xs
xsm
sm
md
lg

สกว.พบแนวทางการชะลอวัยลงลึกถึง “ดีเอ็นเอ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์ ดร.น.พ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
นักวิจัย สกว.พบแนวชะลอวัย โดยค้นพบกลไกที่เซลล์ของมนุษย์ใช้ในการเติม "หมู่เมททิล" ที่ดีเอ็นเอในตำแหน่งเฉพาะ โดยวิธีการทางชีววิทยาคอมพิวเตอร์และอณูพันธุศาสตร์ รวมถึงเทคโนโลยีวิศวพันธุกรรมตกแต่งโปรตีนที่รักษาข้อต่อดีเอ็นเอ

ศาสตราจารย์ ดร.น.พ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า องค์ความรู้จากงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้พบว่าบุหรี่ เบาหวาน และสภาวะออกซิเดชัน ล้วนส่งผลให้สารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) สูญเสียความเสถียร ไม่สามารถคงสภาพปกติได้

คณะวิจัยจึงใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยต้นน้ำนี้ในการประดิษฐ์ต้นแบบยาอายุวัฒนะ ซึ่งโดยในสภาพปกติดีเอ็นเอของคนหนุ่มสาวจะมีการตกแต่งด้วย "หมู่เมททิล" เช่น ทารกที่มีหมู่เมททิลบนสายดีเอ็นเอมากจะโตเร็วกว่าทารกที่มีหมู่เมททิลบนสายดีเอ็นเอน้อย เพื่อให้สารพันธุกรรมแข็งแรงและมั่นคงมีสุขภาพดี ตรงข้ามกับคนชราที่มีหมู่เมททิลบนสายดีเอ็นเอลดลง

"ที่น่าสนใจคือผู้ป่วยที่มีอาการของความชรา เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ใหญ่ที่มีกระดูกผุ ก็พบว่ามีหมู่เมททิลบนสายดีเอ็นเอน้อย นอกจากนี้การมีหมู่เมททิลบนสายดีเอ็นเอน้อยยังพบร่วมกับการสูบบุหรี่ และการมีสภาวะออกซิเดชันของเซลล์ด้วย ดังนั้น หากพบวิธีเติมหมู่เมททิลบนสายดีเอ็นเอ ก็จะสามารถทำให้เซลล์ "ชราช้าลง" หรืออาจทำให้เซลล์ที่ชราแล้วกลับมาเป็นเซลล์ที่แข็งแรงเหมือนเซลล์ของหนุ่มสาวได้” ศ.ดร.น.พ.อภิวัฒน์ให้ความหวัง

อย่างไรก็ดีหมู่เมททิลบนสายดีเอ็นเอมีหน้าที่หลากหลายขึ้นกับตำแหน่งบนสายดีเอ็นเอ การเติมหมู่เมททิลบางตำแหน่งกำหนดให้เซลล์เป็นเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ บางตำแหน่งทำให้เกิดโรค เช่น มะเร็ง ภูมิแพ้ หรือความชรา ดังนั้นการเติมหมู่เมททิลบนสายดีเอ็นเอเพื่อแก้ไขความชราจะต้องรู้ตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อความสเถียรของดีเอ็นเอ และสามารถสร้างเทคโนโลยีเติมหมู่เมททิลในตำแหน่งที่ต้องการได้

ศ.ดร.น.พ.อภิวัฒน์ และคณะ ได้ใช้วิธีการทางชีววิทยาคอมพิวเตอร์และอณูพันธุศาสตร์ ทำให้ค้นพบกลไกที่เซลล์ของมนุษย์ใช้ในการเติมหมู่เมททิลที่ดีเอ็นเอในตำแหน่งเฉพาะ และพัฒนาเทคโนโลยีเติมหมู่เมททิลให้เซลล์ที่เลี้ยงในหลอดทดลองจนประสบความสำเร็จ ที่น่ายินดีอย่างยิ่งคือเซลล์ที่ได้รับการเติมหมู่เมททิลนี้ มีดีเอ็นเอที่เสถียรขึ้น โตเร็ว และมีรอยโรคบนสายดีเอ็นเอน้อยลง

"น่าประหลาดใจคือ ต้นแบบยาอายุวัฒนะตัวนี้มีผลดีเฉพาะเซลล์ปกติ แต่ในเซลล์มะเร็งแทนที่จะโตเร็วกลับหยุดแบ่งตัวและตาย ดังนั้นต้นแบบยาอายุวัฒนะตัวนี้นอกจากจะแก้ไขความชราของเซลล์ได้แล้วยังมีโอกาสนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกด้วย นอกจากนี้ยังค้นพบกลไกรักษาความสเถียรของสายดีเอ็นเอเมื่อมีหมู่เมททิล โดยพบรอยฉีกขาดของดีเอ็นเอที่ทำหน้าที่รักษาความสเถียรของดีเอ็นเอเหมือนช่องว่างของรางรถไฟแยกรางเป็นท่อนๆ เพื่อป้องกันรางไม่ให้บิดเบี้ยวเมื่อรางขยายตัวในอากาศร้อนหรือหดตัวเมื่ออุณหภูมิเย็นลง โดยโปรตีนในกลุ่มเฮชเอ็มจีมีหน้าที่รักษาข้อต่อดีเอ็นเอนี้"

ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. กล่าวสรุปว่า ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ใช้เทคโนโลยีวิศวพันธุกรรมตกแต่งโปรตีนกลุ่มดังกล่าว เพื่อใช้เป็นต้นแบบยาอายุวัฒนะอีกตัวหนึ่ง แม้ว่ายังต้องทดลองอีกสักระยะ เช่น ทำการศึกษาในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ แต่คงไม่นานเกินรอที่คนไทยจะได้ใช้ยาวิเศษสองตัวนี้ จึงอยากให้คนไทยช่วยกันสนับสนุนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะงานวิจัยฐานราก และเลิกเข้าใจผิดว่างานวิจัยต้นน้ำเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง เพราะมีแต่งานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้เท่านั้นถึงจะนำไปสู่การสร้างเทคโนโลยีที่มหัศจรรย์ได้







กำลังโหลดความคิดเห็น