xs
xsm
sm
md
lg

ดึงญี่ปุ่นอบรมเทคนิค "คลัสเตอร์คอมพ์" จุดไอเดียวิจัย "ป้องกันประเทศ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.เคนตะ ฮองโกะ
เชิญญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคนิคทดแทน "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์" ในงานสัมมนา "เทคโนโลยีป้องกันประเทศ" จุดประกายนักวิจัยไทยพัฒนาวัสดุใหม่ ด้วยเทคนิค "คลัสเตอร์คอมพิวเตอร์" พร้อมเชิญวิทยากรอังกฤษเล่าประสบการณ์ผลิตและจัดการระเบิด และฟังความรู้พัฒนาจรวดจากนักวิจัยสหรัฐฯ

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม หรือ สทป. ร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 3 (The 3rd ACDT) ระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค.60 ณ โรงแรมเมอริเดียน จ.ภูเก็ต โดยมี พลอากาศเอกพงศธร บัวทรัพย์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และประธานสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นประธานในพิธีจัดงาน

พลเอกสมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการ สทป. กล่าวถึงงานประชุม ACDT ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ด้านงานวิชาการระหว่างนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและนักวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อความมั่นคง

ด้านคณะกรรมการจัดงาน นาวาอากาศตรี ดร.จิระเดช เกิดศรี ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สทป.และ ดร.ปวัตน์ ชูศิลป์ นักวิจัยส่วนงานวิศวกรรมอากาศยาน สทป.ได้ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมและรายละเอียดการจัดงานแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

นาวาอากาศตรี ดร.จิระเดช และดร.ปวัตน์ ระบุว่า การจัดงานประชุม ACDT นั้นจะเน้นการตีพิมพ์ผลงานวิจัย พร้อมทั้งเชิญวิทยากรจากประเทศมาร่วมบรรยายพิเศษ 3 คน รวมถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่นักวิจัยของสถาบัน และนักวิจัยไทยจากสถาบันการศึกษาของไทย

สำหรับวิทยากรผู้บรรยายหลักทั้ง 3 คน ได้แก่ ผศ.เคนตะ ฮองโกะ (Kenta Hongko) จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประยุกต์แห่งญี่ปุ่น (JAIST), ศ.แจคเกอลีน อาคาวาน (Jacgueline Akhavan) จากมหาวิทยาลัยแกรนฟิลด์ (Cranfield University) สหราชอาณาจักร และ ศ.โจเซฟ เอช.กู (Joseph H. Koo) จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสออสติน (University of Texas at Austin) สหรัฐฯ

คณะกรรมการจัดงานระบุว่า วิทยากรทั้ง 3 คนมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ แม้ว่าบางส่วนอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวก็ตาม

อย่าง ผศ.เคนตะ มีความเชี่ยวชาญทางด้านสารสนเทศวัสดุ (materials informatics) ซึ่งใช้ออกแบบวัสดุด้วยเทคนิคการจำลองทางคอมพิวเตอร์ระดับโมเลกุล นอกจากนี้ยังเป็นวิทยากรอบรมการพัฒนาคอมพิวเตอร์คลัสเตอร์ (cluster computer) ภายในการสัมมนาครั้งนี้ด้วย

นาวาอากาศตรี ดร.จิระเดช ระบุว่าเคยไปดูงานที่ JAIST ซื้อมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาคอมพิวเตอร์คลัสเตอร์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเทคโนโลยีอย่างหลังนั้นไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ เนื่องจากใช้งบประมาณไม่มากเท่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ จึงได้เชิญ ผศ.เคนตะ มาเป็นวิทยากรในครั้งนี้

สำหรับศาสตร์ที่ ผศ.เคนตะ มาบรรยายนั้นสามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอากาศยานเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเหนือเสียงหรือยานซูเปอร์โซนิก แต่ส่วนตัวแล้วเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีป้องประเทศ แต่ก็ให้ความเห็นว่าสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ศึกษาการทดลองที่มีความร้อนสูงมากหรือเกิดการระเบิดได้ง่าย เนื่องจากสามารถจำลองเหตุการณ์ด้วยความพิวเตอร์ได้

ด้าน ผศ.ดร.วรศักดิ์ สุขบท อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งทำงานด้านการพัฒนาวัสดุนาโนด้วยเทคนิคการจำลองทางคอมพิวเตอร์ ระบุว่าปกติเขียนโค้ดโปรแกรมด้วยตัวเอง แต่ก็สนใจมาฟังบรรยายครั้งนี้ของ ผศ.เคนตะ ซึ่งมาอบรมเชิงปฏิบัติการพร้อมแจกโค้ดโปรแกรมฟรีด้วย จึงคาดหวังว่าอาจจะได้เทคนิคใหม่ๆ ไปปรับใช้ในงานของเขาเอง

ส่วน ศ.แจคเกอลีน วิทยากรหลักอีกคนนั้นมีประสบการณ์เกี่ยวกับวัตถุจากมหาวิทยาลัยแกรนฟิล์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยด้านทหารที่โดดเด่นของอังกฤษ และหัวข้อที่เธอมาบรรยายเกี่ยวข้องกับการผลิตและบริหารจัดการระเบิด รวมถึงการอบรมเพื่อดูแลสารระเบิดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งคณะกรรมการจัดงานระบุเป็นหัวข้อที่ฟังง่าย และฟังได้ทุกกลุ่ม

วิทยากรอีกคนคือ ศ.โจเซฟ มาบรรยายในหัวข้อ "การเสียดกร่อน" (Ablation) ที่ค่อนข้างเฉพาะทางแต่มีความสำคัญ ซึ่ง ดร.ปวัตน์ระบุว่าหัวข้อดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัสดุสำหรับส่งจรวด โดยเกี่ยวข้องกับของไหล เช่น ของเหลวหรืออากาศที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงกว่าเสียงหลายเท่า ทำให้เกิดอุณหภูมิสูง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นขณะส่งจรวด และวัตถุที่สัมผัสการเคลื่อนที่ของไหลดังกล่าวต้องสามารถทนการเสียดกร่อนที่เกิดขึ้นได้

"หัวข้อนี้จะช่วยเรานำไปพัฒนาการผลิตจรวด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเด่นของ สทป.และเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งสถาบัน" ดร.ปวัตน์ระบุ

สำหรับเทคโนโลยีป้องกันประเทศนั้น ดร.ปวัตน์กล่าวว่า ในเชิงวิชาการไม่ถือเป็นความลับ และสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยความรู้ในหลายด้าน เช่น เครื่องกล คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้าและการสื่อสาร วัสดุศาสตร์ แต่ในแง่การประยุกต์ใช้ถือเป็นความลับ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าแต่ละประเทศทำอะไรบ้าง

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการจัดงานระบุว่า พยายามเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมบรรยายพิเศษ เพื่อยกระดับงานสู่ระดับนานาชาติ และหวังว่าประเทศอื่นๆ จะร่วมจัดงานในครั้งต่อไป โดยการจัดงาน ACDT ทั้ง 3 ครั้งนั้นจัดขึ้นในเมืองไทยทั้งหมด ครั้งแรกจัดขึ้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ และครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต ส่วนครั้งถัดไปนั้นญี่ปุ่นรับเป็นเจ้าภาพจัดที่โตเกียวระหว่าง 29 พ.ย.-1 ธ.ค.60
ศ.แจคเกอลีน

โมเดลจรวดจำลองจากบูธผู้ร่วมแสดงนิทรรศการจากจีน
ดร.ปวัตน์ ชูศิลป์ และนาวาอากาศตรี ดร.จิระเดช เกิดศรี






กำลังโหลดความคิดเห็น