A.H. Zewail คือ นักเคมีอเมริกันเชื้อชาติอียิปต์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 1999 ด้วยการพัฒนาเทคนิคที่ใช้ในการศึกษาปฏิกริยาเคมีที่เกิดภายในช่วงเวลา 1 เฟมโตวินาที (femtosecond = 10-15 วินาที) เพราะเป็นชาวอาหรับคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์ เขาจึงเป็นความภูมิใจของชาวอียิปต์ทุกคน
หลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบล Zewail ได้ทุ่มเททำงานวิจัยเคมีต่อที่สถาบัน Caltech ในอเมริกา จนมีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรเฟมโต ผู้สามารถเห็นการเกิดปฏิกิริยาเคมีตั้งแต่ต้นจนจบได้ทุกขั้นตอน
ในอดีต เวลานักเคมีให้สารทำปฏิกิริยาเคมีกัน เช่น เวลานำสาร A มาผสมกับสาร B ทุกคนก็จะพบว่าได้สาร C แต่ไม่มีใครรู้ว่า อะตอมของสาร A แยกตัวไปยึดกับอะตอมของสาร B อย่างไร โดยต้องใช้เวลานานเพียงใด ความเข้าใจอย่างสมบูรณ์ของเรื่องนี้จึงไม่บังเกิด เสมือนกับการไปดูภาพยนตร์ แล้วเห็นแต่ชื่อดาราที่แสดงนำในเรื่อง จากนั้นก็เห็นพระเอกแต่งงานกับนางเอกในตอนจบ โดยไม่รู้เลยว่า คนทั้งสองต้องเผชิญเหตุการณ์อะไรบ้าง ผลงานของ Zewail ด้านนี้ทำให้เกิดวิทยาการเคมีสาขาใหม่ชื่อ เคมีเฟมโต (femtochemistry)
นอกจากจะเป็นนักวิจัยระดับสุดยอดของโลกแล้ว Zewail ยังเป็นคนรักชาติบ้านเกิดด้วย โดยได้พยายามจัดตั้งสถาบันการวิจัยวิทยาศาสตร์ขึ้นที่กรุง Cairo ใน Egypt จนลุล่วงถึงระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สมบูรณ์ เขาก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ สิริอายุ 70 ปี ในพิธีศพมีประธานาธิบดี Abdel-Fattahel Sisi เข้าร่วมด้วย
Zewail เกิดเมื่อปี 1946 ที่เมือง Damanhur ใน Egypt หลังจากที่จบการเรียนระดับมัธยมศึกษา ได้เข้าเรียนปริญญาตรีสาขาเคมีที่มหาวิทยาลัย Alexandria ในอียิปต์จนจบปริญญาตรีและโท ในวัย 23 ปี จากนั้นได้หาทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ เพราะเป็นประเพณีของนิสิตอียิปต์ในยุคนั้นที่ต้องไปเรียนต่อที่เมืองนอก เมื่อมหาวิทยาลัย Pennsylvania ในอเมริกาเสนอให้ทุน Zewail ก็ตอบรับ และเรียนจบ Ph.D.ที่นั่น จากนั้นได้ไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต Berkeley เป็นเวลา 2 ปี ก็ได้งานเป็นอาจารย์สอนที่ Caltech ถึงปี 1976 Zewail ก็ได้ขึ้นครองตำแหน่งศาสตราจารย์เคมีและฟิสิกส์ของ Caltech ขณะมีวัยเพียง 30 ปีเท่านั้นเอง
Zewail มีความฝันจะ “ถ่ายภาพยนตร์” แสดงขั้นตอนการเกิดปฏิกิริยาเคมีด้วยการใช้กล้องถ่ายภาพที่สามารถปิดเปิดหน้ากล้องได้ภายในเวลา 10-15 วินาที เพราะตามปกตินักเคมีไม่มีใครเคยเห็นเหตุการณ์ขณะสารกำลังทำปฏิกริยาเคมี หรือเหตุการณ์ถือกำเนิดของพันธะเคมี หรือเหตุการณ์ที่พันธะเคมีแตกสลาย ทั้งนี้เพราะสถานะเปลี่ยนผ่าน (transition state) ในปฏิกิริยาเคมี มีชีวิตสั้นระดับ 10-15 วินาทีเท่านั้นเอง
แม้จะเป็นเวลาที่สั้นสักปานใด Zewail ก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีถ่ายภาพของเหตุการณ์ที่เกิดได้ โดยใช้แสงเลเซอร์ที่มีความถี่สูงมาก (ultrafast) แล้วใช้เทคนิคการยิงแสงออกมาเป็นห้วง (pulse) 2 ห้วงสั้นๆ โดยให้ห้วงแรกจุดประกายให้เกิดปฏิกิริยาเคมี แล้วยิงห้วงที่ 2 เข้าไปเพื่อถ่ายภาพปฏิกิริยา
เมื่อครั้งที่ Linus Pauling ได้รับรางวัลโนเบลเคมีประจำปี 1954 เขาได้สร้างทฤษฎีการเกิดพันธะเคมีในโมเลกุล แม้ทุกคนจะเข้าใจแต่ไม่มีใครสามารถเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดพันธะดังกล่าวด้วยตา จนกระทั่ง Zewail ได้พัฒนาเทคนิคการใช้ laser ช่วยในการเห็น ทุกคนจึงสามารถเห็นการเกิด และการสลายของพันธะเคมีได้เป็นครั้งแรก
นอกจากจะได้รับรางวัลโนเบลแล้ว Zewail ยังได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั่วโลก เช่น จาก National Academy of Science, Royal Society of London, American Philosophical Society, Frence Academy, Russian Academy, Chinese Academy, Swedish Academy รวมถึงได้รับเหรียญ Benjamin Franklin รางวัล Leonardo da Vinci รางวัล Wolf รางวัล King Faisal และสุดท้ายคือได้รับ Grand Collar of the Order of the Nile ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดที่ประเทศอียิปต์จะมอบให้แก่ชาวอียิปต์
หลังจากที่มีชื่อเสียงโด่งดังก้องโลกแล้ว Zewail ได้เริ่มการใช้ชีวิตเป็นนักเคลื่อนไหว โดยการเสนอข้อคิด และความเห็นต่างๆ ต่อสังคมอียิปต์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และการศึกษาของชาติ
ในปี 2009 Zewail ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี Obama ให้เป็นทูตวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ประจำตะวันออกกลาง เพื่อให้ Zewail กระชับความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์ระหว่างอเมริกากับบรรดาประเทศอาหรับทั้งหลาย
แม้จะมีงานบริหารและงานบริการสังคมมากมาย Zewail ก็ยังทำงานวิจัย และสามารถตีพิมพ์งานวิจัยได้ตลอดเวลาประมาณ 600 เรื่อง แต่งตำราได้ 14 เล่ม และได้พัฒนาเทคนิคเคมีเฟมโตจนสามารถเห็นการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนใน 4 มิติ (คือ 3 มิติของตำแหน่ง และ 1 มิติของเวลา) ในชีวโมเลกุล และศึกษาสมบัติกายภาพของสสารที่เปลี่ยนแปลงตามเวลา
ตามปกติ Zewail ชอบทำงานหนัก เป็นคนมองโลกในแง่บวก และมีความผูกพันกับชาวอาหรับมาก เขามักกล่าวเสมอว่า ในสมัยกลางที่ยุโรปยังอยู่ในยุคมืด วิทยาศาสตร์อาหรับเจริญรุ่งเรืองมาก มาบัดนี้เหตุใด ประเทศอาหรับเช่นเปอร์เซียและตุรกีจึงได้สูญเสียตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่ยุโรปและอเมริกาไป ด้วยเหตุนี้ Zewail จึงใคร่ขอให้ชาวอาหรับกลับมาสร้างความภาคภูมิใจให้อียิปต์เป็นสังคมวิทยาศาสตร์อีกคำรบหนึ่ง
ดังนั้น หลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบลแล้วไม่นาน Zewail ก็ได้เสนอโครงการจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นในอียิปต์ โดยมุ่งหวังจะให้เป็นสถาบันที่ดำเนินการวิจัยอย่างเป็นอิสระ คือไม่ขึ้นกับราชการและตัดขาดจากอิทธิพลของการเมือง 100% โครงการนี้ไม่ได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดี Hosni Mubarak ในเบื้องต้น เพราะ Zewail ได้ยืนยันไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสถาบัน แต่ในที่สุด Mubarak ก็อนุมัติให้ Zewail จัดตั้ง
ในปี 2011 เมื่อเกิดการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในอียิปต์ (Arab Spring) Zewail ได้เข้าร่วมการเรียกร้องให้ประเทศมีการปฏิรูปทั้งทางด้านสังคม วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ รวมถึงให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยมากขึ้น
ในนิตยสาร Discover ฉบับเดือนมกราคม ปี 2012 Zewail ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความฝันของเขาในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในอียิปต์ว่า ชาวอียิปต์โบราณเคยสร้างปฏิทินให้โลกใช้เมื่อ 6,000 ปีก่อน คำว่า เคมี Chemistry ก็เป็นคำที่มาจากคำว่า Khem ในภาษาอียิปต์ที่แปลว่า การเปลี่ยนสีของดินหลังน้ำแม่น้ำไนล์ท่วม องค์ฟาโรห์ทรงสร้างปิระมิด ในยุค Coptic (300 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ.900) และเมือง Alexandria เคยเป็น Caltech ของโลก แม้แต่ Euclid และ Archimedes ก็เคยทำงานที่นั่นและ Eratosthenes แห่ง Alexandria ได้เคยวัดเส้นรอบวงของโลกเป็นครั้งแรกที่นี่
แต่เมื่อถึงวันนี้วิทยาศาสตร์ในอียิปต์แทบไม่มีอะไรเด่นเลย ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า ถูกการเมืองครอบงำ และอียิปต์ใช้งบประมาณ GDP เพียง 0.2% เท่านั้นเองในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ห้องเรียนมีนักเรียนจำนวนมากเกินไป แม้นักวิทยาศาสตร์อียิปต์ทั่วไปจะไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อ Zewail กล่าวปราศรัยเรื่อง “Egypt Can” ทางโทรทัศน์ ชาวอียิปต์กว่า 30 ล้านคนได้นั่งฟัง นั่นแสดงว่า ชาวอียิปต์แทบทุกคนต้องการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของ Zewail
หลังเหตุการณ์ Arab Spring Zewail ได้เข้าพบประธานาธิบดี Mubarak หลายครั้ง เพื่อขอให้รัฐบาลอียิปต์อนุมัติการจัดตั้ง Zewail City of Science and Technology บนเนื้อที่เกือบ 2,000 ไร่ เพื่อสร้างบรรยากาศการวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในโลกอาหรับ และ Zewail คิดว่า พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับชาติ เพราะอียิปต์ได้รับแสงแดดเกือบตลอดปี ในด้านสุขภาพ โรคตับอักเสบ hepatitis C ก็เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญสำหรับชาวตะวันออกกลางทุกคน อนึ่งการทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดเพื่อการเกษตรก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก และการวิจัย GMO ก็มีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์มาก
หากกจะกล่าวสั้นๆ คือ Zewail ฝันจะมี Caltech ที่ Cairo ให้เป็นเมืองที่มีทั้งมหาวิทยาลัย และสวนเทคโนโลยีในที่เดียวกัน เพื่อผลิตนิสิตปริญญาเอกได้ประมาณ 200-300 คนต่อปี โดยมีคณะที่ปรึกษาของสถาบันเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล 6 คน รวมถึงมีอธิการบดีของ Caltech กับ MIT ร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย
Zewail เป็นคนมีเสน่ห์ ดังนั้น จึงมีเพื่อนมาก จนใครก็ตามที่ได้เข้ามาสนทนา จะรู้สึกว่า Zewail เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเขาในทันที การตายของ Zewail จึงเป็นการสูญเสียนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความสามารถสูงมากของทุกคนในวงการเคมี และโลกอาหรับ อย่างที่จะหาใครมาทดแทนได้ยาก
ความฝันอันสูงสุดของ Zewail คือ การทำให้โลกอาหรับมีความเจริญเท่าเทียมกับโลกตะวันตกในทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หลังจากที่ได้วิเคราะห์ความล้าหลังของสังคมอาหรับก็พบว่า เกิดจากการที่หลายประเทศถูกชาติมหาอำนาจในยุโรปเข้ายึดครองเป็นเมืองขึ้น นอกจากนี้สังคมอาหรับยังมีการแบ่งชั้นวรรณะ ทำให้คนจำนวนมากไร้การศึกษา ผลที่ตามมาคือ ชาวอาหรับชายที่อ่านออกเขียนได้มีประมาณ 50% ส่วนชาวอาหรับหญิงที่อ่านหนังสือไม่ออก และเขียนหนังสือไม่ได้มีถึง 80%
ครั้นเมื่อหมดยุคล่าอาณานิคม คือในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาติอาหรับที่ได้รับเอกราชจำเป็นต้องพึ่งพาชาติมหาอำนาจตะวันตกต่อไป และมักคิดว่าชาติตนคงสู้ชาติอื่นไม่ได้ แม้ปัจจุบัน อียิปต์จะประสบปัญหาคนว่างงานเป็นจำนวนล้าน และแทนที่จะปล่อยให้คนว่างงานเหล่านี้ระบายความอัดอั้นในทางที่ผิด Zewail มีความเห็นว่า รัฐบาลอียิปต์ควรดำเนินการ 3 ขั้นตอน ดังนี้ คือ
1. ปฏิรูปสถาบันและองค์การต่างๆ ของชาติให้ทุกคนมีเสรีภาพในการคิดสร้างสรรค์ ลดขั้นตอนการให้บริการ ให้รางวัลตามความสามารถ เลิกระบบอุปถัมภ์ และใช้กฎหมายอย่างเที่ยงธรรม รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างภายในอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
2. พัฒนาบุคลากรของสถาบันวิชาการให้มีความรู้ และความสามารถ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพการศึกษา และยินยอมให้สตรีเข้าร่วมทำกิจกรรมสังคมมากขึ้น
3. ในการจะให้ทุกคนมีความมั่นใจ Zewail คิดว่า รัฐบาลอียิปต์อาจเริ่มด้วยการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมคนในชาติให้รักการเรียน และไม่ควรให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับศูนย์
ณ วันนี้ เมือง Zewail City of Science and Technology ได้ถือกำเนิดแล้วนอกกรุง Cairo และกำลังประสบปัญหาการเงิน เพราะการบริหารมหาวิทยาลัยต้องใช้งบประมาณมาก และนิสิตเสียค่าเล่าเรียนน้อย ดังนั้นสถาบันจึงต้องการเงินทุนสนับสนุนมาก
ในปี 2014 มีผู้ใจบุญอุทิศที่ดินให้สถาบันอีก 500 ไร่ และให้งบประมาณค่าก่อสร้างอาคาร
ในปี 2017 ศิษย์รุ่นแรกของสถาบันจะสำเร็จการศึกษาทางด้านชีวการแพทย์ พลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีนาโน
ก่อนเสียชีวิตไม่นาน Zewail ได้พยายามเจรจาให้นักวิทยาศาสตร์อียิปต์ที่เชี่ยวชาญด้าน nanotechnology พลังงาน และ biomedicine ซึ่งกำลังทำงานในต่างประเทศ ให้กลับมาทำงานที่ Egypt โดยได้พยายามติดต่อกับนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นโดยตรง
ความฝันของ Zewail จะเป็นจริงหรือไม่ ก็ขึ้นกับความสามารถของคนรุ่นหลังที่เป็นทายาททางความคิดของเขาที่จะต้องเดินหน้าอย่างมีสติ และอย่างรับผิดชอบ
ในนิตยสาร Discover ฉบับเดือนมกราคม ปี 2012 Zewail ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความฝันของเขาในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในอียิปต์ว่า ชาวอียิปต์โบราณเคยสร้างปฏิทินให้โลกใช้เมื่อ 6,000 ปีก่อน คำว่า เคมี Chemistry ก็เป็นคำที่มาจากคำว่า Khem ในภาษาอียิปต์ที่แปลว่า การเปลี่ยนสีของดินหลังน้ำแม่น้ำไนล์ท่วม องค์ฟาโรห์ทรงสร้างปิระมิด ในยุค Coptic (300 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ.900) และเมือง Alexandria เคยเป็น Caltech ของโลก แม้แต่ Euclid และ Archimedes ก็เคยทำงานที่นั่นและ Eratosthenes แห่ง Alexandria ได้เคยวัดเส้นรอบวงของโลกเป็นครั้งแรกที่นี่
แต่เมื่อถึงวันนี้วิทยาศาสตร์ในอียิปต์แทบไม่มีอะไรเด่นเลย ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า ถูกการเมืองครอบงำ และอียิปต์ใช้งบประมาณ GDP เพียง 0.2% เท่านั้นเองในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ห้องเรียนมีนักเรียนจำนวนมากเกินไป แม้นักวิทยาศาสตร์อียิปต์ทั่วไปจะไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อ Zewail กล่าวปราศรัยเรื่อง “Egypt Can” ทางโทรทัศน์ ชาวอียิปต์กว่า 30 ล้านคนได้นั่งฟัง นั่นแสดงว่า ชาวอียิปต์แทบทุกคนต้องการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของ Zewail
หลังเหตุการณ์ Arab Spring Zewail ได้เข้าพบประธานาธิบดี Mubarak หลายครั้ง เพื่อขอให้รัฐบาลอียิปต์อนุมัติการจัดตั้ง Zewail City of Science and Technology บนเนื้อที่เกือบ 2,000 ไร่ เพื่อสร้างบรรยากาศการวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในโลกอาหรับ และ Zewail คิดว่า พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับชาติ เพราะอียิปต์ได้รับแสงแดดเกือบตลอดปี ในด้านสุขภาพ โรคตับอักเสบ hepatitis C ก็เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญสำหรับชาวตะวันออกกลางทุกคน อนึ่งการทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดเพื่อการเกษตรก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก และการวิจัย GMO ก็มีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์มาก
สั้นๆ คือ Zewail ฝันจะมี Caltech ที่ Cairo ซึ่งเป็นเมืองที่มีทั้งมหาวิทยาลัย และสวนเทคโนโลยีในสถานที่เดียวกัน เพื่อผลิตนิสิตปริญญาเอกได้ประมาณ 200-300 คนต่อปี โดยมีคณะที่ปรึกษาของสถาบันเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล 6 คน รวมถึงมีอธิการบดีของ Caltech กับ MIT ร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย
ถึงวันนี้อียิปต์ไม่มี Zewail แล้วอนาคตของ Zewail City of Science and Technology จึงเป็นเรื่องที่ทำให้ชาวอียิปต์ทุกคนกังวล และรู้สึกว่าชาติจะต้องประคับประคองสถาบันต่อไป เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ว่า Zewail ก็ต้องการ
อ่านเพิ่มเติมจาก Voyage Through Time: Walks of Life to the Nobel Prize. โดย Ahmed Zewail จัดพิมพ์โดย World Scientific ปี 2003
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์