xs
xsm
sm
md
lg

มหาอุทกภัยกับการถือกำเนิดของอารยธรรมจีน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพน้ำท่วมที่จีนเมื่อปี 2014 (AFP)
แทบทุกชาติในโลกมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำท่วมใหญ่ และที่โด่งดังที่สุด คือ ตำนานน้ำท่วมโลกในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา เทพนิยายกรีกก็มีเรื่องเล่าว่า บุตรของ Prometheus เทพเจ้าแห่งไฟมีนามว่า Deucalion ได้รับคำเตือนจากพระบิดาว่า เทพ Zeus ประสงค์จะสังหารมนุษย์โดยบันดาลให้น้ำท่วมโลก Deucalion จึงลงมือต่อเรือทัน และรอดชีวิต คำจารึกในแผ่นดินเหนียวของชาวบาบิโลนมีการกล่าวถึงเทพ Ea ว่าทรงปกป้องเมืองให้รอดพ้นจากน้ำท่วมที่ไหลทะลักมาจากนรก ภาพแกะสลักที่กำแพงนครวัตมีแสดงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ แต่ในอาณาจักรของกษัตริย์ Manu ทรงขัดขวางไว้ได้ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากปลายักษ์ที่พระองค์เคยช่วยชีวิต

ในปี 1918 นักมานุษยวิทยาชาวสก็อตชื่อ James Frazer ได้พยายามสืบค้นหาเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำท่วมใหญ่ของชนชาติต่างๆ ตั้งแต่ชนชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งได้กล่าวถึงเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว และคลื่น tsunami ในทะเลได้พุ่งเข้าฝั่งทำลายสิ่งมีชีวิตและสิ่งก่อสร้างบนเกาะจนราบคาบ ชาวอินเดียนแดงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียในดินแดน British Columbia ของแคนาดาก็มีเรื่องน้ำท่วมโลกเช่นกันว่าเกิดจากการต่อสู้ระหว่างวาฬในมหาสมุทรกับนกยักษ์บนฟ้า ความรุนแรงของการต่อสู้ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์ได้ถาโถมเข้าถล่มฝั่ง ทำให้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิต และเรือเล็กเรือน้อยต้องลอยขึ้นไปติดค้างอยู่บนยอดไม้ เหตุการณ์น้ำท่วมดังที่กล่าวมานี้เกิดจากคลื่น tsunami ในทะเล

แต่สาเหตุของน้ำท่วมใหญ่อาจมาจากสาเหตุบนยอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม โดยเฉพาะในแถบเทือกเขาของประเทศแถบ Scandinavia, Tibet และอเมริกาเหนือ เวลาธารน้ำแข็งขนาดใหญ่บนเทือกเขาละลาย มวลน้ำปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นได้ไหลท่วมที่ราบ ดังที่ W. Ryan และ W. Pitman ได้อธิบายสาเหตุที่น้ำท่วมโลกในไบเบิลในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าเกิดจากการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรและทะเล Mediteranean ไหลทะลักท่วมดินแดน Mesopotamia จนฝั่งของแม่น้ำ Tigris และ Euphrates พังทลาย และในปี 2008 พายุ cyclone ชื่อ Nargis พัดเข้าถล่มดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Irrawaddy ของพม่า ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ และผู้คนเสียชีวิตไปประมาณ 130,000 คน

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมโลกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จาก tsunami จากการละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลก หรือจากพายุไต้ฝุ่นที่พัดถล่มพื้นที่ต่ำ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำใหญ่ต่างๆ ของโลก

จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และภัยน้ำท่วมอย่างสม่ำเสมอ การต่อสู้เพื่อเอาชนะภัยทั้งสองชนิดนี้ คนจีนมิได้กระทำไปเพียงเพื่อการอยู่รอด แต่เพื่อสร้างอารยธรรมของชาติซึ่งมีทั้งด้านการเมือง วัฒนธรรม ศิลปะ ปรัชญา หรือแม้กระทั่งภาษา

เพราะจีนมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นบ่อยะตลอดเวลานับพันปี ในบริเวณแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลือง หรือที่รู้จักในอีกนามหนึ่งว่า แม่น้ำวิปโยค วิกฤตการณ์น้ำท่วม ในแต่ละครั้งได้ทำให้ผู้คนนับล้านเสียชีวิต บ้านเรือนจำนวนมากพังทลาย เกษตรกรนับล้านคนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เป็นเวลานาน ภาวะทุพภิกขภัยที่เกิดขึ้นจึงร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ฮวงโหจึงเป็นแม่น้ำสายหนึ่งของจีนที่สามารถคร่าชีวิตและทำอันตรายภูมิประเทศได้อย่างมหาศาล

นักภูมิศาสตร์ได้พบว่า ที่ราบสูง Qinghai-Tibet เป็นสถานที่ให้กำเนิดแม่น้ำสายนี้ ที่ไหลสู่อ่าว Bohai ตลอดเส้นทางที่คดเคี้ยวยาวประมาณ 5,000 กิโลเมตร แม่น้ำได้ไหลผ่านมณฑล Shansi และ Shensi ที่มีดินสีเหลือง สายน้ำจึงมีสีเหลืองดังชื่อ และเมื่อแม่น้ำไหลผ่านมณฑล Honan ที่อุดมสมบูรณ์ กระแสน้ำที่เชี่ยวรุนแรงได้พัดพาโคลนเลนไปด้วยในปริมาณมาก จึงทำให้เกิดสันดอนตลอดเส้นทางการไหลของน้ำ และท้องน้ำได้ตื้นเขินขึ้นๆ โอกาสที่น้ำจะท่วมจึงเกิดขึ้นได้มากขึ้น

คนจีนโบราณมีเรื่องเล่าที่บรรยายเหตุการณ์แม่น้ำฮวงโหท่วมหลายเรื่อง ดังที่ Sima Qian ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์จีนได้เขียนบันทึกในหนังสือ Shujung และ Shiji ว่า เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน ได้เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ เพราะพญามังกรที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำฮวงโหทรงพิโรธ และทรงว่ายน้ำขึ้นมาอาละวาดทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ จนองค์กษัตริย์ Yu ต้องเสด็จมาสังหารพญามังกร และทรงจัดการระบายน้ำกับทดน้ำจนพลเมืองชาวจีนของพระองค์ปลอดภัย ความสำเร็จในการบังคับและควบคุมน้ำท่วมในครั้งนั้น ได้ทำให้พระองค์ในฐานะวิศวกรชลประทานทรงจัดตั้งราชวงศ์ Xia ขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมจีน
ทหารจีนช่วยประชาชนขนย้ายสิ่งของหนีน้ำท่วม (Reuters)
เรื่องเล่านี้ได้มีปรากฏอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ของจีน และได้ถูกเล่าถ่ายทอดจากปากสู่ปากมาเป็นเวลานานกว่าพันปี ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานทางธรณีวิทยาใดๆ มาสนับสนุน

แต่เมื่อถึงวันนี้นักโบราณคดีชื่อ Qinglong Wu แห่งสถาบัน School of Archaeology and Museology ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กับคณะได้รายงานในวารสาร Science ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.2016 นี้ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริงเมื่อ 1922 ± 28 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปลายยุคหินใหม่ (Late Neolithic) กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคสำริดตอนต้น (Early Bronze Age) และกษัตริย์ Yu ได้ทรงบัญชาให้ชาวจีนในประเทศขุดคลองระบายน้ำ เพื่อให้น้ำหยุดท่วม พระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงดำเนินการเรื่องนี้เพื่อให้แผ่นดินจีนปราศจากเหตุการณ์น้ำในแม่น้ำฮวงโหไหลท่วม คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้อารยธรรมจีนอุบัติ

นักประวัติศาสตร์จีนหลายคนได้ตั้งประเด็นสงสัยในความเป็นเท็จหรือความเป็นจริงของเรื่องเล่านี้ จึงได้ระดมกำลังกันวิเคราะห์ตะกอนดินในซากปรักหักพังตามบริเวณที่อ้างว่าน้ำเคยท่วม โดยได้ศึกษาวิเคราะห์โคลนในบริเวณต้นน้ำ ในบริเวณโตรกภูเขา Jishi และในที่ราบ Guanting รวมถึงได้วิเคราะห์ซากศพที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมด้วย

การวัดอายุของวัตถุโบราณโดยใช้เทคนิคคาร์บอน -14 แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในบริเวณนี้เกิดขึ้นสองครั้ง คือ เมื่อ 2129 - 1770 ปีก่อนคริสตกาลกับเมื่อ 2020 - 1506 ปีก่อนคริสตกาล (เวลาที่แตกต่างกันเกิดจากวัตถุตัวอย่างที่เก็บได้ในสถานที่แตกต่างกัน) อนึ่งการวัดอายุของกระดูกเด็ก 3 คนที่มีอายุตั้งแต่ 6-13 ปี ซึ่งได้เสียชีวิตเพราะจมน้ำตาย ทำให้นักวิชาการได้ข้อสรุปว่า เมื่อ 1922(+/-)28 ปีก่อนคริสตกาล ได้เกิดมหาอุทกภัยในจีนครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอนที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โดยมวลน้ำปริมาตร (0.08-0.51)x 106 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่

ตามบันทึกที่ปรากฏในตำรา Shiji สมเด็จพระราชบิดาในกษัตริย์ Yu ได้ทรงพยายามระบายน้ำเป็นเวลานาน 9 ปี ต่อจากนั้นกษัตริย์ Yu ได้ทรงพยายามต่อไปอีก 13 ปี โดยพระองค์ทรงจัดสร้างระบบคมนาคมทางน้ำ เช่น ขุดคลองระบายเพื่อไม่ให้ที่นาถูกน้ำท่วม แม้พระองค์จะมิได้ทรงแหวกน้ำเหมือน Moses ในคัมภีร์ไบเบิล แต่ผลงานด้านวิศวกรรมชลประทานของพระองค์ทรงทำให้น้ำลด ภัยน้ำท่วมจึงลดความรุนแรง และการมีระบบคลองในพื้นที่ทางใต้ของประเทศ ทำให้การขนส่งผลิตผลทางการเกษตรจากชุมชนตอนใต้สามารถไปถึงชุมชนทางตอนเหนือได้สะดวกขึ้น ทุกวันนี้ คลอง Grand Canal ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเหลืองก็ยังมีอยู่

ปัจจุบัน จีนมีโครงการระบายน้ำจากทางใต้ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์สู่ทางเหนือที่ขาดแคลนน้ำ โดยผ่านระบบคลองสามสายออกจากแม่น้ำแยงซี โดยจะขนน้ำ 45,000 ล้านลูกบาศก์เมตรออกไป ในยามที่มีน้ำมากเกินความต้องการผ่านทางอุโมงค์ ซึ่งสร้างด้วยงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท

ในปี 2007 เมื่อแม่น้ำเหลือง “เหือดแห้ง” บางตอนคนจีนนับล้านต้องประสบปัญหาการอยู่รอด เพราะไม่มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม การมีคลองในอีก 10 ปีต่อมา ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

การต่อสู้กับการบริหารจัดการน้ำได้เป็นปัญหาของจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ และปัญหานี้กำลังได้รับการแก้ไขด้วยความสามารถทางวิศวกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะจากบรรดาผู้นำของประเทศ เช่น กษัตริย์ Yu, Deng, Xiaoping และ Hu Jintao ซึ่งเป็นวิศวกรผู้มีวิสัยทัศน์ในโครงการวิศวกรรมขนาดใหญ่ทั้งสามคน

ประเทศไทยเรายังไม่มี นายกรัฐมนตรีที่มีพื้นฐานเป็นวิศวกร ถ้ามี ปัญหาภัยธรรมชาติของประเทศเราอาจจะลดความรุนแรงได้บ้าง

อ่านเพิ่มเติมตาก The Water Kingdom: A Secret History of China โดย Philip Ball จัดพิมพ์โดย Bodley Head ในปี 2016






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น