ฟู๊ดอินโนโพลิสเปิดบ้านโชว์ความพร้อมเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก ผนึก 17 หน่วยงาน เสริมทัพขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหาร ชูความร่วมมือ “อภัยภูเบศร” ประเดิมเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยนวัตกรรมอาหารสุขภาพด้วย “รางจืด” เป็นตัวแรก ตอบโจทย์นายกฯ สมุนไพรต้องมีที่ยืนในตลาดโลกและเติบโตแบบก้าวกระโดดภายใน 1 ปี
โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู๊ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) จัดกิจกรรมเปิดบ้านให้สื่อมวลชนเข้าชมพื้นที่เป็นครั้งแรก ณ ฟู๊ดอินโนโพลิส อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC2) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 17ก.พ.60 พร้อมทั้งกิจกรรมขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหารกับ 17 หน่วยงาน ประกอบไปด้วยภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย และลงนามความร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรยกระดับการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมอาหารสุขภาพและสารสกัดสมุนไพร
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นเจ้าภาพหลักในการเดินหน้าโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร เมื่อวันที่ 16 พ.ค.59
สวทน.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ประสานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาสิทธิประโยชน์ สิ่งจูงใจรวมทั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดบริษัทอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนในประเทศไทย ต่อมาในวันที่ 27 พ.ค.60 ได้มีการลงนามความร่วมมือ 35 หน่วยงาน ซึ่งมีทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อร่วมสร้างเมืองนวัตกรรมอาหารขึ้นในประเทศไทย
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า การเปิดบ้านครั้งนี้ จึงไม่ถือเป็นการเริ่มต้นทำงาน แต่เป็นการรายงานความสำเร็จของโครงการตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะเดินหน้าพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหารให้ไปสู่เป้าหมายของประเทศไทยคือการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือกับคลัสเตอร์สมุนไพรภาคตะวันออก อย่างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารสมุนไพรนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เนื่องจากสอดคล้องกับแนวโน้มและทิศทางตลาดอุตสาหกรรมอาหารของโลก
“รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศมากว่า 30 ปี เมื่อทำงานร่วมกับเครือข่ายของเมืองนวัตกรรมอาหารที่มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมจึงเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารสมุนไพรสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างแน่นอน และเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเห็นตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใน 1 ปี” เลขาฯ สวทน. กล่าว
ด้าน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ กรรมการผู้จัดการเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา คณะทำงานฟู๊ดอินโนโพลิส ได้ทำงานกันอย่างหนัก มีการเดินสายพบปะและเชิญทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ตลอดจนเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงาน มีผู้สนใจและแสดงความจำนงเข้ามาร่วมงานหลายราย จนนำมาสู่ความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย และขณะนี้เราเหลือพื้นที่ล็อตสุดท้ายแล้วที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาใช้บริการ และในอนาคตก็จะขยายเมืองนวัตกรรมอาหารโดยเลือกพื้นที่เครือข่ายที่มีศักยภาพเป็นหัวเมืองตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อความสะดวกในการประสานงานทั่วประเทศ ไม่ให้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในพื้นที่ส่วนกลางอย่างเดียว
“ความร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถือเป็นโอกาสอันดี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรด้วยนวัตกรรมอาหารแล้ว ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วย และด้วยความเข้มแข็งของโรงพยาบาลฯ ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีการขยายผลให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็น เมืองนวัตกรรมอาหารสมุนไพรและเป็นหัวเมืองตะวันออกที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศกัมพูชา ซึ่งเริ่มมีการติดต่อเพื่อทำความร่วมมือกันแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่จะพัฒนาไปสู่อาหารสุขภาพคือ รางจืด ซึ่งประเทศไทยได้ทำวิจัยไว้มากมายมีสรรพคุณครอบจักรวาล สามารถพัฒนาต่อยอดได้ภายในเวลา 1 ปี ” ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหารกล่าว
นอกจากนี้ในส่วนของภาคเอกชนที่ได้ลงนามความร่วมมือในวันนี้คือบริษัท นำเชา ผู้ผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากข้าวหอมมะลิรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยใช้ข้าวหอมมะลิ 100% ในการผลิต และซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในประเทศไทยถึงวันละ 50 ตัน โดยทางบริษัทฯ เห็นถึงศักยภาพของเมืองนวัตกรรมอาหารจึงมาร่วมมือเพื่อต้องการการสนับสนุนองค์ความรู้ งานวิจัย และบุคลากรด้านการพัฒนานวัตกรรมข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ให้มากยิ่งขึ้น โดยคาดหวังที่จะสร้างฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน