xs
xsm
sm
md
lg

สกว.เปิดผลวิจัยด้านมะเร็งของเหยื่อรถตู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประกาศิต รัตนตันหยง เจ้าหน้าที่ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ หนึ่งในเหยื่อรถตู้
ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. เปิดผลงานวิจัยสำคัญของลูกศิษย์เหยื่อรถตู้ผู้ล่วงลับในการค้นพบองค์ความรู้สำคัญด้านมะเร็ง เพื่อนำไปสู่การทำนายโรคและคัดกรองมะเร็ง รวมถึงการป้องกันหรือแก้ไขจีโนมที่ไม่เสถียรของเซลล์มะเร็งและเซลล์ชราในอนาคต

ศ.ดร.น.พ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอณูพันธุศาสตร์ของมะเร็งและโรคของมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยชีววิทยาจีโนมมะเร็ง และโครงการต้นแบบการรักษาความชรา โรคเอสแอลอี และมะเร็ง แนวทางการใช้คัดกรองมะเร็ง ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของ สกว. เปิดเผยถึงผลงานวิจัยของ นายประกาศิต รัตนตันหยง เจ้าหน้าที่ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยร่วมโครงการ ซึ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากเหตุการณ์รถตู้ชนรถกระบะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

ศ.ดร.น.พ.อภิวัฒน์กล่าวว่า นายประกาศิต ได้ทิ้งผลงานสำคัญคือ การตรวจวัดดีเอ็นเอเมททิเลชั่น (DNA methylation) ของลำดับเบสซ้ำที่กระจัดกระจาย (Interspersed repetitive sequences, IRSs) เพื่อดูว่าเนื้อเยื่อต่างๆ ของมะเร็งชนิดต่างๆ มีระดับ IRS methylation เป็นอย่างไร

โครงการวิจัยดังกล่าวมีนายประกาศิตเป็นผู้ตรวจวัด และช่วยตรวจวัดระดับ IRS methylation ในน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งตับและมะเร็งโพรงหลังจมูก เนื้อมะเร็งรังไข่ ไทรอยด์ และไข่ปลาอุก ต่อมน้ำเหลืองของมะเร็งศีรษะและคอ เม็ดเลือดขาวของมะเร็งหลายชนิด ซึ่งผลการศึกษาพบการลดลงของระดับ IRS methylation อย่างมีนัยสำคัญ และยังสามารถนำมาใช้ทำนายโรคมะเร็ง รังไข่ ตับ และ ไข่ปลาอุกได้อีกด้วย

จากการที่คณะผู้วิจัยเป็นผู้ริเริ่มการตรวจวัด IRS methylation ด้วยพีซีอาร์ นอกจากมะเร็งแล้วยังพบการลดลงของระดับ Alu methylation ในคนชรา ซึ่ง Alu จัดเป็น IRS ชนิดหนึ่ง และ LINE-1 hypomethylation ในโรคเอสแอลอี โดยนายประกาศิตได้ช่วย ศ. นพ.กิตติพันธุ์ ฤกษ์เกษม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการตรวจ Alu methylation ในเด็กแรกเกิด พบว่าเด็กที่โตเร็วจะมีระดับ Alu methylation สูงกว่ากลุ่มที่โตช้า

ทั้งนี้การตรวจวัดสภาวะเหนือพันธุกรรมเพื่อทำนายการเจริญเติบโตของทารกเป็นการศึกษาที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน คณะผู้วิจัยได้ค้นพบว่า LINE-1 methylation ที่อยู่ในยีนจะควบคุมการทำงานของยีน นอกจากนี้นายประกาศิตยังได้ช่วยภาควิชาสูตินรีเวชพิสูจน์บทบาทของ LINE-1 methylation ในกลุ่มอาการหรือโรคที่พบบ่อยในสตรี (polycystic ovary syndrome) และโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งรังไข่

การเกิด IRS hypomethylation ทำให้จีโนมไม่เสถียร คณะผู้วิจัยจึงศึกษาว่ากลไกการเกิดจีโนมไม่เสถียรนี้มีความสัมพันธ์กับรอยต่อดีเอนเอในเซลล์ที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งหัวข้อนี้นายประกาศิตเป็นผู้ศึกษา IRS methylation ที่จีโนมและที่ EDSBs หากการศึกษานี้สำเร็จจะทำให้มีความเข้าใจและสามารถตรวจหา ป้องกันหรือแก้ไขจีโนมที่ไม่เสถียรของเซลล์มะเร็งและเซลล์ชราได้ รวมถึงช่วย ศ. พญ.ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาและพิสูจน์การเกิดการกระจายของโครโมโซมจากพ่อหรือแม่เท่านั้นจากครอบครัวของผู้ป่วยธาลัสซีเมีย

สำหรับงานสุดท้ายที่นายประกาศิตได้คิด วางแผน ดำเนินการวิจัย และเขียนผลงานด้วยตัวเองทั้งหมด ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีทางชีววิทยาโมเลกุล เพื่อสืบหาเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายในต่อมน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยตรวจระดับ DNA methylation ของยีน SHP1-p2 SHP1-p2 methylation ซึ่งจะพบเฉพาะในเซลล์เยื่อบุผิว เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองมีเยื่อบุผิวน้อย ระดับ SHP1-p2 methylation ในต่อมน้ำเหลืองจึงเป็นการบ่งบอกเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองได้

ดังนั้นการตรวจวัดระดับ SHP1-p2 methylation ด้วยเทคนิคที่นายประกาศิตปรับปรุงขึ้นจึงสามารถตรวจหาเซลล์มะเร็งที่มีปริมาณน้อยจนไม่สามารถวินิจฉัยด้วยกล้องจุลทรรศน์ได้

“งานวิจัยของนายประกาศิตที่เป็นกำลังหลักในงานที่กำลังดำเนินการอยู่ก่อนเสียชีวิต คือ การสืบหาการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลของเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งผลการศึกษามีความเป็นไปได้สูงมากว่าในอนาคตจะสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้ด้วยการตรวจจากเลือด งานวิจัยนี้ไม่มีการทำในต่างประเทศ เพราะเป็นงานวิจัยต่อยอดจากองค์ความรู้ที่ค้นคว้าและค้นพบในห้องปฏิบัติการณ์ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้องค์ความรู้ทั้งหมดจากงานวิจัยทั้งหมดของประกาศิต สามารถตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติถึง 14 เรื่อง และได้รับการอ้างอิงนับถึงวันที่เสียชีวิตสูงถึง 474 ครั้ง นับว่าสูงมากสำหรับวงการวิชาการของไทย เพราะโดยทั่วไปหากได้รับการอ้างอิงเกิน 100 ครั้ง ก็มีมาตรฐานเทียบเท่ากับศาสาตราจารย์ ระดับ 11” ศ. ดร. น.พ.อภิวัฒน์ระบุ
นายประกาศิต รัตนตันหยง เจ้าหน้าที่ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และศ.ดร.น.พ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)








กำลังโหลดความคิดเห็น