xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ดันนวัตกรรมอวกาศและภูมิสารสนเทศแก้ปัญหาทุกภาคส่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.กระทรวงวิทย์ผลักดันนวัตกรรมอวกาศและภูมิสารสนเทศแก้ปัญหาทุกภาคส่วน

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะเยี่ยมชมและรับฟังการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ สทอภ.ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ วันที่ 14 ม.ค.60 และ 16 ม.ค.60 พร้อมมอบนโยบายเน้นการพัฒนานวัตกรรมอวกาศและภูมิสารสนเทศในการตอบโจทย์รัฐบาล ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านภัยพิบัติ ด้านป่าไม้ และด้านการเกษตรของประเทศเพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เรียกว่า “ไทยแลนด์ 4.0”

ดร.อรรชกา กล่าวว่า พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ สทอภ. ณ วันนี้อยู่ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านดาวเทียมและฐานในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ จากเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อรองรับการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งให้สังคมสามารถตอบสนองกับกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ และยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
 
"สิ่งที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เราต้องยอมรับความจริงว่าอุตสาหกรรมอวกาศเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่หลายประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้น อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ ในประเทศไทย จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการสร้างและต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย มาผนวกกับงานวิจัยและองค์ความรู้ในหน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบูรณาการเทคโนโลยี บุคลากรและข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ การบริหารจัดการภาครัฐ การจัดการทรัพยากรและการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ"

รมว.วท.กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบัน รัฐบาลมีเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างสังคมการเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน วิสาหกิจ และภาคการศึกษา เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น รวมถึงการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงโดยใช้นวัตกรรมและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของเทคโนโลยีต่างๆ ที่ประเทศมีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศ โดยใช้ศักยภาพของประเทศไทยและกลุ่มประเทศในอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสในตลาดโลก ซึ่งตรงนี้จะทำให้การสร้างความร่วมมือระหว่างกันมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งและยั่งยืน

"กอปรกับทิศทางการพัฒนาประเทศในขณะนี้มุ่งเน้น Digital Economy โดยนำนวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยและการบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงใน 4 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการค้าและการลงทุนของกลุ่มประชาคมอาเซียน หรือ AEC ซึ่งบทบาทที่สำคัญของประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อยกระดับการพัฒนาที่จะนำไปสู่ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเริ่มจากการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคการผลิตและการท่องเที่ยว ในพื้นที่พิเศษ นิคมอุตสาหกรรม และอุทยานนวัตกรรม การพัฒนาระบบโลจิสติกส์บนเส้นทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลกำหนดเพื่อการค้าและการลงทุน ตลอดจนการเสริมสร้างมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้งานอวกาศในด้านต่างๆ ถือได้ว่าเป็นศักยภาพที่ประเทศไทยมีอยู่พอสมควร ทั้งในแง่โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร ความร่วมมือระหว่างประเทศและขีดความสามารถขององค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ก็จำเป็นต้องมีการบูรณาการและส่งเสริมให้มีการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ที่ท้าทายดังกล่าวข้างต้นได้"

รมว.วท.ยังเสริมอีกว่า สิ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การสร้างแรงบันดาลด้านวิทยาศาสตร์ให้กับคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่ประมาณค่ามิได้ของประเทศชาติ การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานภาครัฐ เป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเป็นการปลูกฝังเจตคติและแนวความคิดที่มีเหตุผลให้เกิดขึ้นแก่เยาวชนไทย ให้มีพื้นฐานในการพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคต
 
"แหล่งเรียนรู้ด้านอวกาศ หรือ Space Inspirium ของ สทอภ. ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กและเยาวชนแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ซึ่ง ณ วันนี้ ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน และสถาบันการศึกษาแทบจะทั่วประเทศ ซึ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สทอภ. ยังจะต้องเร่งพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างให้เกิดเป็นแหล่งรวมความรู้ทางด้านอวกาศที่หลากหลายแห่งเดียวของประเทศ"










กำลังโหลดความคิดเห็น