xs
xsm
sm
md
lg

นาซาคอนเฟิร์ม “เชื้อเพลิงชีวภาพ” ช่วยเครื่องบินเจ็ทลดมลพิษ 70%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินเจ็ทดีซี-8 ขณะบินทดสอบโดยใช้เชื้อเพลิงชีวภาพครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินปกติ (NASA/SSAI Edward Winstead)
นาซาเผยผลการศึกษาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบินเจ็ท ช่วยลดการปลดปล่อยอนุภาคจากไอเสียที่พ่นออกมาได้มาก 50-70% พร้อมสรุปว่า เป็นสัญญาณที่ดีทั้งต่อธุรกิจของสายการบิน และสิ่งแวดล้อมของโลก

การศึกษาดังกล่าวเป็นผลจากโครงการความร่วมมือวิจัยระดับนานาชาติ ที่นำโดยองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และองค์จากเยอรมนีและแคนาดา ซึ่งผลการศึกษาได้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงวารสารเนเจอร์ (Nature)

เครื่องบินเจ็ทซึ่งเติมเชื้อเพลิงชีวภาพได้บินทดสอบใกล้ๆ ศูนย์วิจัยการบินอาร์มสตรอง (Armstrong Flight Research Center) ของนาซา ซึ่งตั้งอยู่ในเอ็ดเวิร์ด แคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2013 และปี 2014

ข้อมูลจากการบินทดสอบดังกล่าวได้รับการเก็บบันทึก เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่มีผลต่อสมรรถนภาพของเครื่องยนต์ รวมถึงการปลดปล่อยมลพิษและการสร้างคอนเทรล (Contrail) ที่ระดับความสูงเดียวกับสายการบินพาณิชย์

คอนเทรลนั้นผลิตขึ้นจากเครื่องยนต์ที่ร้อนจัดของเครื่องบินพ่นออกมาผสมกับอากาศเย็น ซึ่งมักอยู่บนเส้นทางบินที่ระดับความสูงจากพื้นโลกหลายไมล์ และส่วนประกอบหลักๆ ของคอนเทรลคือน้ำที่อยู่ในรูปผลึกน้ำแข็ง

นักวิจัยให้ความสนใจต่อคอนเทรลที่คงอยู่นาน เพราะคอนเทรลเหล่าสามารถสร้างเมฆที่คงอยู่ได้นานและบางครั้งยังครอบคลุมพื้นที่กว้าง และปกติเมฆเหล่านั้นไม่ได้ก่อตัวขึ้นในชั้นบรรยากาศ อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก

บรูซ แอนเดอร์สัน (Bruce Anderson) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการแอคเซส (ACCESS) ซึ่งเป็นโครงการศึกษาผลกระทบจากการพ่นไอเสียของเครื่องบินเจ็ทที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ จากศูนย์วิจัยแลงลีย์ (Langley Research Center) ของนาซาในแฮมป์ตัน เวอร์จิเนีย กล่าวว่าการพ่นเขม่าของเครื่องบินนั้นเป็นปัจจัยหลักในการสร้างคุณสมบัติของคอนเทรลและการก่อตัวของคอนเทรล

จากการศึกษาพบว่า เที่ยวบินในโครงการแอคเซสที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพนั้นปลดปล่อยนุภาค (เขม่า) ลดลง ซึ่งแอนเดอร์สันกล่าวว่า การลดลงนี้ชี้ว่าการควบแน่นของผลึกน้ำแข็งในคอนเทรลนั้นลดลงด้วย นั่นหมายถึงการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย

นาซาระบุว่า การลดลงนี้มีความสำคัญเพราะคอนเทรลและเมฆซีร์รัส (cirrus cloud) ที่ก่อตัวรอบๆ คอนเทรลนั้น มีผลกระทบใหญ่หลวงต่อบรรยากาศโลก มากกว่าการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินนับแต่การขึ้นบินครั้งแรกของ 2 พี่น้องตระกูลไรท์ (Wright brothers) เสียอีก

การทดสอบการบินด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพนี้ เครื่องบินเจ็ทดีซี-8 (DC-8) ของนาซาบินที่ความสูง 40,000 ฟุต โดยใช้เชื้อเพลิงผสมระหว่างเชื้อเพลิงเครื่องบินทั่วไปครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกของไฮโดรเอสเตอร์ที่ผ่านกระบวนการและกรดไขมันที่ผลิตจากพืชน้ำมันคาเมไลนา (camelina)

ระหว่างเครื่องบินทดสอบขับเคลื่อนนั้นมีเครื่องบินวิจัยอีก 3 ลำ บินตามหลังเครื่องบินเจ็ทดีซี-8 ที่ระยะห่างตั้งแต่ 300 ฟุต ถึง 20 ไมล์ เพื่อวัดการปลดปล่อยและศึกษาการก่อคอนเทรล จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน

เครื่องบิน 3 ลำที่ตามหลังมีเครื่องบินเจ็ทเอชยู-25ซีการ์เดียน (HU-25C Guardian) ของนาซาที่อยู่ในแลงลีย์ เครื่องบินเจ็ทฟอลคอน 20-อี5 (Falcon 20-E5 jet) ของศูนย์การบินอวกาศเยอรมัน (German Aerospace Center: DLR) และเครื่องบินเจ็ทซีที-133 (CT-133) ของสภาวิจัยแห่งชาติแคนาดา (National Research Council of Canada)

นักวิจัยยังวางแผนที่จะศึกษาโครงการนี้ต่อเพื่อทำความเข้าใจและสาธิตคุณประโยชน์จากการทดแทนเชื้อเพลิงเครื่องบินในปัจจุบันด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ ส่วนเป้าหมายของนาซานั้นจะสาธิตการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบินซูเปอร์โซนิกเอกซ์-เพลน (X-plane) ต่อไป
เครื่องบินอีก 3 ลำที่บินตามหลังเครื่องบินเจ็ทดีซี-8 ที่เติมเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเครื่องบินเจ็ทเอชยู-25ซีการ์เดียน อยู่ด้านหน้าสุดของภาพ และอยู่ห่างจากเครื่องบินเชื้อเพลิงชีวภาพ 250 เมตร ( National Research Council of Canada)






กำลังโหลดความคิดเห็น