สดร. เก็บภาพเสี้ยวดาวศุกร์ในคืนสว่างที่สุดในรอบปีมาฝากคนไทย วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 จากกล้องโทรทรรศน์บนยอดดอยอินทนนท์มาฝากคนไทย ช่วงหัวค่ำวันดังกล่าวสามารถมองเห็นดาวศุกร์ได้ด้วยตาเปล่า ปรากฏสว่างโดดเด่นทางทิศตะวันตก หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นเป็นเสี้ยวอย่างชัดเจน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า สดร. ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ ติดตามบันทึกภาพดาวศุกร์มาตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2560 เมื่อสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์พบว่าดาวศุกร์มีลักษณะเป็นเสี้ยวบางลงเรื่อยๆ
"จนกระทั่งในวันที่ 17 ก.พ.60 ดาวศุกร์มีความสว่างที่สุดในรอบปี สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน เราได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร บันทึกภาพดาวศุกร์ในช่วงคลื่นต่างๆ กัน ได้แก่ ภาพซ้าย ช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต สังเกตเห็นเมฆกรดซัลฟิวริกเป็นส่วนสว่างๆ บนผิวดาวศุกร์ ภาพถัดมาเป็นช่วงคลื่นอินฟราเรด จากภาพพื้นผิวดาวศุกร์มีความสม่ำเสมอมาก"
ภาพที่บันทึกได้แสดงให้เห็นว่าดาวศุกร์มีความร้อนสม่ำเสมอทั้งดวง และภาพขวาสุดเป็นภาพสีเสมือน บันทึกในช่วงคลื่นสีแดง เขียว และอัลตราไวโอเลต (RGUV) ซึ่งใช้ช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตแทนสีน้ำเงิน ทำให้เห็นเมฆชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ในระบบสุริยะ ถัดจากดาวพุธ และอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก เราจึงสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ด้วยตาเปล่าได้ง่ายเพราะดาวศุกร์มีความสว่างมาก นับเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าไม่นับรวมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และจะปรากฏอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับดาวพุธ เนื่องจากทั้งสองเป็นดาวเคราะห์วงในเหมือนกัน ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดได้ถึง 47.8 องศา เราจึงสามารถสังเกตดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น
"หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกปรากฏทางทิศตะวันตก คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นปรากฏทางด้านตะวันออก คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก” เป็นที่น่าสังเกตว่าดาวศุกร์จะไม่เคยปรากฏให้เห็นอยู่กลางท้องฟ้า หรือปรากฏในเวลาดึกๆ เลย" ดร.ศรัณย์กล่าว
ในปีนี้ดาวศุกร์จะกลับมาปรากฏสว่างที่สุดอีกครั้งในวันที่ 30 เม.ย.60 ช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น