เด็กเมืองเพชรนำลงาน “โปรแกรมแปลภาษาและปริ้นเตอร์อักษรเบลล์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต” เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา พาไทยคว้ารางวัลที่ 1 โครงงานวิทยาศาสตร์ในเวทีการประชุมนักวิทยาศาสตร์แห่งอนาคตของกลุ่มประเทศเอเปค ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีเยาวชนจาก 10 ประเทศเข้าร่วม
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า อพวช. ได้ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำตัวแทนเยาวชนไทยร่วมเวทีการประชุมนักวิทยาศาสตร์แห่งอนาคตของกลุ่มประเทศเอเปค ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 (6th APEC Future Scientist Conference 2017) เมื่อระหว่างวันที่ 7 – 14 ม.ค.60 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวได้มีการจัดกิจกรรมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชนที่มาร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวน 10 ประเทศที่ร่วมส่งผลงานเข้าประกวด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และไทย ผลปรากฏว่า เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากโครงงาน “โปรแกรมแปลภาษาและปริ้นเตอร์อักษรเบลล์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต” ซึ่งเป็นผลงานของนายณลงกรณ์ บุญเจริญ นายคัคเนศ สุทธิรัตน์ และนายณวรุตม์ ไพรรุ่งเรือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยมีอาจารย์ภาณุพงศ์ เยี่ยมยงวรรณ เป็นผู้ควบคุมทีม
“ถือเป็นการสร้างชื่อให้กับประเทศไทยในเวทีนานาชาติอีกครั้ง ที่เยาวชนไทยสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก และเพิ่มโอกาสในสังคมให้กับผู้พิการทาง สายตา จนคว้ารางวัลชนะเลิศในเวทีนี้มาได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเวทีใหญ่ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่กลุ่มประเทศเอเปคให้ความสำคัญ เพื่อปั้นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตให้กับภูมิภาค” นางกรรณิการ์ฯ กล่าว
ด้านนายณลงกรณ์ บุญเจริญ ตัวแทนทีมเยาวชนไทยที่คว้ารางวัลในครั้งนี้กล่าวว่า พวกตนรู้สึกภูมิใจตั้งแต่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว เพราะเป็นเวทีระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งโครงงานที่พวกตนได้นำมาเข้าประกวดในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหาต่างๆ ของการพิมพ์อักษรเบลล์ ด้วยปกติตนและเพื่อนๆ จะส่งเอกสารอักษรเบลล์ เช่น บทความ หนังสือ และนิทาน ให้กับโรงเรียนผู้พิการทางสายตาเป็นประจำ
ดังนั้น จึงลองคิดหาวิธีการแก้ไขจนเป็นที่มาของโครงงาน “โปรแกรมแปลภาษาและปริ้นเตอร์อักษรเบลล์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต” ที่สามารถพิมพ์เอกสารสำหรับผู้พิการทางสายตาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้อย่างแม่นยำ พร้อมพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสำหรับแปลข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้เป็นอักษรเบลล์ และยังสามารถเข้าใช้งานได้ในทุกอุปกรณ์และทุกแพลตฟอร์ม เมื่อแปลเป็นภาษาอักษรเบลล์แล้ว ยังสามารถบันทึกและสั่งพิมพ์ได้ทันที
“เครื่องพิมพ์ที่นำมาใช้จะนำมาจากเครื่องพิมพ์หัวเข็มเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาดัดแปลงแก้ไข โดยสามารถสั่งพิมพ์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ทันที และสามารถใช้งานพร้อมกันได้หลายอุปกรณ์ โดยการเชื่อมต่อที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ตออฟติง (Internet of Things) ซึ่งหลังจากนี้ พวกตนจะพัฒนาต่อยอดโครงงานชิ้นนี้ให้สามารถแปลบทความทางวิชาการที่เป็นอักขระพิเศษได้ เช่น สูตรเคมี และคณิตศาสตร์”
นายณลงกรณ์ฯ กล่าวต่อว่า โอกาสนี้พวกตนขอขอบคุณอาจารย์ภาณุพงศ์ เยี่ยมยงวรรณ ซึ่งเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำต่างๆ ตลอดจน อพวช. และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ที่ให้การสนับสนุนในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมงานนี้ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ นอกจากพวกตนจะดีใจและภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับแล้ว ยังประทับใจที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนต่างชาติต่างภาษา รวมทั้งได้รับความรู้มากมายจากการได้ร่วมเวิร์คช็อปและร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมไทยต่อไป