำเงิน ซึ่งเวลาใช้รวมกับไอโอดแสงอื่นสามารถให้แสงขาวที่สว่าง และประหยัดพลังงานได้มาก

Hiroshi Amano สาขาฟิสิกส์ จากผลงานที่ทำร่วมกับ Isamu Akasaki และShinji Nakamura จากผลงานที่ทำร่วมกับ Isamu Akasaki และ Hiroshi Amano

ในปี 2015Satoshi Omura สาขาแพทย์ศาสตร์ จากการพบวิธีรักษาบาดแผลที่เกิดจากปรสิตหนอนตัวกลม โดยใช้แบคทีเรียที่ผลิตสารยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์อื่น

และTakaaki Kajita สาขาฟิสิกส์ จากการพบว่า นิวตริโนมีมวล จึงสามารถเปลี่ยนชนิดได้

ในปี 2016Yoshinori Ohsumi สาขาแพทย์ศาสตร์จากผลงานการพบกลไกที่เซลล์ใช้ lysosome หรือ vacuole ในการจับองค์ประกอบที่เสีย เพื่อนำไปย่อยสลายแล้วใช้ต่อไป (autophagy)

ประสบการณ์ที่ผู้ได้รับรางวัล คือ คนทั้งประเทศพากันชื่นชมและยกย่องดุจวีรบุรุษในสงคราม นักเรียนทุกคนอยากรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว อยากฟังความคิดเห็นรวมถึงอยากพบปะสนทนาด้วย จนต้องออกไปบรรยาย และปรากฏตัวในโทรทัศน์ บางคนยังได้รับเชิญให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง และในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ทุกคนก็บอกว่า ข้อดีประการหนึ่งของการได้รับรางวัลโนเบล คือ ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ในสาขานั้นได้รับงบประมาณวิจัยจากรัฐบาลเพิ่ม ส่วนนิสิตที่ไม่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์วิชานั้นก็กลับมาสนใจและต้องการเรียนมากขึ้น หลายคนประสงค์จะเป็นนักวิจัยอาชีพ

สำหรับการตอบรับคำเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์นั้น Masatoshi Koshiba แห่งมหาวิทยาลัย Tokyo (รางวัลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2001) ได้เอ่ยถึงการออกโทรทัศน์ในวันปีใหม่ 2003 ร่วมกับภรรยา และถูกสัมภาษณ์ถามเรื่องส่วนตัวมากมาย เช่น อาหารโปรด งานอดิเรก กีฬาและหนังสือที่ชอบอ่าน ฯลฯ และแทบไม่มีใครสนใจจะรู้เรื่องอนุภาค neutrino จากอวกาศนอกโลกที่ Koshiba พบเลย

ด้าน Koichi Tanaka (รางวัลโนเบลเคมี ปี 2002 จากผลงานการพัฒนาเทคนิค mass-spectroscopy เพื่อศึกษาชีวโมเลกุลขนาดใหญ่) ก็ต้องตอบคำถามเช่นว่า กินอะไรถึงเก่ง เคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงนิสัยส่วนตัว เพื่อให้หญิงญี่ปุ่นที่ต้องการมีสามีเป็นนักวิทย์รางวัลโนเบลใช้เป็นเกณฑ์ในการแต่งงานด้วย การสัมภาษณ์ทำนองนี้ได้ทำให้คนหลายคนรู้สึกว่า นักวิทย์กำลังเป็นตัวตลก และนี่เป็นผลที่เกิดขึ้นในทางลบ

ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลหลายคนไม่เคยต้องการจะเปิดเผยเรื่องส่วนตัวจนมากเกินไป อีกทั้งไม่ประสงค์จะให้สังคมหันมาสนใจตนมาก เพราะข้อมูลส่วนตัวอาจนำมาซึ่งผลลบ เช่น เมื่อ Ryori Noyori (ผู้พิชิตรางวัลโนเบลเคมีปี 2001) บอกผู้สื่อข่าวว่าเขาชอบดื่มสาเก (ชนิดที่มีราคาถูก) เมื่อคำบอกเล่านี้ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ Noyori ถึงกับอายจนหน้าแดง หรือเมื่อ Tanaka ปรารภว่าชอบสาหร่ายทะเล konbu ปรากฏว่า เมื่อสิ้นสุดการสัมภาษณ์ ที่ประตูหน้าบ้านของเขาก็มีห่อสาหร่าย konbu มาวางไว้ให้ในทันที แต่ Tanaka ปฏิเสธการรับของขวัญชิ้นนั้น เพราะเกรงว่าบริษัทจะใช้เขาเป็นผู้โฆษณาของสาหร่ายแบรนด์นั้น

แต่สำหรับ Hideki Shirakawa (รางวัลเคมีปี 2000 จากการพบพอลิเมอร์ที่สามารถนำไฟฟ้าได้) เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการที่ปรึกษานโยบายวิทยาศาสตร์ของรัฐบาล จึงได้มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดือนละครั้ง ซึ่งนับว่าเกินความคาดหวังของ Shirakawa มาก
Rioji Noyori (Cr.Користувач:Brunei )
สำหรับผลด้านดีที่เกิดขึ้นกับ Koichi Tanaka คือเขาได้ห้องปฏิบัติการ Koichi Tanaka Mass Spectrometry Research เป็นของตนเอง และได้งบประมาณทำวิจัยอย่างเพียงพอ แต่เวลา Tanaka พูดถึงห้องปฏิบัติการ เขาจะตัดคำว่า Koichi Tanaka ออก เพราะเขาเป็นคนถ่อมตัวนั่นเอง

มีคำถามอีกหนึ่งคำถามที่เป็นที่นิยมคือ หลังจากที่ได้รับรางวัลคนเหล่านี้ต้องการอะไรเพิ่มอีกในชีวิต ซึ่งทุกคนก็มักตอบว่า ต้องการให้เยาวชน และคนหนุ่มสาวของญี่ปุ่นเรียนวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น และต้องการให้ญี่ปุ่นพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์

โดยเฉพาะ Koshiba เขาได้มอบเงินรางวัลโนเบล 40 ล้านเยน ที่ได้รับเป็นกองทุนพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ และจัดซื้ออุปกรณ์การสอนวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้านบริษัท Hanamatsu Photonics ซึ่งผลิตหลอด photomultiplier ที่ Koshiba ใช้ตรวจจับอนุภาค neutrino จากนอกโลกก็ได้มอบเงินทุนสมทบอีก 60 ล้านเยน เพื่อให้บรรลุความความประสงค์นี้ด้วย

แต่การได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงแหล่งเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้คนญี่ปุ่นสามารถพิชิตรางวัลโนเบลได้มาก ดังนั้นการสนับสนุนจากภาคเอกชนจึงเป็นเรื่องจำเป็นนี้ เมื่อครั้งที่ Shuji Nakamura ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 2014 จากการประดิษฐ์หลอด LED นั้น เขาได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากบริษัท Nichia

สำหรับในอนาคตคงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า รางวัลโนเบลที่จะมอบให้คนญี่ปุ่นคนนั้นชื่ออะไร และด้วยผลงานอะไร แต่ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็จะพบว่า รางวัลโนเบลมีแนวโน้มจะให้แก่ผลงานประยุกต์ที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างไกล แต่อาจมีการมอบรางวัลแก่ผลงานทฤษฎีบ้าง เช่น รางวัลที่มอบให้ Nambu จากผลงานการเสนอทฤษฎี Symmetry Breaking และ Maskawa กับ Kobayashi จากการเสนอทฤษฎีการอุบัติของ quark 6 ชนิดในธรรมชาติ

ณ วันนี้ จากประชากรญี่ปุ่น 100,000 คนมีนักวิทยาศาสตร์ 70.2 คน และเมื่อ 9 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นทำงานปีละ 1142 ชั่วโมง แต่อีก 5 ปีต่อมา เวลาทำงานได้ลดลงเหลือ 900 ชั่วโมงต่อปี งานตีพิมพ์จากญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีก่อน คิดเป็น 7.9% ของงานตีพิมพ์ทั่วโลก แต่ในปี 2014 ผลงานตีพิมพ์ได้ลดลงเหลือ 5.8%

สถิติที่ลดลงนี้ได้สร้างความกังวลใจให้แก่วงการวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นมาก แต่ทุกคนก็ยังหวังว่าจะมีชาวญี่ปุ่นที่พิชิตรางวัลโนเบลได้มากถึง 50 คน ในช่วงปี 2000-2099 นี้
สำหรับสถิติของผู้ได้รับรางวัลโนเบลมีทั้งสิ้น 860 คน ในสาขาเคมี ฟิสิกส์ แพทย์ศาสตร์ และสรีรวิทยา วรรณกรรม สันติภาพ และเศรษฐศาสตร์ จาก 76 ประเทศ โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุดถึง 363 คน และญี่ปุ่นเป็นประเทศในเอเชียที่มีคนได้รับรางวัลมากที่สุดคือ 25 คน

ในการอธิบายเหตุผลว่า เหตุใดจำนวนผู้ได้รับรางวัลจึง “น้อย” Satoshi Omura ซึ่งได้รับรางวัลด้านแพทย์ศาสตร์ประจำปี 2015 ได้ให้เหตุผลว่า รางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์จะมอบให้แก่ผู้ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมทางปัญญาหรือทางเทคโนโลยี แต่นโยบายการวิจัยของญี่ปุ่นเน้นการให้งานวิจัยแก่คนที่ทำวิจัยให้ผลตอบแทนเร็ว และมีความเสี่ยงต่ำ (คือได้ผลแน่ๆ เพราะทฤษฎีต่างๆ มีอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนตัวแปรทำให้ดูหลากหลาย) การให้ทุนวิจัยแก่โครงการที่ต้องใช้เวลานานจึงเกิดขึ้นได้ยาก และเมื่องานที่เป็นงานบุกเบิกที่สำคัญมักต้องการเวลา ดังนั้น หน่วยสนับสนุนการวิจัยจึงต้องให้ความสำคัญกับงานประเภทนี้มากขึ้น

ในส่วนของ Omura ซึ่งเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Kitasato นั้น ท่านได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ก่อนได้รับรางวัลโนเบล ท่านเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้พบยา ivermectin ที่ใช้ฆ่าปรสิต ขณะทำงานกับบริษัท Merck & Co ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเภสัชภัณฑ์ที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และได้ทดลองใช้กับสัตว์จนได้ผลดี จากนั้นก็พัฒนาต่อเพื่อใช้กับคน เมื่อทำได้สำเร็จ ยาของ Omura สามารถช่วยชีวิตคนได้กว่า 200 ล้านคน

ประเด็นที่ Omura แนะคนรุ่นหลังคือ การหายาที่เหมาะกับคนเป็นเรื่องยาก เพราะมีปัญหาเรื่องจริยธรรม ตนจึงทำงานกับบริษัท Merck ก่อน เพื่อหาประสบการณ์
แต่ Omura มิได้ทำงานวิจัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขายังเป็นนักบริหารจัดการธุรกิจด้วย เพราะเมื่อสถาบัน Kitasato ที่เขาทำงานอยู่ล้มละลาย Omura ได้เป็นนายหน้าช่วยจัดการขายที่ดินที่สถาบันตั้งอยู่ให้แก่รัฐบาล และยังทุ่มเทชีวิตเพื่อสอนหนังสือด้วย ห้องปฏิบัติการของ Omura สร้างนิสิตปริญญาเอกได้มากกว่า 120 คนแล้ว และยังมีเวลาเหลือพอที่จะช่วยพัฒนาสังคมโดยช่วยจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ให้เมือง Yamanashi ด้วย

แม้ Omura จะไม่ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Tokyo ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ แต่ Omura ก็รู้สึกดี เพราะคิดว่าถ้าเข้าได้ เขาคงเรียนสู้คนเก่งมากๆ ไม่ได้ และอาจสูญเสียความทะเยอทะยาน จึงไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Yamanashi ซึ่งมีขนาดเล็ก และได้รับงบประมาณ ประมาณ 5% ของมหาวิทยาลัย Tokyo เมื่อต้องการเงินวิจัย Omura ได้พยายามหาเงินเอง โดยไปทำธุรกิจกับบริษัทยา และเมื่อพูดถึงงบวิจัย Omura คิดว่า บางสถาบัน บางมหาวิทยาลัย และนักวิจัยบางคนได้งบประมาณมามากจนใช้งบไม่หมด คนเหล่านี้น่าจะคืนเงินไปให้รัฐบาลใช้ในการพัฒนาครูระดับประถมและมัธยม รวมถึงมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ญี่ปุ่นมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมากขึ้น ในส่วนของ Omura เอง เขาได้มอบเงินรางวัลโนเบลที่เขาได้รับเป็นกองทุนพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น

อ่านเพิ่มเติมจาก The Politics of Excellence: Behind the Nobel Prize in Science โดย Robert M. Friedman จัดพิมพ์โดย Henry Holt and Company ปี 2001






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น