xs
xsm
sm
md
lg

William Wilberforce ผู้มีบทบาทเลิกค้าทาสในอังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

William Wilberforce ผู้มีบทบาทเลิกค้าทาสในอังกฤษ
ทาส คือคนที่ชะตาชีวิตทุกด้านถูกกำหนดโดยนาย สุดแท้แต่นายจะใช้ทำงานอะไร เป็นเวลานานเพียงใด โดยทาสไม่มีการโต้แย้ง แม้จะได้ค่าแรงที่น้อยนิด เมื่อเปรียบเทียบกับงานทั้งหมดที่ทำ นอกจากนี้เวลาทาสทำงานผิดพลาด หรือบกพร่อง ทาสก็อาจถูกนายลงโทษอย่างรุนแรงถึงตายได้ ส่วนค่าจ้างพื้นฐานที่ทาสจะได้จากนาย คือ ห้องพัก เสื้อผ้า อาหาร และยารักษาโรคในปริมาณที่นายเมตตาเท่านั้น

ตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดเกิดมาบนโลก ทุกคนต้องหาอาหาร อาจจะโดยการล่าสัตว์หรือเก็บพืชด้วยตนเอง แต่เมื่อมนุษย์รู้จักทำเกษตรกรรม ผลิตผลที่ได้มีมากขึ้น ทำให้ต้องการขายสิ่งที่ผลิตได้ให้คนอื่นๆ ที่มีเงินเพื่อหารายได้ เพราะะความต้องการได้เพิ่มมากตลอดเวลา ทำให้ความต้องการแรงงานทาสมารับใช้เพิ่มตาม ความประสงค์ลักษณะนี้คือต้นเหตุที่ทำให้มีการไล่ล่าจับตัวผู้คนเป็นทาส

เมื่อ 5,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคของอาณาจักรโบราณ เช่น Sumeria, Egypt, Babylon, Persia, India และจีน ทาสมักเป็นเชลยที่แพ้สงคราม หรืออาชญากรที่ถูกจับได้ หรือเป็นคนที่ไม่สามารถชำระหนี้ จึงต้องยินยอมตนมารับใช้เป็นการตอบแทน จนกว่าหนี้นั้นจะหมด

เมื่อสังคมเริ่มนิยมการมีทาส การเจริญเติบโตของสังคมทำให้ระบบทาสขยายวงตามการขยายตัวของการค้า การทหาร และการอุตสาหกรรม ธุรกิจทาสจึงพุ่งถึงระดับสูงสุดในสมัยกรีก และโรมันโบราณ

โดยเฉพาะกรุงเอเธนส์และกรุงโรม ที่ใครๆ ทุกวันนี้ คิดว่าเป็นสังคมที่ให้กำเนิดประชาธิปไตย คืออนุญาตให้คนทุกคนมีศักดิ์ศรีและสิทธิ์ทุกประการเท่าเทียมกัน แต่ความจริงมีว่าสังคมดังกล่าวนิยมการมีทาส มีแต่คนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นนาย คนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นทาสที่ต้องทำงานทุกอย่างตามความประสงค์ของนาย

แม้ทาสจะเป็นชนชั้นต่ำในสายตาของคนทั่วไป แต่ทาสหลายคนก็มีชื่อเสียงจนทุกวันนี้ เช่น นักบุญ St.Patrick เคยเป็นทาส Aesop ซึ่งเป็นนักเล่านิทานเอกของโลกเมื่อก่อนคริสตกาล ก็เป็นทาสที่ได้รับอิสรภาพ เพราะมีความสามารถในการเล่านิทานสอนใจจนชาวเมือง Athens ติดอกติดใจ Spartacus เป็นทาสที่เคยท้าทายอำนาจของจักรพรรดิแห่งโรม โดยการนำทัพ gladiator สู้ทหารโรมันจนได้ชัยชนะหลายครั้ง แต่ในที่สุด ทหาร gladiator ของ Spartacus ก็ถูกกองทหารโรมบดขยี้ และ Spartacus ถูกฆ่า หลังจากนั้นบรรดา gladiator ก็ถูกสำเร็จโทษ โดยการนำตัวไปตรึงบนไม้กางเขนที่อยู่เรียงราย ตลอดเส้นทางจากเมือง Capua ถึง Rome และสำหรับอารยธรรมตะวันออกกลางนั้น คนที่เป็นทาสมักถูกนำไปฆ่าบูชายัญในพิธีกรรมทางศาสนา

ตามปกติทาสไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็ต้องทำงานหนักมาก เกินค่าตอบแทน และทาสคนใดที่คิดจะต่อสู้ หรือขัดขืนคำสั่ง ก็จะถูกเจ้านายทารุณ ด้วยการทำร้ายร่างกายจนอาจบาดเจ็บถึงตาย ซึ่งการทารุณอย่างโหดเหี้ยมนี้ได้ทำให้องค์สันตะปาปา Giovanni de Medici หรือ Leo ที่ 10 แห่งโรม ทรงปรารภเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ในปี 1513 ว่า ในสายตาของพระเจ้า มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่มีเป็นบ่าว หรือเป็นนาย ดังนั้นชาวคริสเตียนน่าจะล้มเลิกระบบทาส เมื่อเวลาผ่านไปๆ จำนวนประชากรในทุกประเทศได้เพิ่ม ความต้องการแรงงานทาสจึงเพิ่มมากตาม เมื่อทาสมีจำนวนไม่เพียงพอ ธุรกิจการซื้อ-ขายทาสจึงเกิดขึ้นทั่วโลก และได้กลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของยุโรปหลายประเทศตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 16 เราจึงเห็นว่า แม้องค์สันตะปาปาจะตรัสห้าม แต่ก็ไม่มีใครเชื่อฟัง

ลุถึงปี 1516 เมื่อแม่ทัพสเปนนำน้ำตาลจากเกาะ Hispaniola (เกาะ Haiti ในปัจจุบัน) ขึ้นทูลเกล้าถวายกษัตริย์ Carlos ที่ 1 แห่งสเปน ปรากฏว่าพระองค์ทรงโปรดปรานน้ำตาลอ้อยที่ทาสผลิตมาก หลังจากนั้นสังคมไฮโซของยุโรป จึงได้หันมานิยมบริโภคน้ำตาล ทำให้ความต้องการแรงงานทาสในไร่อ้อยจึงเพิ่มตาม ผลที่เกิดตามมาคือ บรรดานักล่าอาณานิคม และพ่อค้ายุโรปได้เดินทางไปแอฟริกา เพื่อไล่จับชาวพื้นเมือง แล้วบังคับขึ้นเรือ ไปทำงานในไร่อ้อยที่อเมริกา

ตามปกติ เรือทาสที่ใช้มักมีขนาดเล็ก แต่ทาสบนเรือมีจำนวนมาก ความแออัดยัดเยียดที่ไม่ถูกสุขลักษณะทำให้เกิดโรคระบาดบนเรือ เช่น ไข้เหลือง ไข้ลักปิดลักเปิด ไข้มาลาเรีย ฯลฯ ทาสจำนวนมากจึงล้มตาย และเวลาเรืออับปางขณะอยู่กลางทะเล ทาสที่ถูกล่ามโซ่ มักไม่สามารถจะหนีเอาตัวรอดได้ หลายคนจึงจมน้ำตาย การสูญเสียชีวิตอย่างมหาศาลจึงเกิดขึ้นบ่อย จะมีก็แต่พ่อค้าทาสเท่านั้นที่ร่ำรวยจากธุรกิจนี้ เพราะสามารถขายทาสจำนวนมากได้ในราคาสูง และทำเงินมหาศาล ด้วยเหตุนี้ ในปี 1532 กษัตริย์ Charles ที่ 5 แห่งสเปน จึงทรงประทานอนุญาตให้ ขุนนางชั้นสูงในพระองค์สามารถมีทาสในบังคับบัญชาได้ถึงปีละ 4,000 คน แล้วพระองค์ทรงเก็บภาษีจากบรรดานายทาสเหล่านั้นอีกต่อหนึ่ง ความมั่งคั่งของขุนนางและกษัตริย์จึงไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติ

ในอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 ทรงมีนายทหารเรือคนสนิทสองคน คือ John Hawkins กับ Sir Francis Drake ซึ่งเมื่อได้เห็นความต้องการทาสของชาวยุโรป จึงปลอมแปลงตัวเป็นโจรสลัดไปล่าจับชาวพื้นเมืองในแอฟริกาไปขายเป็นทาสที่ Santo Domingo และ Hispaniola ในอเมริกา แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อน้ำตาล และไข่มุก เพื่อนำกลับไปขายในอังกฤษ นี่เป็นการได้กำไรจากการขายทาส โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนมาก และ Hawkins ก็อ้างว่า การซื้อขายทาสที่ทำไปนั้นเป็นเรื่องที่ประเสริฐล้ำเลิศ สำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะคนขายมีรายได้ และทาสที่ถูกขายก็มีโอกาสได้เป็นทูตไปเผยแพร่คริสต์ศาสนาในดินแดนใหม่ การค้าทาสในภาพรวมจึงเป็นเรื่องดี สถิติยังระบุอีกว่า ในปี 1563 Hawkins ขายทาสได้ 105 คนที่ Hispaniola และได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ

ในปี 1647 ไข้เหลืองได้ระบาดที่ West Indies ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อแพทย์รู้สาเหตุว่าโรคนี้ทาสแอฟริกาเป็นผู้นำมาตั้งแต่นั้นมา ชาวอเมริกัน และชาวยุโรปเริ่มมีทัศนคติต่อต้านการมีทาสและการค้าทาส ในปี 1712 ท่านผู้ว่าราชการแห่งรัฐ Pennsylvania จึงได้ออกกฎหมายห้ามประชากรในรัฐนำทาสจากต่างรัฐเข้ารัฐ หลังจากการที่ทาสได้ก่อกบฏ ทำให้คนขาว 6 คนเสียชีวิต

ในปี 1780 ที่อังกฤษมีหนุ่มวัย 21 ปีคนหนึ่งชื่อ William Wilberforce จากเมือง Cambridge แม้เป็นคนอ่อนวัย แต่มีฐานะดี และมีอนาคตไกล เพราะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีบทบาทต่อต้านระบบทาสในอังกฤษ โดยการสนับสนุนให้อังกฤษเลิกระบบทาส
ภาพไดอะแกรมแสดงการลำเลียงทาสลงเรืออย่างไร้มนุษยธรรม
William Wilberforce เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1759 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรในสมัยอยุธยา) ที่เมือง Hull และเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว บิดาเป็นพ่อค้าที่ทำธุรกิจในทะเล Baltic เมื่ออายุ 7 ขวบ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประถมใน Hull อีก 2 ปีต่อมา ก็กำพร้าพ่อ จึงถูกมารดาส่งตัวไปอยู่กับลุงที่ Wimbledon ใกล้กรุงลอนดอนเพื่อศึกษาต่อ แต่ต่อมามารดาไม่ชอบความเคร่งศาสนาของลุง จึงนำ Wilberforce มาเรียนต่อที่ Pocklington Grammar School ใน Hull

จนกระทั่งอายุ 17 ปี Wilberforce ได้เข้าเรียนที่ St. John’s College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge โดยเรียนวิชาภาษาโบราณ อันได้แก่ ละติน และกรีก เมื่อเรียนจบ ได้ตัดสินใจไม่ทำธุรกิจ แต่ลงเล่นการเมือง โดยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1780 และได้ทุ่มเงิน 9,000 ปอนด์ ในการเลี้ยงดูผู้มีสิทธิ์ออกเสียงซึ่งให้ผล

เมื่อรับเลือกเป็น ส.ส. Wilberforce ต้องเดินทางเข้าลอนดอน การเป็นคนมีความสามารถ และมีฐานะดี ทำให้ Wilberforce ได้รู้จักกับ William Pitt (ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในเวลาต่อมา) นอกจากนี้ Wilberforce ยังเป็นคนที่มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษทรงโปรดปรานอีกด้วย เพราะร้องเพลงเก่ง

ในปี 1783 Wilberforce กับ Pitt ได้ไปฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินี Marie Antoinette ที่พระราชวัง Fontainebleau และเมื่อ Pitt เป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้แต่งตั้งให้ Wilberforce เป็นคนชักจูงใจ ส.ส. ให้สนับสนุน เพราะ Wilberforce เป็นคนมีเสน่ห์ และมีความสามารถในการเจรจาชักจูง อีกทั้งยังสามารถพูดคนเดียวอย่างต่อเนื่องได้นานถึง 3.5 ชั่วโมง เวลามีการอภิปรายในสภา

ในเดือนตุลาคม ปี 1784 Wilberforce ได้กลับไปเยือนฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่มีใครจะคิดว่า การเดินทางครั้งนั้นจะเปลี่ยนชีวิตของ Wilberforce อย่างสิ้นเชิง เพราะหลังจากที่นำแม่กับน้องสาวไปเยือน Nice และกลับถึงลอนดอนในเดือนกุมภาพันธ์ ปีต่อมา โดยมีสาธุคุณ Isaac Milner เดินทางไปด้วย การสนทนากับ Milner ได้เปลี่ยนใจ อุปนิสัยของ Wilberforce ไปอย่างสมบูรณ์ เพราะเขาตัดสินใจว่าจะไม่ใช้ชีวิตอย่างอีลุ่ยฉุยแฉกอีกต่อไป แต่จะใฝ่หาความสุข โดยใช้คำสอนของคริสต์ศาสนาเป็นทิศนำทาง

แม้ความนึกคิดจะเปลี่ยน แต่ Wilberforce ก็บอก Pitt ว่า มิตรภาพระหว่างคนทั้งสองยังคงเดิม

ในปี 1786 Wilberforce ได้จัดตั้งสมาคมต่อต้าน และลงโทษคนที่เสนอสิ่งตีพิมพ์ลามก รวมถึงคนที่พยายามล้มศาสนา หลังจากนั้นก็ได้หันไปสนใจเรื่องทาส

ความจริงในอังกฤษได้มีบุคคลที่คิดจะปฏิรูปเรื่องระบบทาสก่อน Wilberforce หลายคน เช่นในปี 1772 Granville Sharp ได้เสนอกฎหมายให้ทาสต่างด้าวคนใดที่เดินทางถึงอังกฤษจะได้รับอิสรภาพ แต่สภาผู้แทนฯ ไม่เห็นด้วย อีก 15 ปีต่อมา Sharp กับ Thomas Clarkson ได้ร่วมกันผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนให้ยุติการค้าทาสอีก แต่ไม่เป็นผลอีก

นายกรัฐมนตรี Pitt จึงขอให้ Wilberforce เป็นผู้นำในการรณรงค์เลิกการค้าทาส เพราะตระหนักว่า Wilberforce เป็นคนมีหลักการดี ไม่เป็นพรรคพวกใคร และมีเสน่ห์ในการพูดจูงใจคน พร้อมกันนั้นก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเรื่องนี้เพื่อรวบรวมหลักฐานทั้งหมดให้ Wilberforce ใช้ในการอภิปราย

จุดมุ่งหมายของ Wilberforce คือต้องการให้เลิกการค้าทาสในอังกฤษอย่างเด็ดขาด และไม่ให้ระบบทาสเติบโต ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ.1789 Wilberforce ได้เสนอญัติต่อต้านการค้าทาส โดยใช้เวลาพูดคนเดียวนาน 3.5 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องในสภาฯ แต่ที่ประชุมขอเลื่อนการลงมติ เพราะต้องการข้อมูล ผลดี ผลร้าย และหลักฐานเพิ่มเติม จนกระทั่งถึงวันที่ 18 เมษายน 1791 ญัติของ Wilberforce ก็พ่ายแพ้ในสภาด้วยคะแนน 163 ต่อ 88 เสียง

ตลอดเวลา 3 ปีต่อมา กฎหมายห้ามมิให้มีการซื้อ-ขายทาสก็ถูกคัดค้านตกอีกหลายครั้งทั้งในสภาผู้แทนและสภาสูง แต่ Wilberforce ก็ยังไม่ท้อแท้

ถึงปี 1799 Wilberforce ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ A Practical View of the Prevailing Religious Systems of Professed Christians in the Higher and Middle Classes of this Country Contrasted with Read Christianity ซึ่งว่าด้วยคุณธรรมของสังคมชั้นกลางและชั้นสูงในการมีทาส หนังสือเล่มนี้ขายดีมากทั้งในอังกฤษและอเมริกา และถูกแปลเป็นภาษาต่างชาติอีก 6 ภาษา Wilberforce ได้บริจาคเงินที่ได้จากการขายหนังสือแก่คนยากจน และเพื่อการกุศล

ในปี 1804 Wilberforce ได้นำเสนอกฎหมายห้ามการค้าทาสอีกครั้งหนึ่ง แม้สภาผู้แทนจะยอมรับ และสภาสูงไม่เห็นด้วย แต่ประชาชนทั่วไปได้เริ่มเห็นพ้องกับแนวคิดของ Wilberforce

ในที่สุดเมื่อถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1807 กฎหมายเลิกการค้าทาสก็ผ่านทั้ง 2 สภา และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มีนาคมของปีเดียวกัน (ตรงกับรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

ความสำเร็จครั้งนั้นให้ Wilberforce ได้รับความชื่นชม และการยกย่องเป็นวีรบุรุษของชาติ และจากความสำเร็จนี้ Wilberforce ได้ขยับขยายผลงาน คือจะเลิกทาส แต่สุขภาพไม่ดีจนต้องเกษียณชีวิตทำงาน และพักอยู่ที่บ้านของลูกชาย 2 คน ซึ่งเกิดจากภรรยาชื่อ Barbara Spooner ที่ Wilberforce ได้แต่งงานด้วยตั้งแต่ปี 1797

ในระยะ 2 ปีสุดท้ายของชีวิต Wilberforce ได้ติดตามฟังข่าวความก้าวหน้าในการเลิกทาสของอังกฤษ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ปี 1833 ความฝัน และการรอคอยของ Wilberforce ก็เป็นจริง เพราะอังกฤษได้ประกาศการเลิกทาส (ตรงกับรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1833 Wilberforce ได้เสียชีวิต ศพถูกนำไปฝังที่มหาวิหาร Westminster ในฐานะบุคคลสำคัญคนหนึ่งของชาติ
สัญลักษณ์ต่อต้านระบบทาส โดย Josiah Wedgwood
อ่านเพิ่มเติมจาก The Slave Trade, The History of the Atlantic Slave Trade 1440-1870 โดย Hugh Thomas จัดพิมพ์โดย Picador ปี 1977

และจาก Wilberforce โดย R. Furneaux จัดพิมพ์โดย Hamish Hamilton ในปี 1974






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น