สกว.ทำเมนูดูแลเข่า–พัฒนาแอปฯ ฟื้นฟูผู้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้านเมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ผู้สูงวัยอาจเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหกล้มกระดูกหัก แนะให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้กระดูกพรุนเร็ว โดยเฉพาะการดูแลข้อเข่า พร้อมออกแบบ “เมนูดูแลเข่าและบันทึกรัก (สุขภาพ) เข่า เพื่อเป็นคู่มือให้ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมกลับมาเดินได้เร็วขึ้น และพัฒนาแอพร่วมกับแพทย์จากวชิรพยาบาล
ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และหัวหน้าหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ จากสถิติพบว่าผู้มีอายุมากกว่า 80 ปีที่ประสบอุบัติเหตุหกล้มและกระดูกต้นขาหักมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นผลจากกระดูกที่หักโดยตรง เช่น เสียเลือดมาก หรือศีรษะกระแทกพื้นหรือของแข็งๆ และจากภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา เช่น การติดเชื้อในปอดเนื่องจากนอนติดเตียงตลอดชีวิต หรือการหกล้มซ้ำจนเกิดอุบัติเหตุรุนแรง และอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น การป่วยเป็นโรคเรื้อรัง และเพศ ซึ่งผู้ชายมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง
“ผู้สูงอายุและคนใกล้ชิดจึงต้องเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของโรคกระดูกพรุนและความเสี่ยงต่อการหกล้มของผู้สูงอายุตั้งแต่ต้น ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปกว่าร้อยละ 20–30 มีความหนาแน่นของกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วจนเกิดโรคกระดูกพรุน นำไปสู่การแตกหักของเส้นใยกระดูกในที่สุด ทางออกคือต้องลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือการรักษาหรือควบคุมโรคประจำตัวที่ทำลายกระดูก เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความเครียด รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า ‘ไมโอไคน์’ ไปกระตุ้นการสะสมแคลเซียมที่กระดูกและลดการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก อีกทั้งแรงที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อและแรงกระทบกระแทกระหว่างการออกกำลังกาย เช่น เดินหรือวิ่งช้าๆ ที่ไม่รู้สึกเจ็บเข่า รำมวยจีน ขี่จักรยาน เต้นรำ จะช่วยกระตุ้นให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานเพิ่มขึ้นด้วย” ศ.ดร.นพ.นรัตถพลกล่าว
ส่วนการหกล้มของผู้สูงอายุนั้น ศ.ดร.นพ.นรัตถพลระบุว่ายังเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณแผ่นหลังและขา ตลอดจนข้อต่อต่างๆ โดยตรง ทั้งนี้มีงานวิจัยยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยตลอดระยะเวลาการใช้งานข้อเข่านับสิบปีแทบไม่ได้รับการซ่อมแซม หากใช้ข้อเข่าอย่างไม่ระมัดระวัง เช่น เล่นกีฬาที่เกิดแรงกระแทกบริเวณเข่ามากๆ การเกิดอุบัติเหตุซ้ำๆ บริเวณข้อเข่า และน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ยิ่งทำให้กระดูกอ่อนของข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การทรงตัวไม่ดี กล้ามเนื้ออ่อนแอลงเนื่องจากเดินไม่สะดวก ไม่ค่อยอยากเดินหรือออกกำลังกาย
ศ.ดร.นพ.นรัตถพลเปิดเผยผลงานวิจัยภายใต้ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย สกว. และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งยืนยันว่าการอักเสบเรื้อรังบริเวณข้อเข่าจะทำให้มีการสร้างสารเคมี ‘ไซโตไคน์’ เข้าไปในกระแสเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งจะยิ่งทำให้เซลล์สลายกระดูกทำงานเพิ่มขึ้น และส่งผลให้กระดูกที่พรุนอยู่แล้วรุนแรงมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การอักเสบของข้อต่อส่งผลเสียต่อกระดูกได้มากเช่นกัน โดยทั่วไปข้อเข่าเสื่อมพบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เมื่อกระดูกอ่อนบริเวณข้อถูกทำลายจนเนื้อกระดูกสองชิ้นเสียดสีกัน ข้อเข่าผิดรูปไปมาก ไม่สามารถลงน้ำหนัก เดินลำบาก หรือมีอาการเจ็บปวดจนไม่สามารถบรรเทาด้วยยา ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หลังการผ่าตัดต้องทำกายภาพบำบัด ฝึกลงน้ำหนักและฝึกเดินเพื่อให้กลับมาเดินได้รวดเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ระยะพักฟื้นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และถูกท่า ดังนั้นผู้ป่วยตลอดจนผู้ดูแลต้องมีความเข้าใจเรื่องท่าออกกำลังกายที่ได้ผลดีและไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณที่ผ่าตัด ความถี่ของการออกกำลังกาย และการประเมินประสิทธิภาพของการออกกำลังกายเบื้องต้น นอกจากนี้หลายคนไม่จดบันทึกหรือทำตารางการออกกำลังกาย ทำให้เกิดช่องว่างในการสื่อสารกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
ศ.ดร.นพ.นรัตถพลจึงออกแบบ “เมนูดูแลเข่าและบันทึกรัก (สุขภาพ) เข่า” ขึ้น ร่วมกับ รศ. นพ.สาธิต เที่ยงวิทยาพร คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และนางสาวนันท์นภัส คังคะโน เพื่อเป็นคู่มือให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้กลับมาเดินได้เร็วขึ้น กล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้น และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน
“จากการทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัครที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม พบว่าเมนูดูแลเข่าฯ ทำให้อาสาสมัครสามารถฟื้นฟูสุขภาพเข่าได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าการฟื้นฟูแบบทั่วไป ตัวแปรชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ องศาการเคลื่อนไหว และคะแนนที่ใช้ชี้วัดความสามารถของผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งบ่งชี้ว่ามีความสามารถในการยืน เดิน ทำกิจกรรมทั่วไป และกิจกรรมขั้นสูง เช่น เดินถือของ เดินขึ้นบันได หรือย่อเข่าได้ดีกว่าผู้ที่ได้รับการฟื้นฟูแบบทั่วไป”
อีกทั้งยังพบว่าอาสาสมัคร มีความวิตกกังวลในการทำกิจกรรมน้อยลง ทำให้อาสาสมัครร่วมมือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามที่ระบุไว้ในเมนูดูแลเข่าฯ นอกจากนี้เมนูดังกล่าวยังมีวิธีการออกกำลังกายมาตรฐานที่จะช่วยฟื้นฟูกำลังของขา พร้อมรูปประกอบ รวมทั้งตารางให้ผู้ใช้งานจดบันทึกความถี่ของการออกกำลังกาย และบันทึกที่ช่วยการติดตามของแพทย์ โดยมีท่าทาง ความถี่ ระยะเวลา และความหนักของการออกกำลังกายได้รับการปรับให้เหมาะสมกับระยะพักฟื้น
ตอนนี้เมนูดูแลเข่าฯ ได้รับหนังสือรับรองลิขสิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังพัฒนาไปเป็นแอปพลิเคชั่นร่วมกับคณะวิจัยของ รศ.นพ.สาธิตต่อไป