ข่าวใหญ่นาซา เจอดาวเคราะห์ไซส์เท่าโลกโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวถึง 7 ดวง ในจำนวนนั้น 3 ดวงอยู่ในโซนที่น่าจะมีสิ่งมีชีวิต ทั้งหมดอยู่ในระบบดาวเคราะห์ในทางช้างเผือกและห่างจากโลกแค่ 40 ปีแสง
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ปล่อยข่าวล่วงหน้าให้คนรักในวการอวกาศได้ร่วมลุ้นว่าข่าวใหญ่ที่เตรียมแถลงเวลา 01.00 น.ของวันที่ 23 ก.พ.2017 นั่นคือเรื่องอะไร? ถ่าใครรอข่าวการค้น "สิ่งมีชีวิต" นอกโลกก็รอไปก่อน ข่าวนี้กำลังกรุยทางสู่การค้นพบสิ่งมีชีวิตอื่นนอกโลก
ข่าวใหญ่ครั้งนี้ของนาซาคือการค้นพบดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวง ซึ่งทั้งหมดโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกัน และในจำนวนนั้นมี 3 ดวงที่อยู่ในขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ (Habitable-Zone) ซึ่งดาวฤกษ์ดังกล่าวอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกเช่นเดียวกับโลก และอยู่ห่างออกไปเพียง 40 ปีแสง
การค้นพบครั้งนี้อาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) และเป็นครั้งแรกที่กล้องได้เผยข้อมูลดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลกถึง 7 ดวง ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกัน และยืนยันแล้วว่ามี 3 ดวงอยู่ในบริเวณที่น่าจะมีน้ำในรูปของเหลว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตเท่าที่เรารู้ในตอนนี้
นอกจากนี้การค้นพบยังสร้างสถิติใหม่ที่พบจำนวนดาวเคราะห์ในขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้มากที่สุด โดยดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงมีโอกาสมีน้ำเหลวภายใต้บรรยากาศที่เหมาะสม แต่ดาวเคราะห์ 3 ดวงในขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้มีโอกาสมากที่สุด
โทมัส ซูร์บุเชน (Thomas Zurbuchen) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสำนักอำนวยการภารกิจวิทยาศาสตร์ (Science Mission Directorate) ของนาซาในวอชิงตัน กล่าวว่าการค้นพบนี้นับเป็นผลงานสำคัญของจิ๊กซอว์ในการค้นหาสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชักนำให้เกิดสิ่งมีชีวิต
"การตอบคำถามว่า 'เราอยู่อย่างโดดเดี่ยว' หรือเปล่านั้น คือเป้าหมายหลักของวิทยาศาสตร์ และการค้นพบดาวเคราะห์แบบนี้ พร้อมกันหลายดวงในบริเวณที่เอื้อต่อการอาศัยของสิ่งมีชีวิตได้เป็นครั้งแรกนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น" ผู้บริหารของนาซาระบุ
ดาวเคราะห์ทั้ง 7 อยู่ในระบบดาวฤกษ์แทรปปิสต์-1 (TRAPPIST-1) ในตำแหน่งกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius) อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 40 ปีแสงหรือ 235 ล้านล้านไมล์ ซึ่งในดาราศาสตร์ถือเป็นระยะทางที่ค่อนข้างใกล้ และเนื่องจากเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจึงถูกเรียกว่า "ดาวเคราะห์นอกระบบ" (exoplanets)
ส่วนชื่อระบบดาวฤกษ์แทรปปิสต์-1 นั้น ตั้งตามชื่อกล้องโทรทรรศน์ศึกษาดาวเคราะห์ขนาดเล็กและการผ่านหน้าดาวฤกษ์แทรปปิสต์ (TRAPPIST: The Transiting Planets and Planetesimals Small Telescope ) ในชิลี และเมื่อเดือน พ.ค.2016 ทีมนักวิจัยได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ 3 ดวงในระบบดาวฤกษ์นี้ โดยอาศัยข้อมูลจากกล้องแทรปปิสต์
เมื่อศึกษาเพิ่มเติมด้วยกล้องอวกาศสปิตเซอร์ พร้อมการยืนยันด้วยกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินอื่นๆ ซึ่งรวมถึงกล้องโทรทรรศน์เวรีลาร์จ (Very Large Telescope) ของหอดูดาวยุโรปซีกฟ้าใต้ (European Southern Observatory') ทำให้ยืนยันได้ว่าในจำนวนดาว 3 ดวงที่กล้องแทรปปิสต์ค้นพบนั้น มีอยู่จริง 2 ดวง และสปิตเซอร์ยังค้นพบเพิ่มเติมอีก 5 ดวง ทำให้จำนวนดาวเคราะห์ในระบบที่พบแล้วรวมเป็น 7 ดวง
ผลการศึกษาล่าสุดนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ ก่อนที่สำนักงานใหญ่ของนาซาจะประกาศการค้นพบนี้ในวอชิงตัน โดยเปิดเผยล่วงหน้าเพียงว่าจะมีการแถลงข่าวการค้นพบครั้งสำคัญเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ
ด้วยข้อมูลจากกล้องสปิตเซอร์ ทำให้ทีมวิจัยวัดขนาดดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงได้ค่อนข้างแม่นยำ และคำนวณมวลของดาวเคราะห์ออกมาเป็นครั้งแรกได้ 6 ดวง ทำให้ประเมินความหนาแน่นของดาวเคราะห์เหล่านั้นได้ และจากความหนาแน่นบอกได้ว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดน่าจะเป็นดาวเคราะห์หิน
ส่วนดาวเคราะห์ดวงที่อยู่ไกลสุดนั้นยังนักวิจัยยังประเมินมวลของดาวเคราะห์ไม่ได้ แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นดาวเคราะห์น้ำแข็ง ถึงอย่างนั้นจำเป็นต้องศึกษาเพิ่ม
นาซาระบุด้วยว่า การศึกษาเพิ่มเติมไม่เพียงจะช่วยประเมินได้ว่าดาวเคราะห์เหล่านี้อุดมด้วยน้ำหรือไม่ แต่อาจเผยด้วยว่าจะมีน้ำเหลวบนพื้นผิวดาวหรือไม่