xs
xsm
sm
md
lg

จิสด้าระดมนักวิชาการพัฒนาศักยภาพดาวเทียมเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จิสด้า ระดมนักวิชาการเตรียมพร้อมพัฒนาศักยภาพดาวเทียมเพื่อการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศ ระบุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิความแปรปรวนของฤดูกาล การกระจายตัวของฝน จะส่งผลกระทบต่อการลดลงของปริมาณผลผลิตภาคการเกษตรโดยตรง

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือจิสด้า จัดสัมมนา "ศักยภาพของดาวเทียมเพื่อการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เมื่อวันที่ 26 ม.ค.60 ที่ผ่านมา ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และหน่วยงานต่างๆ ทีเกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

น.ส.สุภาพิศ ผลงาม รองผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่นานาประเทศกำลังเผชิญ นักวิทยาศาสตร์หลายประเทศคาดการณ์กันว่าภายในปี 2643 การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงถึงปีละ 7% ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่งคงทางด้านอาหารและทรัพยากร สำหรับประเทศไทยของเรานั้น เป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิความแปรปรวนของฤดูกาล การกระจายตัวของฝน จะส่งผลกระทบต่อการลดลงของปริมาณผลผลิตภาคการเกษตรโดยตรง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

"แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่สามารถส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างและยากต่อการแก้ไขได้ เช่น การแพร่ระบาดของแมลง การเกิดโรคระบาด การเกิดพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง และการเสื่อมโทรมของทรัพยากร เป็นต้น ดังนั้นการวิเคราะห์ความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังกล่าว เพื่อประเมินผลกระทบ หาแนวทางเตรียมตัวและปรับตัว ตลอดจนป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนอย่างยิ่ง"

รองผู้อำนวยการฯ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เชิงบูรณาการหลายสาขา รวมทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่ที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง และทันสมัย โดยผ่านการประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ การวางแผน ทั้งเชิงนโยบายและปฏิบัติการ

"ดังนั้น การนำข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีการตรวจวัดอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อมูลดาวเทียมจากแหล่งต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาศึกษาวิจัยด้านภูมิอากาศวิทยา เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของตัวแปรภูมิอากาศต่างๆ ทั้งบริเวณผิวพื้นและในชั้นบรรยากาศ จะช่วยให้เข้าใจและเห็นภาพรวมถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในด้านต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อมูลดาวเทียมสำหรับการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน เป็นการเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์เตรียมพร้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติระดับประเทศและนานาชาติได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย" รองผู้อำนวยการฯ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น