นับเป็นการค้นพบที่น่าทึ่งเดียวเมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่า “นีแอนเดอร์ทัล” มนุษย์ดึกดำบรรพ์อีกสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วนั้น รู้จักใช้สมุนไพรที่ผลิตยาแก้ปวดและฆ่าเชื้อรักษาอาการปวดฟันมานานเกือบ 50,000 ปีแล้ว สมุนไพรดังกล่าวผลิตตัวยาเดียวกับ “แอสไพริน” ที่มนุษย์ยุคใหม่เพิ่งผลิตได้
นักวิจัยได้วิเคราะห์ฟันของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) วัยหนุ่มที่มีอาการปวดฟันจนเป็นหนอง และพบร่องรอยว่าหนุ่มดึกดำบรรพ์ซึ่งอาศัยอยู่ในเอลซีดรอนของสเปนในปัจจุบันนั้น ได้กินเชื้อ “เพนิซิลเลียม” (Penicillium) ที่เป็นยาปฏิชีวนะ และเคี้ยวชิ้นส่วนของต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีกรดซาลิไซลิค (salicylic acid) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ของยาแอสไพรินในปัจจุบัน
งานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์นี้ระบุถึงฟอสซิลกรามของมนุษย์วัยหนุ่มที่มีโพรงหนองอยู่ และคราบแบคทีเรียบนผิวฟันยังมีร่องรอยของปรสิตทางเดินอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคท้องเฉียบพลัน ซึ่งจากรายงานของเอเอฟพีนั้นทีมวิจัยได้ระบุลงวารสารวิชาการว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลคนนี้มีอาการเจ็บป่วยอย่างชัดเจน
อลัน คูเปอร์ (Alan Cooper) จากศูนย์ดีเอ็นเอดึกดำบรรพ์แห่งออสเตรเลีย (Australian Centre for Ancient DNA: ACAD) ของมหาวิทยาลัยอะดีเลด (University of Adelaide) ผู้ร่วมวิจัยกล่าวถึงหลักฐานที่พบว่า นีแอนเดอร์ทัลได้แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ค่อนข้างดีเกี่ยวกับพืชเป็นยา และมีความรู้ดีเกี่ยวกับคุณสมบัติป้องกันการติดเชื้อและบรรเทาปวด อีกทั้งหลักฐานที่เห็นยังแสดงว่าเป็นการรักษาทางยาด้วยตัวเอง
การค้นพบครั้งนี้คูเปอร์บอกว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งอย่างชัดเจนต่อมุมมองของมนุษย์ยุคใหม่ที่มีต่อญาติดึกดำบรรพ์ และการศึกษาครั้งนี้ยังเป็นการเปลี่ยนมุมมองใหม่ที่เรามีต่อญาติของมนุษย์ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว ว่าเป็นมนุษย์กะโหลกหนาและสมองช้า ไปสู่มุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น
งานวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ได้เริ่มร่างภาพใหม่ของนีแอนเดอร์ทัลให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความคิดซับซ้อนขึ้น เป็นมนุษย์ผู้สร้างศิลปะในถ้ำ ดูแลผู้สูงวัย ฝังสมาชิกที่เสียชีวิต และอาจจะเป็นช่างผลิตเครื่องประดับกลุ่มแรกด้วย แม้ว่าพวกเขาอาจจะเป็นมนุษย์กินคนด้วยก็ตาม
เมื่อปี 2012 มีงานวิจัยที่พบว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลนั้นรู้จักใช้สมุนไพรอย่างต้นยาร์โรว์ (yarrow) สมุนไพรที่พบในยุโรปและต้นคาร์โมมายล์
ทั้งนี้ มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลนั้นอาศัยอยู่ในบางพื้นที่ของยุโรป เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง มานาน 300,000 ปี และปรากฏว่าสาปสูญไปหมดเมื่อประมาณ 40,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่มนุษย์โฮโมซาเปียนส์ที่อพยพออกจากแอฟริกามาถึง โดยแอฟริกานั้นถิ่นกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่ที่อุบัติขึ้นเมื่อประมาณ 200,000 ปีก่อน
มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลและมนุษย์โฮโมซาเปียนส์นั้นได้ผสมข้ามพันธุ์กัน โดยมนุษย์ยุคใหม่ทั่วโลกมีสัดส่วนดีเอ็นเอของนีแอนเดอร์ทัลร่วมกันอยู่น้อยกว่า 2% ยกเว้นมนุษย์ในแอฟริกาที่ไม่ปรากฏว่าเคยมีมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอาศัยอยู่
สำหรับการศึกษาล่าสุดนี้ ทีมวิจัยนานาชาติได้ร่วมกันวิเคราะห์พันธุกรรมของดีเอ็นเอที่ติดอยู่ในคราบฟันของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล 4 คน โดยมี 2 คนมาจากถ้ำสปายเคฟ (Spy Cave) ในเบลเยียม และอีก 2 คน จากเอลซีดรอน
คราบจุลินทรีย์ที่จับตัวเป็นหินปูนช่วยรักษาดีเอ็นเอของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ปาก หลอดลมและกระเพาะ รวมถึงเศษอาหารที่ติดอยู่ในซอกฟันบางส่วน และภายหลังได้เผยให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตนี้กินอะไรเข้าไป และสุขภาพขณะนั้นเป็นอย่างไร
จากคราบจุลินทรีย์เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยวิเคราะห์หาพันธุกรรม ทีมวิจัยสรุปว่านีแอนเดอร์ทัลจากเบลเยียมนั้นกินแรดขนยาว แกะป่าและเห็ดเป็นอาหาร โดยดำรงชีวิตในรุปแบบนักล่าและเก็บกินอาหาร ส่วนนีแอนเดอร์ทัลจากสเปนไม่ปรากฏหลักฐานว่ากินเนื้อเป็นอาหาร แต่พบว่ากินอาหารจำพวกมังสวิรัติอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ผลต้นสน มอส เห็ด และเปลือกไม้
ส่วนร่องรอยของสมุนไพรและเพนิซิลเลียมที่พบในคราบจุลินทรีย์ในปากนั้น พบเพียงในปากของนีแอนเดอร์ทัลป่วยจากสเปนเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
ด้าน ลอรา เวย์ริช (Laura Weyrich) หัวหน้าทีมศึกษาครั้งนี้และมาจากศูนย์ดีเอ็นเอดึกดำบรรพ์แห่งออสเตรเลียเช่นกัน เสริมแก่ทางเอเอฟพีว่าสภาพแวดล้อมของเอลซีดรอนในยุคที่นีแอนเดอร์ทัลอาศัยอยู่นั้นเป็นป่าทึบ ในขณะที่นีแอนเดอร์ทัลจากสปายเคฟนั้นอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่ จึงไม่ยากที่จะจินตนาการได้ว่า บริเวณดังกล่าวแวดล้อมไปด้วยสัตว์ป่าที่เป็นแหล่งอาหารหลักของนีแอนเดอร์ทัลจากเบลเยียม