นักวิทยาศาสตร์พบว่า ไข่ของไดโนเสาร์บางชนิด ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของนกนั้น ใช้เวลา 3-6 เดือนกว่าจะฟัก ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานนี้อาจช่วยอธิบายการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนได้
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซน์ส (Proceedings of the National Academy of Sciences) ซึ่งตามรายงานของเอเอฟพีระบุว่า รายงานเผยให้เห็นว่าไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว (nonavian dinosaur) นั้นฟักไข่นานเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งการกกไข่เป็นเวลานานนั้นส่งผลกระทบต่อความสามารถของไดโนเสาร์ในการแข่งขันกับประชากรสัตว์อื่นๆ ที่มีช่วงเวลาขยายพันธุ์ที่เร็วกว่า
งานวิจัยจำนวนไม่น้อยก่อนหน้านี้สันนิษฐานว่าทั้งไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และไดโนเสาร์ที่วิวัฒนาการเป็นนก (avian dinosaurs) มีระยะเวลาการฟักไข่ที่ยาวสอดคล้องกับการฟักไข่ของนกในปัจจุบัน ซึ่งมีช่วงเวลาการฟักไข่ 11-85 วัน
การศึกษาเรื่องการฟักไข่ของไดโนเสาร์นั้น นักวิทยาศาสตร์ใช้ไมโครโฟนความละเอียดสูงเพื่อตรวจสอบรูปร่างการเจริญเติบโตของฟันในตัวอ่อนไดโนเสาร์หายากที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 2 ตัว ซึ่งตัวอ่อนถูกรักษาไว้ในสภาพฟอสซิลเป็นอย่างดี
เกรกอรี อีริคสัน (Gregory Erickson) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตท (Florida State University) และเป็นหนึ่งในหัวหน้าทีมศึกษา บอกว่าโครงสร้างเหล่านั้นเกิดเมื่อฟันของสัตว์ค่อยๆ งอก ซึ่งคล้ายกับ “วงปี” ของต้นไม้ แต่ในกรณีฟันนั้นเป็นลงงอกลงล่างทุกวัน
“เราสามารถนับวงปีเหล่านั้นเพื่อดูว่า ไดโนเสาร์แต่ละตัวนั้นเจริญเติบโตมานานแค่ไหนแล้ว” อีริคสันกล่าว
จากการสังเกตโครงสร้างการเจริญเติบโต ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินได้ว่า ตัวอ่อนในไข่ไดโนเสาร์นั้นอายุเท่าไรตอนที่ตาย ซึ่งไข่ใบหนึ่งมีอายุตัวอ่อน 3 เดือน และอีกใบมีอายุตัวอ่อน 6 เดือน
การศึกษาครั้งนี้ชี้ว่า นกซึ่งวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์นั้น มีอัตราการฟักไข่ที่เร็วกว่าไดโนเสาร์ชนิดอื่นๆ ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวทำให้นกได้เปรียบในการรอดชีวิตจากนักล่า รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม หรือ ภัยแล้ง รวมถึงมหันตภัยที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
//////////////
หมายเหตุ
ตามนิยามของมหาวิทยาลัยบรรพชีวินวิทยาแคลิฟอร์เนีย (University of California Museum of Paleontology) ระบุว่า นกคือไดโนเสาร์ที่วิวัฒนาการจนเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน เมื่อไดโนเสาร์คือไดโนเสาร์ และนกก็คือไดโนเสาร์ พวกเขาจึงใช้คำว่า nonavian dinosaur สำหรับไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และavian dinosaur สำหรับไดโนเสาร์ที่วิวัฒนาการจนกลายเป็นนก เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างนกกับไดโนเสาร์โดยไม่แยกความสัมพันธ์การเป็นญาติกัน