xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากวิกฤตน้ำท่วมภาคใต้กับ สสวท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี
\\\\\\\\ บทความเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวิกฤตน้ำท่วม โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) /////////

ข่าวใหญ่ที่มาพร้อมกันการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน ก็คือพิบัติภัยน้ำท่วมภาคใต้ ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้เรียนรู้และเผยข้อเท็จจริงของสาเหตุวิกฤต น้ำท่วมภาคใต้ที่หลายๆ คนยังไม่ทราบ แบบเข้าใจง่ายๆ รวมทั้งวิธีการปฏิบัติขณะเกิดน้ำท่วม

น้ำท่วม จัดเป็นธรณีพิบัติภัยประเภทหนึ่ง ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนอยู่ในรายวิชาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับ สาเหตุ กระบวนการเกิด พื้นที่เสี่ยงภัย การเฝ้าระวัง และป้องกัน รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากพิบัติภัยต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

ว่าที่ร้อยตรีภูริวัจน์ จิราตันติพัฒน์ สาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษาตอนปลาย สสวท. อธิบายว่า น้ำท่วมเป็นพิบัติภัยที่น้ำไหลบ่าท่วมพื้นดินที่ปกติจะแห้ง โดยมี 2 รูปแบบ ได้แก่ น้ำท่วมบริเวณต้นน้ำ หรือที่เราเรียกว่า น้ำป่าไหลหลาก จะเกิดบริเวณภูเขาที่เป็นแหล่งต้นน้ำที่ประกอบด้วยลำธารเล็กๆ จำนวนมาก เมื่อฝนตกหนักเป็นเวลานาน น้ำจะไหลซึมลงดินไม่ทัน ทำให้ล้นเอ่อมาตามลำธารบนภูเขา และไหลด้วยความเร็วค่อนข้างมาก น้ำจะพัดพาเศษดิน เศษหิน กิ่งไม้มาด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดดินถล่มตามมาได้ และอีกรูปแบบหนึ่ง คือ น้ำท่วมบริเวณปลายน้ำ จะท่วมที่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ซึ่งมีความสูงของพื้นที่ใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล มีปริมาณน้ำจากบริเวณต้นน้ำไหลลงมาจำนวนมาก จนไหลลงสู่ทะเลไม่ทัน ทำให้เกิดเป็นน้ำท่วมขังยาวนานหลายสัปดาห์

สำหรับข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อประสบภัยน้ำท่วมนั้น เมื่อเราเป็นผู้ประสบภัย เราไม่ควรลงไปลุยน้ำ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟรั่ว เราควรหลีกเลี่ยงการลงไปเล่นน้ำ หรือจับปลาที่มากับน้ำท่วม เพราะอาจทำให้จมน้ำได้ เมื่อต้องการอพยพ ก็ควรทำตามแผนอพยพไปอยู่ในสถานที่ๆ ปลอดภัย ไม่ควรใช้รถยนต์ในการหนีน้ำท่วม เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์ดับ หรือถูกกระแสน้ำพัดพาไป

ในกรณีที่เกิดดินถล่ม ให้ระมัดระวังก้อนหิน กิ่งไม้ ที่อาจหล่นมาทับได้ ควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น ฉี่หนู อหิวาตกโรค ควรเก็บขยะไว้ในถุงก่อน เมื่อน้ำลดแล้วจึงนำไปทิ้งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันโรคระบาด หากมีผู้ป่วยต้องการแพทย์ฉุกเฉินให้กด โทร. 1119 และ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โทร. 1111 กด 5 ควรหมั่นติดตามข่าวสารน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที

รศ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี Master Trainer โครงการ GLOBE ของ สสวท. และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่ฝนตกหนัก ปกติจะเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีความแปรปรวนของอากาศค่อนข้างเยอะ ปกติความกดอากาศต่ำหรือแนวฝนที่เกิดขึ้นนั้น มักจะสอดคล้องกับการหมุนของอากาศ ในกรณีที่เคยเกิดขึ้นในปีก่อนหน้านี้ จะมีในลักษณะของลมหมุน แต่ความเร็วสูง ซึ่งเรียกว่าพายุ ตอนที่เกิดน้ำท่วมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น พายุอยู่ใกล้กับไต้หวันและฟิลิปปินส์ แต่หางของพายุส่งฝนมาที่ภาคใต้ของประเทศไทย

ในทางฟิสิกส์ เราไม่ชอบสภาพอากาศที่คงที่ตลอดเวลา เราต้องการอากาศที่มีความแปรปรวนเล็กน้อย เช่น ถ้าแดดออกต่อกันนานๆ ก็จะเกิดความแห้งแล้ง หรือ ถ้าฝนตกติดต่อกันนานๆ ก็จะเกิดน้ำท่วม ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ 2 ครั้งภายในเวลา 1 เดือนคือ ต้นเดือนธันวาคม 2559 และต้นเดือนมกราคม 2560 สร้างความเสียหายมากมาย การเกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ทั้งสองครั้งนี้เกิดมาจากโครงสร้างอากาศที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นลมที่หมุนตลอดเวลา แต่ไม่ใช่พายุ ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน ปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่ในปริมาณมาก เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ทั้ง 2 ครั้ง

หลายคนตั้งคำถามว่าการพัฒนาของเมืองที่สร้างถนนหรือบ้านเรือนขวางทางน้ำ มีผลให้เกิดน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหนนั้น ถ้าเราพัฒนาและวางแผนผังเมืองให้ถูกหลักนิเวศวิทยา สิ่งก่อสร้างก็จะสามารถเป็นมิตรกับระบบนิเวศได้ ทำให้น้ำระบายได้เร็ว ซึ่งเราต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิเวศทางน้ำ เช่น เรื่องของทิศทางการน้ำไหลเข้า น้ำไหลออก ทิศทางน้ำที่ไหลลงจากภูเขาสู่ทะเล

หลายๆ ปีที่ผ่านมา เรามักจะสร้างถนนที่ไม่มีทางระบายน้ำใต้พื้นถนน อาจเป็นเพราะถ้ามีทางระบายน้ำใต้พื้นถนนจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนที่สูง แต่ในทางระบบนิเวศที่ดีที่สุด เราอยากได้ถนนที่น้ำสามารถลอดผ่านด้านใต้ถนนได้ ตัวอย่างเช่น การเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าชายเลน เราก็จะต้องสร้างทางเดินศึกษาธรรมชาติที่น้ำไหลผ่านได้ หรือการสร้างทางเดินศึกษาธรรมในถ้ำ เราก็จะทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในถ้ำที่ปล่อยให้น้ำไหลผ่านได้ เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวไปเหยียบพื้นถ้ำ ทำให้ระงับการเกิดหินงอกหินย้อยจากพื้นถ้ำ ลองจินตนาการดูว่าถ้าเราไปปูทางเดินในถ้ำด้วยพื้นซีเมนต์สำเร็จรูป อย่างไรเสีย ถ้ำก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งปลูกสร้างจึงมีผลแน่นอนต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแน่ๆ

ส่วนใหญ่การสร้างหมู่บ้านจัดสรรจะสร้างในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งการสร้างหมู่บ้านจัดสรรที่ดีควรจะสร้างทางระบายน้ำ ถ้าโครงการพัฒนาต่าง ๆ มีการปลูกสร้างอย่างถูกวิธีเหมาะสม เรื่องของน้ำท่วม ก็เป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ อยู่ที่เราจะเลือกแบบไหน เช่น การสร้างถนนควรมีการเจาะช่องระบายน้ำใต้พื้นถนนมากขึ้น หมู่บ้านจัดสรรควรมีการระบบทางระบายน้ำ หรือแนวฟลัดเวย์ ถ้าเราทำได้แบบนี้ โอกาสที่น้ำจะท่วมก็คงลดลงหรือไม่รุนแรงนัก

ทั้งนี้ สสวท. ได้ดำเนินโครงการ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) เป็นโครงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้นักเรียนทั่วโลกทำงานวิจัยค้นคว้าร่วมกับครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน โดยการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง แม่นยำ สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และครอบคลุมพื้นที่ เพื่อให้สามารถระบุแนวโน้มรูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูล เข้าใจแบบจำลอง และทำนายปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกได้ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจปัญหาและการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกอย่างแท้จริงและยั่งยืน นอกจากนี้ โครงการ GLOBE ยังมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ ในการสืบเสาะหาความรู้และแก้ปัญหา รู้ว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอน สามารถอธิบายและตรวจสอบได้

“โครงการ GLOBE ของ สสวท. จะมีการสร้างองค์ความรู้ ให้นักเรียน ชุมชน เกิดความเข้าใจนิเวศของน้ำ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำทางภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่ง สสวท. มีกลไกที่จะผลักดันด้านนี้ ถ้าหากโรงเรียนสนใจอย่างแพร่หลายขึ้น ก็จะขยายเครือข่ายให้กว้างขวางขึ้น โครงการ GLOBE นี้ บริหารจัดการโดยองค์การนาซ่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ชุมชนทั่วโลกได้เรียนรู้ร่วมกัน ผ่านเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกัน ปัจจุบันโครงการนี้พัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยวัดระดับน้ำ สามารถนำไปใช้ในการติดตามน้ำท่วมภาคนักเรียน ภาคชุมชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง” รศ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี กล่าวทิ้งท้าย

วิกฤติน้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเตรียมตัวรับมือกับปัญหาพิบัติภัยที่อาจเกิดเกิดซ้ำอีกต่อไปในอนาคต
ว่าที่ร้อยตรีภูริวัจน์ จิราตันติพัฒน์








กำลังโหลดความคิดเห็น