นักวิทยาศาสตร์พบวิธีเอาตัวรอดแปลกๆ ของตุ๊กแกพันธุ์ใหม่ในมาดากัสการ์ หนีการตกเป็นหยื่อด้วยการถอดเกล็ด เหลือแต่ตัวเปลือยๆ หนีนักล่า และใช้เวลาอีกไม่กี่สัปดาห์งอกเกล็ดขึ้นใหม่
ตุ๊กแกพันธุ์ใหม่นี้พบที่มาดากัสการ์ซึ่งทีมวิจัยที่ค้นพบได้รายงานในวารสารเพียร์เจ (PeerJ) วารสารทางด้านวิชาการว่า ตุ๊กแกนี้จะถอดเกล็ดตัวเองจนเหลือตัวเปลือยๆ ก่อนหนีไป โดยทิ้งไว้เพียงเกล็ดในปากของนักล่า ซึ่งการถอดเกล็ดนี้จะเกิดขึ้นในกรณีเฉพาะ จากนั้นเกล็ดจะงอกคืนอีกหลายสัปดาห์ต่อมา
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยสับสนระหว่างตุ๊กแกชนิดนี้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เกคโกเลพิส เมกาเลพิส (Geckolepis megalepis) กับตุ๊กแกอีกชนิดที่อยู่ในวงศ์ตุ๊กแกที่มีเกล็ดแบบปลา และสามารถเปลี่ยนเฉดสีของเกล็ดได้
ทว่าเมื่อพิจารณาทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดแล้ว พบว่าเป็นอีกสปีชีส์ที่ค่อนข้างแตกต่างออกไป และมีเกล็ดที่ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับตุ๊กแกชนิดอื่นๆ และยังมีความสามารถมากกว่าตุ๊กแกอื่นๆ ตรงที่สามารถเปลี่ยนสีได้ดีกว่า หรือลื่นหลุดได้ง่ายกว่า
แถลงจากมหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซิมิเลียนแห่งมิวนิค (Ludwig Maximilian University of Munich) ในเยอรมนี บอกว่า ความสามารถนี้องตุ๊กแกเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการศึกษาตุ๊กแกชนิดนี้
ด้าน มาร์ก สเคิร์ซ (Mark Scherz) ผู้ร่วมศึกษาบอกว่า หนึ่งในวิธีหลักๆ ที่จะแยกชนิดของสัตว์เลื้อยคลานคือลักษณะของเกล็ด แต่ตุ๊กแกชนิดนี้กลับถอดเกล้ดตัวเองได้อย่างง่ายด้วยรูปแบบของเกล็ดที่พร้อมจะหลุด
วิธีจับตุ๊กแกชนิดนี้มีทั้งใช้ม้วนผ้าสำลีหรือล่อตุ๊ก ซึ่งสเคิร์ซเสริมอีกว่า การศึกษาเกคโกเลพิสนี้ต้องคิดนอกกรอบ และตุ๊กแกนี้ก็นับเป็นฝันร้ายของการศึกษาเพื่อจำแนกชนิด หากไม่มีเกล็ด ตุ๊กแกขนาดเท่ากล่องไม้ขีดนี้ก็ดูไม่ต่างจากชิ้นเนื้อไก่ที่มีชีวิต
นอกจากเกล็ดขนาดใหญ่แล้ว ทีมวิจัยยังใช้ไมโครซีทีสแกน (micro-CT scanning) เพื่อตรวจกระดูกว่าแตกต่างจากสปีชีส์อื่นด้วยหรือไม่ เช่น ดูความกว้างและความยาวของกระโหลก
อีกลักษณะที่ทำให้ตุ๊กแก เกคโกเลพิส เมกาเลพิส มีความจำเพาะขึ้นไปอีก คือบริเวณที่เกล็ดและผิวหนังเชื่อมกัน ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กมากกว่าตุ๊กแกเกล็ดปลาสปีชีส์อื่นๆ ทำให้เกล็ดหลุดออกจากผิวหนังได้ง่ายโดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็น
สำหรับชื่อทางวิทยาศาสตร์นั้นมาจากภาษากรีก โดย “เมกา” แทนขนาดใหญ่มากๆ และ “เลพิส” สำหรับแทนเกล็ด และเมกาเลพิสนี้นับเป็นตุ๊กแกสปีชีส์ใหม่ที่พบในรอบ 75 ปี
ทั้งนี้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงตุ๊กแกนั้นได้ชื่อว่ามีความสามารถในการเปลี่ยนสีของร่างกาย ซึ่งบ่อยครั้งจะเปลี่ยนทั้งตัว หรือบางส่วนของหาง เพื่อหนีการโจมตีของนักล่า และทีมนักวิจัยเผยด้วยว่า มีตุ๊กแกบางตัวที่รอดจนถึงตัวเต็มวัยโดยที่หางเดิมไม่หลุดไปไหน
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์สนใจความสามารถในการงอกใหม่ของอวัยวะที่พบในสัตว์เลื้อยคลาน เพื่อนำไปสู่การรักษาทางการแพทย์เพื่อคืนอวัยวะ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะปลูกแขนขาที่เสียไปของผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุ