xs
xsm
sm
md
lg

การวิจัยประวัติศาสตร์จากวัตถุประดิษฐ์ที่จมในทะเล

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ซากเรือไททานิคที่จมน้ำ เรืออับปางที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์
ในปี 1993 ขณะ Filipe Vieira de Castro แห่งมหาวิทยาลัย Texas A and M ในสหรัฐอเมริกากำลังดำน้ำในทะเลใกล้เมือง Lisbon ของโปรตุเกส เขาเห็นท่อนไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุมากและผุหลายท่อนปักอยู่ในโคลนที่ระดับลึกประมาณ 10 เมตร จึงว่ายน้ำเข้าไปใกล้ และพบว่าสิ่งที่เห็นคือซากเรือโบราณที่ชาวโปรตุเกสเรียก Indiaman ซึ่งถูกสร้างขึ้นในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา คือ เมื่อประมาณ 500 ปีก่อน เพื่อใช้ในการเดินทางจากโปรตุเกสไปอินเดีย อันเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ โดยการแล่นเรืออ้อมผ่านแหลม Good Hope ซึ่งเต็มไปด้วยภัยอันตราย ดังนั้นเรือ Indiaman ในยุคนั้นจึงอาจเปรียบเสมือนกระสวยอวกาศในยุคนี้

นักประวัติศาสตร์โปรตุเกสได้เขียนบรรยายลักษณะและรูปร่างของเรือ Indiaman ไว้ว่ามีขนาดใหญ่เสมือนเมืองที่ลอยน้ำได้ เพราะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 450 คน

รายงานการพบซากเรืออับปางได้ชักนำให้รัฐบาลโปรตุเกสเริ่มโครงการศึกษาซากเรือลำนั้นในอีก 3 ปีต่อมา โดยมุ่งวิจัยด้านการออกแบบ ความสามารถในการใช้ใบ และความเร็วในการเดินทาง จนได้ข้อสรุปว่า เรือ Indiaman เป็นเรือที่ค่อนข้างทันสมัย และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโปรตุเกสมาก นอกจากซากเรือที่พบแล้ว นักประดาน้ำยังได้พบเหรียญโบราณ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ มากมายของคนในสมัยนั้น จนรัฐบาลโปรตุเกสรีบนำสมบัติเหล่านั้นขึ้นไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่นักประดาน้ำและโจรประวัติศาสตร์ทั้งหลายจะขโมยสมบัติเหล่านี้ไป

กฎหมายทะเลของโลกในอดีตได้ระบุว่า ใครที่เป็นคนพบ “สมบัติ” เขาผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ปัจจุบันนักโบราณคดีมีความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวใช้กับอะไรก็ได้ที่มิใช่สมบัติโบราณ เพราะวัตถุโบราณเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงเป็นการมิสมควร และมิเหมาะสมที่ใครคนใดจะนำสิ่งเหล่านั้นไปเก็บที่บ้าน หรือนำไปขาย

ตามปกติเวลาเรืออับปางลงกลางทะเล สรรพสิ่งทุกอย่างในเรือ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์บนเรือ อาหาร และสินค้าที่เรือบรรทุกไปเพื่อใช้ในการเดินทางก็จะจมตามลงไปด้วย การจมอยู่ในน้ำนานทำให้มันคงสภาพได้ดีกว่าการอยู่บนบก ดังนั้นการศึกษาซากเรือโบราณจึงเปรียบเสมือนการเดินทางย้อนเวลาหาอดีต เพราะทำให้คนปัจจุบันรู้เทคโนโลยีการสร้างเรือ วิธีเดินเรือ เส้นทางค้าขาย สินค้า และประเพณีต่างๆ ของคนในอดีต

แต่การศึกษาหาความรู้ในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และเงินงบประมาณค่อนข้าง “มหาศาล” ดังในกรณีเรือที่จมลงในทะเลใกล้กรุง Lisbon ลำนั้นรัฐบาลโปรตุเกสต้องใช้เงินถึง 18 ล้านดอลลาร์ในการขุด ยกซากเรือขึ้นมา โดยใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี และใช้เวลาอีก 2 ปีในการอนุรักษ์ เพราะเวลาซากเรือสัมผัสอากาศ ความชื้น และความร้อนในอากาศจะทำให้ซากสลาย

ด้านนักประวัติศาสตร์ซึ่งสนใจที่มาของเรือ ก็ได้ค้นหาเอกสารที่เขียนบรรยายเกี่ยวกับเรือลำนี้ จนได้พบว่า เรือ Indiaman ลำที่จมชื่อ Our Lady of the Martyrs ซึ่งได้อับปางลงตั้งแต่ปี 1606 ภายในเรือมีสินค้า เช่น พริกไทยและเครื่องลายครามที่มีลวดลายระบุว่า ถูกทำขึ้นในจีนตั้งแต่ปี 1600 นอกจากนี้นักประดาน้ำยังได้พบอุปกรณ์ astrolabe ที่ใช้ในการหาทิศ และ astrolabe มีลายจารึกว่าถูกสร้างขึ้นในปี 1605 ด้วย

ด้านนักเทคโนโลยีเรือก็ได้พยายามจำลองรูปร่างและลักษณะของเรือที่จม โดยได้วัดขนาดและศึกษารูปทรงของไม้ทุกชิ้นที่พบ เพื่อจะได้รู้ชื่อบริษัทต่อเรือ รูรั่วทุกรูที่ถูกอุด รวมถึงตะปูที่ใช้ตอกไม้ เพื่อจะได้เข้าใจเทคนิคการสร้างเรือในสมัยนั้น และได้พบว่า เรือที่จมเป็นเรือที่มีกระดูกงูยาว 28 เมตร มีเสากระโดงหลักยาว 31 เมตร มีระวางขับน้ำ 250 ตัน สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 450 คน รวมถึงอาหาร น้ำและเหล้าองุ่นได้ 292 ตัน

ผลการศึกษาเกี่ยวกับเรือลำนี้ได้ถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Historical Archaeology ในปี 2010

สำหรับประเด็นความปลอดภัยของเรือ ในเวลาต่อมา คณะวิจัยได้ศึกษาความสามารถของเรือในการเดินทาง ขณะต้องเผชิญพายุ และได้นำผลการศึกษาในประเด็นดังกล่าวออกเผยแพร่ในวารสาร Journal of Archaeological Science ในปี 2012 โดยได้บรรยายว่า แม้จะเป็นเรือใบขนาดใหญ่ แต่ตัวเรือก็มั่นคงและแข็งแรง ไม่ว่าลมพายุจะพัดรุนแรงเพียงใดก็ตาม

นี่เป็นงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ใต้ทะเลที่โดดเด่นมาก เพราะเป็นการวิจัยบุกเบิกที่ได้ทำให้ชาวโลกหันมาสนใจประวัติศาสตร์จากการศึกษาวัตถุใต้น้ำเป็นครั้งแรก

หลังจากนั้นก็มีทีมนักโบราณคดีใต้ทะเลของอิสราเอลซึ่งได้พบซากต้นไม้ที่กะลาสีนำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ตามริมฝั่งทะเล Aegean ซึ่งได้ทำให้นักประวัติศาสตร์รู้เส้นทางการเดินเรือของเรือลำนั้น เพราะได้เห็นแท่งหินอ่อนหนัก 60 ตัน การวิเคราะห์อายุและองค์ประกอบของหินอ่อนทำให้รู้ว่า มันเป็นหินที่มาจากเหมืองในตุรกี และเรือได้จมลงเมื่อ 2,000 ปีก่อน เพราะไอโซโทป C-13 และ O-18 ในหินอ่อน แสดงว่า มันถูกสกัดมาจากเหมืองบนเกาะ Marmara ข้อมูลนี้จึงทำให้เรารู้ว่า เกาะนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน เมื่อ 130 ปีก่อนคริสตกาล ครั้นเมื่อได้พิจารณารูปทรงและขนาดของหินอ่อน นักโบราณคดีก็รู้ว่าหินอ่อนนี้จะถูกลำเลียงไปสร้างมหาวิหารแห่ง Apollo ที่เมือง Claros เพราะที่นั่นมีผู้คนมากมายที่ชอบมาฟังคำทำนายของศาสดาพยากรณ์ประจำวิหาร

ข้อมูลจึงแสดงให้เห็นว่า นักขุดหินอ่อนที่เมือง Proconesos ในตุรกีคงได้ติดต่อกับสถาปนิกผู้สร้างวิหารที่ Claros ซึ่งอยู่ห่างออกไป 500 กิโลเมตร และผู้สร้างวิหารได้รับหินอ่อนเป็นงวดๆ ครั้งละเล็กละน้อย ดังนั้น การสร้างวิหารจึงจำเป็นต้องใช้เวลานาน

ในกรณีของวัตถุโบราณที่มีการขุดพบบนบก องค์การ UNESCO ได้มีกฎหมายห้ามการซื้อ-ขายวัตถุโบราณเหล่านั้นทั้งที่ถูกขโมยมาหรือถูกนำออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย ต่อมาบรรดาประเทศที่มีโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากก็ได้ออกกฎหมายเพิ่มเติมว่า แม้วัตถุโบราณที่ยังไม่มีใครพบก็จะต้องเป็นสมบัติของชาตินั้นด้วย กฎหมายเหล่านี้จึงได้ทำให้ความรุนแรงและการระบาดของการโจรกรรมเชิงประวัติศาสตร์ลดลงได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมการโจรกรรมวัตถุในทะเล เพราะกฎหมายทะเลยุคเก่ายังระบุว่า ใครพบอะไรในทะเล เขาจะเป็นเจ้าของสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ

ณ วันนี้เทคโนโลยีการถ่ายภาพระยะไกลสามารถช่วยให้นักโบราณคดีค้นหาตำแหน่งของเรือที่จมลงในทะเลลึกได้ดีขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์โลก ในปี 2001 UNESCO จึงได้ออกกฎหมายปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของทุกชาติเพิ่มเติม โดยประกาศให้มีการอนุรักษ์ซากเรือโบราณทุกซาก ห้ามการซื้อ ขาย และส่งผ่านสรรพสิ่งที่อยู่ในเรือ เพราะสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าทางวัฒนธรรม และอารยธรรมของมนุษยชาติ

ถึงปี 2009 กฎหมายใหม่นี้ได้ถูกนำไปบังคับใช้ หลังจากที่ประเทศต่างๆ 20 ประเทศได้ลงนามและนับถึงวันนี้ตัวเลขได้เพิ่มเป็น 60 ประเทศแล้ว ส่วนประชาชนทั่วไปก็เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ว่า อะไรก็ตามที่พบในเรืออับปาง จะต้องไม่มีการนำไปประมูลขายทอดตลาดอย่างเด็ดขาด

นอกจากบุคคลในวงการโบราณคดีจะมีความกังวลในเรื่องการทำโจรกรรมใต้ทะเลแล้ว นักโบราณคดีเองก็ไม่วางใจในเรื่องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับวัตถุโบราณในกรณีที่โจรอารยธรรมได้ทำลายวัตถุไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วย ในกรณีของเรือโปรตุเกสนั้น รัฐบาลได้จัดตั้งบริษัท Argueonautas Worldwide Argueologia Subaquatica ขึ้นที่ Lisbon เพื่อรับงานตรวจสอบการทำงานโบราณคดีใต้ทะเลทั่วโลก และบริษัทได้ออกสำรวจ และยกซากเรือขึ้นจากทะเลได้ประมาณ 20 ซากแล้ว ตลอดเวลา 18 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งได้ช่วยเหลือประเทศที่ยากจน เช่น Mozambique ในการนำวัตถุใต้ทะเลของประเทศไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ อีกทั้งได้ขาย astrolabe อายุ 300 ปี ที่พบนอกฝั่ง Cape Verde ให้แก่พิพิธภัณฑ์ในอเมริกาในราคา 2 แสนเหรียญ ซึ่งการขายนี้ได้ทำให้ประชากรของ Mozambique ไม่พอใจ แต่รัฐบาลก็อ้างว่า ต้องการเงินนั้นมาพัฒนาประเทศ

สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้มีเงินมาก ประเทศก็ยังมีปัญหาในประเด็นว่า ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการสำรวจวัตถุใต้ทะเล ในกรณีเรือ Victory ที่จมลงในช่องแคบอังกฤษ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1744 พร้อมชีวิตกะลาสีกว่า 1,100 คนนั้น เวลาได้ล่วงเลยไปจนถึงปี 2008 นักสำรวจของบริษัท Odyssey จึงได้เห็นซากเรือ Victory ที่จมอยู่ในทะเลนอกอาณาเขตของประเทศอังกฤษ ในน้ำลึก 75 เมตร ซึ่งตามกฎหมายสากล อังกฤษเป็นเจ้าของซากเรือ จึงได้ประกาศห้ามการซื้อ และขายสรรพสิ่งที่เป็นของเรือและอยู่ในเรือ

แต่เมื่อถึงเดือนมกราคมปี 2012 รัฐบาลอังกฤษก็ได้ประกาศมอบซากเรือ Victory ให้มูลนิธิ The Maritime Heritage จัดส่งคนลงไปสำรวจและศึกษาซาก โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่ต้องการใช้เงินภาษีของราษฎรไปในการบริหารซากเรือ

เหตุการณ์นี้ทำให้นักโบราณคดีอังกฤษหลายคนไม่พอใจ เพราะเห็นว่า Odyssey เป็นบริษัทเอกชนที่มุ่งกำไรจากการค้าวัตถุโบราณ จึงไม่ควรเข้ามาจัดการทรัพย์สมบัติของชาติ

ถึงวันนี้การโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่ารัฐบาลอังกฤษซึ่งไม่ประสงค์จะลงทุนมากเพื่อค้นหา “สมบัติใต้ทะเล” ด้วยเงินภาษีของประชาชน แต่จะให้บริษัทเอกชนมีสิทธิ์ค้นหาแทน การกระทำเช่นนี้จะถูกนำมาอ้างสิทธิทางวัฒนธรรมกับสิทธิเจ้าของ “สมบัติ” ได้อย่างไร กรณีนี้จึงเป็นกรณีตัวอย่างของการศึกษาโบราณคดีใต้ทะเลที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการสำรวจใต้น้ำได้ทำให้นักโบราณคดีพบซากเรือจำนวนมากจมอยู่ในทะเลโดยเฉพาะในทะเลจีน

ประวัติศาสตร์โลกมีบันทึกว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ศูนย์กลางการค้าของโลกมี 2 แห่งที่จีน และอาหรับ ในขณะที่อาณาจักรจีนซึ่งปกครองโดยจักรพรรดิในราชวงศ์ Tang มีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลจีนใต้ไปจรดพรมแดนของเปอร์เซีย มีอาณาจักรศูนย์กลางอยู่ที่เมือง Changan หรือ Xian ในปัจจุบัน

ส่วนอาณาจักรอาหรับนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่นคร Baghdad และถูกปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์ Abbasid อาณาจักรมีพรมแดนทางทิศตะวันออกจรดแม่น้ำสินธุ และทางตะวันตกจรดประเทศสเปน โดยชนชาติทั้งสองได้แลกเปลี่ยนสินค้า รวมถึงเผยแพร่ศาสนา และถ่ายทอดความรู้ให้กัน ตามเส้นทางสายไหม (Silk Road) ซึ่งมีทั้งทางบกและทางทะเล

แต่คนส่วนใหญ่รู้จักเส้นทางสายไหมที่เป็นทางบก และไม่รู้จักเส้นสายไหมทางทะเลที่มีต้นทางอยู่ที่จีน แล้วมุ่งลงทางใต้อ้อมแหลมมลายู เข้ามหาสมุทรอินเดียไปจนถึงเมืองท่าปลายทางที่อ่าวเปอร์เซีย

ชาวจีนในสมัยราชวงศ์ถังต้องการไข่มุก ปะการัง งาช้าง และไม้หอมที่มีมากในดินแดนอาหรับ รวมถึงพรมที่ทอในเปอร์เซีย และในเวลาเดียวกัน จีนก็ส่งกระดาษ หมึก ไหม เข็มทิศ เครื่องลายคราม และดินปืนไปขายในดินแดนอาหรับ

สำหรับการขนส่งไหมนั้นจีนใช้สายไหมเส้นทางบกเป็นเส้นทางในการคมนาคม แต่เมื่อถีงคริสต์ศตวรรษที่ 9 เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในจีนเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น การขนส่งเครื่องปั้นดินเผาทางบกจึงไม่คุ้มค่าอีกต่อไป เพราะเครื่องปั้นเวลาตกจะแตก

ดังนั้นในการติดต่อค้าขาย พ่อค้าจึงหันไปใช้ทะเลเป็นเส้นทางค้าขาย และเป็นที่นิยมมาก แม้จะเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตรายจากการถูกโจมตีด้วยโจรสลัด และเรืออาจอับปางเวลาเกิดพายุพัดรุนแรง ทำให้เรือสินค้าจากจีน และจากอาหรับอับปางบ่อย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ดังที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในปี 1405 จักรพรรดิจีนได้ส่งนายพลเจิ้งเหอ (Zheng He) ให้เดินทางจากจีนไปทางทิศตะวันตก เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับผู้ครองนครและทำการค้าขายกับพ่อค้าต่างแดน รวมถึงได้รวบรวมสินค้าราคาแพง เช่น เครื่องเทศและสัตว์ชนิดแปลกๆ เพื่อนำกลับจีน

คือ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1405 จักรพรรดิจีน Yung Lo ทรงบัญชาให้ Zheng He นำกองกำลังซึ่งประกอบด้วยเรือ 250 ลำและเจ้าหน้าที่ 30,000 คน เดินทางไกล โดยมีเรือมหาสมบัติขนาดใหญ่ชื่อ Baochuan ที่ยาว 62 เมตร มีเสากระโดงเรือ 6 เสา มีดาดฟ้าหลายชั้น เพื่อใช้บรรทุกอาหาร และเสบียงต่างๆ สำหรับการเดินทางไกลที่ต้องใช้เวลานานหลายปี และเรือได้บรรทุกเครื่องปั้นดินเผา แพรไหม ทองคำ เงิน และเครื่องลายครามต่างๆ ไปเพื่อใช้ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ในต่างแดน โดยที่จักรพรรดิ Lo มิได้ทรงประสงค์จะยึดครองดินแดนที่ Zheng He ไปเยือน แต่ทรงประสงค์จะให้เหล่าเจ้าเมืองส่งส่วยบรรณาการมาถวายพระองค์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีมากกว่า

ขบวนเรือของ He ได้ออกเดินทางจากเมือง Nanjing ในมณฑล Quanzhou ไปถึงอินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยการเดินทางครั้งแรก ขบวนเรือได้ผ่านทะเลจีนใต้ถึง Qui Nhon ในเวียตนาม Surabanya และ Palembang, Malacca, Semudera ในอินโดนีเซีย และ He ก็ได้นำเจ้าชายแห่ง Palembang ไปถวายแด่จักรพรรดิจีนในฐานะเชลยด้วย

ในการเดินทางครั้งต่อๆ มา ขบวนเรือได้ไปถึง Chittapong ในพม่า ข้ามอ่าว Bengal ถึง Galle ในศรีลังกา และถูกชาวสิงหลโจมตี เพราะคิดว่า He ยกกองทัพมารุกราน เมื่อปราบผู้ก่อการร้ายได้แล้ว He ได้จับกษัตริย์แห่ง Ceylon กลับจีนในฐานะนักโทษ และได้แวะพักที่ Kozhikodi ในอินเดีย

ในปี 1412 แม่ทัพ He ได้เดินทางข้ามมหาสมุทรอินเดียอีกคร้งหนึ่ง ไปจนถึงอ่าว Persia และช่องแคบ Hormuz ของอิหร่าน โดยแวะที่ Lasa ใน Yemen, Aden, Jeddah, Mecca และ Medina ใน Saudi Arabia เพื่อนำกำยาน และยางไม้หอมกลับจีน

สำหรับการเดินทางในปี 1421 นั้น He ได้ขึ้นฝั่งที่ Mogadishu ใน Melindi (ประเทศ Kenya ในปัจจุบัน) เมื่อกลับถึงจีนในปี 1433 เขาได้นำยีราฟ และม้าลาย รวมถึงงานศิลปะที่ทำจากอัญมณีแปลกๆ ไปถวายองค์จักรพรรดิด้วย

การเดินทางท่องทะเลของ He ในภาพรวม มิใช่เพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพจีน เพราะองค์จักรพรรดิ มิได้ทรงประสงค์จะยึดครองดินแดนใดๆ ดังนั้นการเดินทางของ He จึงแตกต่างจากการส่งกองทัพนักล่าอาณานิคมของกษัตริย์สเปน โปรตุเกส อังกฤษ และฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง การเดินทางของ He ทั้ง 7 ครั้งนั้น มีเรืออับปางหลายลำ ณ สถานที่ต่างๆ กัน แต่นักประวัติศาสตร์มิได้บันทึกเหตุการณ์เรืออับปางเหล่านั้น ดังนั้นการศึกษาเรือจีนที่จมจึงสามารถบอกอะไรๆ ได้มากเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสร้างเรือของจีนยุคนั้น สินค้าที่จีนนำไปขาย และเผยแพร่ ฯลฯ

ถึงปี 1999 นักดำน้ำได้เห็นเรืออาหรับที่ยาว 18 เมตร และกว้าง 6.5 เมตร จมอยู่ในทะเลใกล้เมือง Banda Aceh ของอินโดนีเซียที่ระดับลึก 18 เมตร ภายในเรือไม่มีเข็มทิศช่วยในการเดินทาง แต่มีเครื่องปั้นดินเผา เหรียญเงิน ทองคำ ประมาณ 60,000 ชิ้น การวัดอายุของถ้วยชามที่พบแสดงให้เห็นว่า มันถูกทำขึ้นจากเตาเผาในแคว้น Hunan ของจีน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 และเรือได้จมลงประมาณ ค.ศ.826 ตัวเรือมีโครงสร้างแบบเรืออาหรับ (baitl garib) และเรือถูกประกอบขึ้นที่ Oman โดยใช้ไม้แอฟริกัน และไม้สักในการสร้าง การสร้างเรือไม่ได้ใช้ตะปูในการเชื่อม แต่ใช้วิธีประสานไม้เข้าด้วยกันตามช่องที่เจาะ แล้วใช้ยาชันอุดรูรั่ว

นักประวัติศาสตร์ไม่มีข้อมูลว่าเรืออาหรับลำนี้เริ่มเดินทางออกจากท่าเรือใด เพราะไม่ได้พบบันทึกใดๆ บนเรือ และไม่พบแผนที่ด้วย แต่ก็ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เรือจะเดินทางไป Basra ในตะวันออกกลาง โดยออกเดินทางจากเมือง Ganzhou ในจีน ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของจีนในเวลานั้น

นอกจากนี้ก็ยังได้พบขวดหมึก 763 ขวบ ขวดบรรจุเครื่องเทศ 915 ขวด เหยือก 1,635 ใบ การสังเกตเห็นลวดลายบนถ้วยชามมีทั้งที่เป็นดอกบัวตามศิลปะจีน และที่เป็นลวดลายเรขาคณิตตามศิลปะอาหรับ ส่วนสีของถ้วยชามส่วนใหญ่เป็นสีเขียวซึ่งเป็นสีที่นิยมในอิหร่าน และภาพวาดบนภาชนะปรากฏเป็นสัตว์คู่ เช่น นกคู่ กวางคู่ และแพะคู่ ซึ่งแสดงว่ามันเป็นของขวัญที่นำไปให้ในพิธีแต่งงาน

ในยุคราชวงศ์ถัง จีนได้เปิดประเทศโดยการทำการค้ากับต่างชาติ แต่ในเวลาต่อมา จีนเริ่มไม่ไว้ใจชาวต่างชาติ และเชื่อในคำสอนของขงจื้อที่ว่า การค้าขายอย่างมีกำไรไม่ควรเป็นตัวกำหนดค่านิยมของจีน

ดังนั้นใน ค.ศ.878 นายพลจีนชื่อ Huang Chao จึงสังหารชาวมุสลิม ชาวคริสเตียน และคนยิวที่อาศัยอยู่ในเมือง Guanzhou นับหมื่น แล้วจีนก็ปิดประเทศ เลิกการใช้เส้นทางสายไหมทั้งทางบก และทางทะเลอย่างสิ้นเชิง

เวลาได้ผ่านไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 เมื่อชาวยุโรป ได้กลายเป็นชนชาติมหาอำนาจทางการค้า และเริ่มมีอิทธิพลในการครองโลกตั้งแต่นั้นมา

คำถามที่ทุกคนสงสัยคือ ถ้าจีนไม่ปิดประเทศ โลกจะเป็นเช่นไร ไม่มีใครรู้

แต่ก็มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ทุกวันนี้จีนกำลังโหมการค้าขายกับต่างชาติ โดยเฉพาะกับแอฟริกา และตะวันออกกลางอีก โดยมีการขายสินค้าหนัก รถไฟความเร็วสูง เครื่องบิน และเทคโนโลยีจรวด ฯลฯ การค้าลักษณะนี้ จะดำเนินไปอีกนานเพียงใด ไม่มีใครคาดหวังได้ หรือจะจบลงในลักษณะของเส้นทางสายใหม่เดิม ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้เช่นกัน

การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ของชาติเรา จากหลักฐานที่ยังจมอยู่ในอ่าวไทย และแม่น้ำต่างๆ น่าจะทำให้เรารู้ประวัติศาสตร์ของชาติเราดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติมจาก Historical Archaeology โดย Charles E. Orsar Jr. จัดพิมพ์โดย Upper Saddle River, New Jersey: Pearson Education, Inc. ปี 2004






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น