xs
xsm
sm
md
lg

อยู่ก้นมหาสมุทรยังหนีไม่พ้นสารเคมีจากขยะพลาสติก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า <I>ฮิรอนเดลเลีย กิแกส (Hirondellea gigas) </I>ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรลึก และกินอาหารที่ตกจากผิวน้ำสู่ก้นมหาสมุทร และได้รับสารพิษที่มาพร้อมกับอาหารเหล่านั้นด้วย (Dr. Alan JAMIESON / NATURE PUBLISHING GROUP / AFP)
นักวิทยาศาสตร์พบสารเคมีที่ประกาศห้ามใช้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตกค้างในสิ่งมีชีวิตกินซาก ซึ่งอาศัยอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรถึง 11 กิโลเมตร และเปรียบเทียบแล้วยังมีปริมาณสารค้างมากกว่าสัตว์น้ำในแม่น้ำของจีนที่มีสารเคมีปนเปื้อนมากที่สุดเสียอีก

เอเอฟพีเผยรายงานผลงานศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์อีโอโลจีแอนด์อีโวลูชัน (Nature Ecology & Evolution) พบว่า สัตว์น้ำเปลือกแข็งที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรที่ลึกที่สุด มีการปนเปื้อนสารเคมีซึ่งถูกห้ามใช้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

แม้ว่าสัตว์กินซากเหล่านั้นจะอยู่ลึกลงไปใต้มหาสมุทรเกือบ 11 กิโลเมตร แต่ก็ยังมีระดับการปนเปื้อนสารเคมีที่ใช้ในเครื่องทำความเย็นและของเหลวสำหรับเป็นฉนวนกันร้อน โดยคาดว่าสารปนเปื้อนนั้นน่าจะมีจากขยะพลาสติกและสัตว์ตายแล้วที่จมสู่ก้นมหาสมุทร

ด้าน อลัน เจมีสัน (Alan Jamieson) จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) ในอังกฤษ ผู้ร่วมศึกษาครั้งนี้บอกว่า จริงๆ แล้วทีมศึกษาเชื่อว่าที่มหสมุทรลึกๆ นั้นเป็นอาณาเขตที่ห่างไกลและบริสุทธิ์ ไม่ได้ผลกระทบจากมนุษย์ แต่งานวิจัยของพวกเขาได้เผยให้เห็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่ไกลเกินจะเป็นจริง

ในการศึกษาครั้งนี้เจมีสันและทีมใช้ยานสำรวจใต้น้ำที่สร้างขึ้นมาพิเศษ เพื่อเก็บตัวอย่าง “แอมฟิพอด” (amphipod) สัตว์ที่อาศัยอยู่ก้นมหาสมุทร จากร่องลึกมารินาเทรนช์ (Mariana trench) ซึ่งลึกกว่าความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ และร่องลึกเคอร์มาเดคเทรนช์ (Kermadec trench) ที่อยู่ในมหาสุทรแปซิฟิก

บริเวณร่องลึกดังกล่าวเป็นบริเวณที่ลึกที่สุด ดำมืดที่สุดในโลก และมนุษยชาติมีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่นี้น้อยกว่าพื้นผิวดวงจันทร์เสียอีก ซึ่งแอมฟิพอดนั้นเป็นหนึ่งสิ่งมีชีวิตไม่กี่ชนิดที่สามารถอยู่รอดได้ในเขตที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากมีความดันสูงจนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ทีมวิจัยใช้ปลาแมคเคอเรลเป็นเหยื่อล่อเพื่อจับสัตว์กินซากที่หน้าตาคล้ายกุ้งนี้ จากนั้นนำไปวิเคราะห์เพื่อหารองรอยของสารเคมี ซึ่งผลทดสอบเผยการปนเปื้อนระดับสูง ในจำนวนสารเคมีทั้งหมดที่ปนเปื้อนในแอมฟิพอดนั้นพบว่ามี “โพลีคลอริเนตเต็ดไบฟีนิลส์” (polychlorinated biphenyls) หรือ PCBs ซึ่งถูกห้ามใช้มาเกือบ 40 ปี เนื่องจากเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและทำลายฮอร์โมน

เจมีสันกล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขาได้พบการปนเปื้อนสารเคมีดังกล่าวในระดับสูงผิดปกติในสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากจะเข้าถึงที่สุดในโลกนั้น ย้อนกลับมาถึงการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อโลกใบนี้ในระยะยาว

พื้นที่ศึกษาของงานวิจัยนี้อยู่ในเขตน้ำลึกในระบบนิเวศทะเล (hadal zone) ของมหาสมุทรที่ความลึกระหว่าง 6-11 เมตร และร่องลึกในทะเลที่เกิดจากกิจกรรมของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งทีมวิจัยระบุในรายงานวิชาการว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นระบบนิเวศบนโลกที่มีการสำรวจน้อยที่สุด และเป็นพรมแดนระบบนิเวศทางทะเลขนาดใหญ่แหล่งสุดท้าย

ทั้งนี้ เชื่อว่ามีพลาสติก PCBs ราว 1.3 ล้านตัน ถูกผลิตขึ้นระหว่างทศวรรษ 1930-1970 ซึ่งพลาสติกเหล่านี้คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายทศวรรษ และคาดว่ามีพลาสติกเหล่านี้ 65% อยู่ในหลุมฝังกลบขยะ หรือยังคงอยู่ในอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้ และอีก 35% ที่เหลือยู่ตามชายฝั่งและพื้นที่เปิดของมหาสมุทร

นักวิทยาศาสตร์ยังพบร่องรอยของสารปนเปื้อนที่คงอยู่ได้ยาวนานชนิดอื่นๆ อีกในแอมฟิพอด เช่น โพลีโบรมิเนตเต็ดไดฟีนีลอีเธอร์ (polybrominated diphenyl ethers) หรือ PBDEs ซึ่งใช้เป็นสารป้องกันการลามไฟ

ทีมวิจัยเขียนรายงานว่า พบทั้ง PCBs และ PBDEs ในตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทั้งหมดทุกสปีชีส์และที่ทุกระดับความลึก จากทั้ง 2 ร่องลึกในมหาสมุทร โดยตัวอย่างสิ่งมีชีวิตจากมารินาเทรนช์ซึ่งเป็นบริเวณที่ลึกที่สุดในโลกนั้นมีระดับ PCBs มากกว่า 50 เท่า ของระดับสารปนเปื้อนที่พบในปูในแม่น้ำเหลียวเหอ (Liaohe River) ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำของจีนที่มีการปนเปื้อนมากที่สุด

ทีมวิจัยอนุมานว่า สารปนเปื้อนนั้นจะต้องแพร่กระจายไปทั่วมหาสมุทรของโลก และทับถมสูงร่องลึกของมหาสมุทร ซึ่งเจมีสันกล่าวระหว่างการแถลงการค้นพบครั้งนี้ว่า สิ่งที่ทีมยังไม่ทราบคือสิ่งที่พบนี้ส่งผลต่อระบบนิเวศในวงกว้างอย่างไร จะเกิดอะไรเมื่อสัตว์กินแอมฟิพอดที่ปนเปื้อนเข้าไป แล้วห่วงโซ่อาหารในระดับที่สูงขึ้นจะเป็นอย่างไร
<I>ฮิรอนเดลเลีย กิแกส (Hirondellea gigas) </I> อาศัยอยู่ในมหาสมุทรลึกตั้งแต่ 6,000 เมตร ลงไปถึง 11,000 เมตร ซึ่งงานวิจัยพบว่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ลึกขนาดนี้ยังพบการปนเปื้อนสารเคมีที่ถูกห้ามใช้มา 40 ปีแล้ว (Dr. Alan JAMIESON / NATURE PUBLISHING GROUP / AFP)






กำลังโหลดความคิดเห็น