xs
xsm
sm
md
lg

สภาการศึกษาแห่งชาติในอดีตเป็น 1 ใน 3 เสาหลักพัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย

ตอน 2 - สภาการศึกษาแห่งชาติในอดีตเป็น 1 ใน 3 เสาหลักพัฒนาประเทศ

โดย ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ10400

ข้อที่น่าสังเกตคือ สภาการศึกษาแห่งชาติในอดีตมีความยิ่งใหญ่เป็น1 ใน 3 ของเสาหลักของการพัฒนาประเทศ แต่ในปัจจุบันสภาการศึกษาแห่งชาติมีสถานะเป็นเพียงกรมหนึ่งกรมอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและไม่ค่อยมีคนรู้จักหน่วยงานนี้เนื่องจากมีบทบาทและอำนาจหน้าที่น้อยลงอย่างคาดไม่ถึงเข้าทำนองสำนวน“ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาๆ ไปกลายเป็นบ้องกัญชา” อย่างน่าเสียดายยิ่ง

2.2.2จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค: นักวิชาการรุ่นบุกเบิกที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศในทศวรรษ2490 ได้เรียกร้องให้ขยายการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยออกไปในส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี 2493แต่ก็ยังไม่สำเร็จจนกระทั่งปี 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (www.cmu.ac.th, มกราคม 2556)ในภาคเหนือเป็นแห่งแรก(วันที่ 29 มีนาคม 2503)โดยเริ่มต้นจัดตั้งโรงเรียนเตรียมแพทย์เชียงใหม่ที่กรุงเทพฯในปี 2501ในระหว่างที่รอการจัดตั้งและก่อสร้างคณะแพทย์ศาสตร์ที่เชียงใหม่อย่างเป็นทางการในขณะเดียวกันก็จัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เพื่อขยายฐานการศึกษาด้านดังกล่าวโดยการนำของศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ต่อมาในปี 2507 รัฐบาลไทยก็ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น (www.kku.ac.th, มกราคม 2556)ในอีก 2 ปีต่อมา (วันที่ 25 มกราคม 2509) โดยเน้นด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์โดยมีสำนักงานและจัดการเรียนการสอนชั่วคราวที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ในช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลก็มีโครงการพัฒนาภาคใต้โดยให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ในปี 2508 และมีสำนักงานชั่วคราวที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยมี พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ทำหน้าที่เป็นอธิการบดี ต่อมามหาวิทยาลัยภาคใต้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2510(www.psu.ac.th, มกราคม2556)

ในปี 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรนายกรัฐมนตรีเห็นความจำเป็นของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยให้มีเสรีภาพทางวิชาการทั้งด้านการบริหารและการวิจัยให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการมากยิ่งขึ้นจึงได้ปรับปรุงการศึกษาเสียใหม่โดยจัดตั้ง “ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ” ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี (รายงานประจำปี 2555, สกอ.) ต่อมาในปี 2520 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีได้ตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อ “ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ” เป็น “ทบวงมหาวิทยาลัย” ให้เป็นหน่วยงานอิสระและมีฐานะเทียบเท่ากระทรวงเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการการอุดมศึกษาของชาติทั้งภาครัฐและเอกชนและได้ขยายการอุดมศึกษาสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น

ต่อมามีการปรับปรุง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2537 เพื่อให้ทบวงมหาวิทยาลัยมีอำนาจครอบคลุมมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อมีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมในรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรได้มีประกาศพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (วันที่ 6 กรกฎาคม 2546) ให้ยกเลิก พ.ร.บ. ทบวงมหาวิทยาลัย (ฉบับที่2) พ.ศ. 2537 ทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานภาพเป็น “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา”(สกอ.)(www.mua.go.th,มกราคม2556) ภายใต้การกำกับนโยบายของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน ก็ดูเหมือนว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาก้าวหน้ามาด้วยดีเพราะ มีการขยายหน่วยงานให้ใหญ่โตทั้งด้านโครงสร้างและบุคลากรของสกอ.แต่ในความเป็นจริงจะเห็นได้ว่า สกอ.เป็นหน่วยงานที่อุ้ยอ้ายและต้องติดกับในระบบราชการทำให้การดำเนินงานขาดความคล่องตัวและขาดประสิทธิภาพ อีกทั้งความไม่ต่อเนื่องของผู้กำหนดนโยบายโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯที่เปลี่ยนบ่อยมากถึง 10 ท่านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้การพัฒนาการศึกษาและการวิจัยเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและไม่ก้าวหน้าตามความคาดหวังของสังคม ดังนั้น สกอ. จึงเป็นอีกบทเรียนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาและการวิจัยที่เข้าทำนองสำนวนไทย “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลา ๆ ไปกลายเป็นบ้องกัญชา”อย่างไม่น่าเชื่อ

2.3 ด้านการวิจัย
2.3.1 จัดตั้ง “สภาวิจัยแห่งชาติ” : หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คณะผู้บริหารและนักวิชาการที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรปและอเมริกานำโดยดร.จ่าง รัตนะรัต และ ดร.ประดิษฐ์ เชี่ยวสกุล นักวิชาการกลุ่มใหม่นี้มีความคิดที่จะให้รัฐบาลจัดตั้งสภาวิจัยแห่งชาติตั้งแต่ปี 2477 ตามแบบอย่างประเทศที่เจริญแล้วแต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในสมัยนั้น อย่างไรก็ตามคณะนักวิชาการ ก็ยังพยายามยกร่างโครงการสภาวิจัยแห่งชาติเสนอต่อรัฐบาลอีกหลายครั้งจนกระทั่งปี 2499 รัฐบาลไทยจึงได้จัดตั้ง “สภาวิจัยแห่งชาติ” ตาม พ.ร.บ.สภาวิจัยแห่งชาติ2499 โดยแต่งตั้ง ดร.จ่าง รัตนะรัต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์เป็นเลขาธิการโดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติอยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรมและจัดให้มีสาขาวิชาการ 6 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์การแพทย์, เคมีและเภสัช, วิทยาศาสตร์ชีวภาพ, เกษตรศาสตร์และวนศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรม

ในปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย ค้นคว้าหาความรู้และข้อมูลเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการวางแผนและนโยบายการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502(วันที่ 28 ตุลาคม 2502) แทน พ.ร.บ.สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.2499เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางเกี่ยวกับการวิจัยของประเทศพร้อมทั้งจัดระบบบริหารจัดการและองค์ประกอบของสภาวิจัยแห่งชาติใหม่โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการสภาฯและให้มีสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี (www.nrct.go.th, มกราคม 2556) ในการเปิดประชุมสภาวิจัยแห่งชาติครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เน้นถึงความสำคัญของสภาฯดังข้อความตอนหนึ่งว่า …โดยที่สภาวิจัยแห่งชาติเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย...การตั้งสภาวิจัยแห่งชาตินั้นเกิดจากความคิดที่ว่ารัฐบาลนี้ไม่ประสงค์จะทำอะไรโดยไม่พินิจพิเคราะห์ให้รอบคอบและการพินิจพิเคราะห์นั้นจะต้องทำโดยทางวิชาการแม้การวางแนวนโยบายของรัฐบาลในระยะยาว แต่ละเรื่องก็อยากจะให้ผู้รอบรู้ทางวิชาการได้วิจัยเสนอข้อคิดประกอบความดำริของคณะรัฐมนตรีเท่าที่สามารถจะทำได้ รวมความว่าเป็นเจตนาของรัฐบาลที่จะทำการทุกอย่างด้วยความรอบคอบที่สุด....หน้าที่ของสภาวิจัยแห่งชาติมีจำแนกไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติซึ่งสรุปรวมความไว้เป็น 2 ทางทางหนึ่งคือริเริ่มทำการวิจัยเองแล้วเสนอแนะแนวนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีอีกทางหนึ่งคือทำการวิจัยตามที่คณะรัฐมนตรีจะส่งเรื่องมาให้ ส่วนวิธีทำงานวิจัยก็มี 2 ทางเหมือนกัน ทางหนึ่งคือทำการวิจัยเองภายในสาขาวิชาหรืออีกทางหนึ่งจะส่งเสริมหรือมอบหมายให้ผู้อื่นทำการวิจัยก็ได้การที่จะทำงานให้ได้ผลจริงจังตามหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 นี้จะต้องมีทุนจึงได้มีบทบัญญัติในอนุมาตรา (9) ให้สภานี้พิจารณาหาทุนบำรุงการวิจัยและเสนอแนะรัฐบาลให้ได้มาซึ่งทุนเพื่อการวิจัยอนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆที่ระบุไว้ในมาตรา 6 นี้จะต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นเป็นเรื่องๆโดยอาศัยบทบัญญัติตามความในมาตรา 22 ซึ่งคณะกรรมการบริหารจะได้เสนอแต่งตั้งในภายหลัง…”

ในปี 2507 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.สภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) เพื่อกำหนดหน้าที่ของสภาวิจัยแห่งชาติและสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่315ลงวันที่ 13ธันวาคม พ.ศ. 2515แก้ไข พ.ร.บ.สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ"(วช.) (www.nrct.go.th, มกราคม 2556)และในปี 2522 (วันที่ 24 มีนาคม2522) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้โอนไปสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในปีเดียวกันนี้
 
จากการโยกย้ายไปมาของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตามนโยบายของผู้นำแต่ละท่านที่ผ่านเข้ามาบริหารประเทศ ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายและแผนปฏิบัติงานรวมทั้งเงินงบประมาณลงไปสนับสนุนงานวิจัย ในขณะที่โครงสร้างและจำนวนพนักงานและข้าราชการเติบโตเกินขนาดจึงขาดความคล่องตัวในการดำเนินงานยังผลให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมีบทบาทลดลงไปนอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนประธานคณะกรรมการฯและเลขาธิการตามวาระการดำรงตำแหน่งหลายครั้งซึ่งแต่ละท่านก็มีนโยบายไม่ต่อเนื่องและมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในด้านนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ การแต่งตั้งผู้บริหารและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทำให้การสนับสนุนการวิจัยขาดความต่อเนื่องและไม่มีเป้าหมายชัดเจนซึ่งส่งผลให้สภาวิจัยแห่งชาติที่มีความยิ่งใหญ่ในอดีตกลายเป็นสภาฯที่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและพวกพ้องจนอ่อนแอลงไปอย่างน่าเสียดายตามสำนวน “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาๆไปกลายเป็นบ้องกัญชา” อีกหน่วยงานหนึ่งของรัฐซึ่งไม่ต่างไปจากการลดบทบาทและความสำคัญของสภาการศึกษาแห่งชาติที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตดังที่กล่าวมาแล้ว

ในช่วงทศวรรษ 2520-2530 รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสภาวะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคไฮเทค จึงได้จัดตั้งหน่วยงานและสถาบันการวิจัยขึ้นมาเสริมสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยให้ดีขึ้นได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.),สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.),สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)(ดังที่จะกล่าวต่อไป)เพื่อปฏิรูประบบสนับสนุนทุนวิจัยให้มีประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนแต่หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลมีดำริที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ยุบรวมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อให้การสนับสนุนทุนวิจัยมีเอกภาพและลดความซ้ำซ้อนแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ
 
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจึงถูกโอนไปอยู่ในบังคับบัญชาโดยตรงของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการฯอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2543 โดยมีฐานะเป็นกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สำนักงานฯเป็นหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการวิจัยของชาติทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้อย่างแท้จริงตาม พ.ร.บ.สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2507ตามมติคณะรัฐมนตรีรวมทั้งสามารถให้คำปรึกษารัฐบาลเกี่ยวกับการวิจัยได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ แต่ความคาดหวังดังกล่าวก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยอื่นๆ อาทิ ศช.,สวทช., สกว. รวมทั้งโครงการวิจัยของอาจารย์และนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาที่ขับเคลื่อนมาด้วยดีและมีประสิทธิภาพ เพราะนโยบายและโครงการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ต้องผ่านวช.ทุกกรณี ซึ่งมีความล่าช้าตามขั้นตอนของระบบราชการและวิธีการประเมินข้อเสนอโครงการวิจัย

2.3.2 สถาบันและโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : การพัฒนาการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เริ่มต้นในช่วงทศวรรษ 2500-2520โดยการสนับสนุนทางความคิดและเงินช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อให้รัฐบาลไทยได้จัดตั้งสถาบันและหน่วยงานสนับสนุนเงินทุนวิจัยหลายแห่งที่พอสรุปได้ ดังนี้
1) จัดตั้ง “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย” (สวป.) ในปี 2506 ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อส่งเสริมวิจัยประยุกต์ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมรวมทั้งวิจัยชีววิทยาพื้นฐานด้านสัตว์และพืช เพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ โดยให้ สวป. เป็นองค์กรอิสระตามรูปแบบของ Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization (หรือ CSIRO) ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งให้ความช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาในระยะแรก
 
ต่อมาในปี 2510 รัฐบาลอนุมัติให้ สวป. จัดตั้ง “สถานีวิจัยสะแกราช” (วันที่ 19 กันยายน 2510)ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา และในปี 2519 สถานีวิจัยสะแกราชได้รับการคัดเลือกจากองค์การUNESCO ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑล (Man and Biosphere Progarmme-MAB ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2514 ก่อนการก่อตั้งUNEP ในปี 2515 โดยให้สถานีวิจัยแห่งนี้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve)แห่งแรกของประเทศไทย ต่อมา สวป. ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย” (วว.) (www.tistr.or.th, มกราคม 2556 )ตาม พ.ร.บ. 2522 ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในปีเดียวกันนี้

ข้อควรสังเกตคือ สวป.เริ่มต้นจากองค์กรอิสระและมีความคล่องตัวในการทำวิจัยคล้ายกับ CSIRO ของออสเตรเลียแต่ทำไปทำมากลับมาอยู่ในสังกัดกระทรวงฯโดยมีสถานภาพเป็นกรมหนึ่งกรมเท่านั้นเช่นเดียวกับสภาวิจัยแห่งชาติ ดังนั้นวว.จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาวิชาการที่ไม่ยั่งยืนและไม่มั่นคงตามวัตถุประสงค์เริ่มต้นเข้าทำนอง “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่เหลาๆ ไปกลายเป็นบ้องกัญชา” คล้ายกับสภาการศึกษาแห่งชาติและสภาวิจัยแห่งชาติดังที่กล่าวมาแล้ว

2) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นรัฐบาลไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ต”(วันที่ 11 ตุลาคม 2511) ในสังกัดกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามข้อตกลงร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเดนมาร์กซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านเงินงบประมาณและบุคลากรรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ ต่อมาศูนย์ชีววิทยาฯ ได้ยกฐานะเป็น “สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล” (วันที่ 18 พฤศจิกายน 2539) โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเดนมาร์กเป็นระยะที่ 2 (2539-2543) เมื่อมีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม จึงได้โอนสถาบันวิจัยฯ ภายใต้ชื่อใหม่ คือ “สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” (วันที่ 19 ตุลาคม 2545) มาสังกัดในกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่งจัดตั้งใหม่และเปลี่ยนชื่อสถาบันฯ อีกครั้งหนึ่งเป็น “สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน” (วันที่ 24 มิถุนายน 2547) เพื่อทำหน้าที่สำรวจศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นภายใต้ความช่วยเหลือจากประเทศเดนมาร์กอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนกระทั่งทุกวันนี้ (www.dmcr.go.th, มกราคม 2556 )

3) ในปี 2519 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาการจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำรายงานเสนอให้จัดตั้ง “กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี (นายธานินทร์ กรัยวิเชียร) แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทำให้การจัดตั้งกระทรวงฯล่าช้าไปจนถึงปี2522จึงได้จัดตั้ง“กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน” ตาม พ.ร.บ. แก้ไขประกาศคณะปฏิวัติ(วันที่24 มีนาคม 2522) ในรัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อมาปี 2535เปลี่ยนชื่อกระทรวงฯเป็น“กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” (วันที่ 4 เมษายน 2535)แต่เมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างบริหารราชการในปี 2545จึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็น “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)” (วันที่ 2 ตุลาคม 2545)ในบทบาทที่ชัดเจนขึ้นตามการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (www.most.go.th, มกราคม 2556)
4) จัดตั้ง“ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ”(ศช.) (วันที่ 20 กันยายน 2526 )ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาใน 4 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมและกึ่งอุตสาหกรรมด้านการเกษตร, สาธารณสุข, พลังงานและสิ่งแวดล้อม พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (www.biotec.or.th,มกราคม2556)
5) จัดตั้ง“สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” (กพวท.หรือ STDB: Science and Technology Development Board ) ในปี 2528 มีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ชั้น 6 อาคารจรัญประกันภัย ถนนรัชดาภิเษกโดยให้เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (ผ่านองค์การ USAID) ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2527เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยใน 3 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ-เทคโนโลยีชีวภาพ, เทคโนโลยีวัสดุ, เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ประยุกต์และคอมพิวเตอร์ โดยใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลไทยร่วมกับเงินสนับสนุนให้เปล่า (15.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (19.6 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 7 ปี (2528-2535) โดยให้สำนักงาน กพวท.หรือ STDB ดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.)(www.hsri.or.th,มกราคม 2556)

6) จัดตั้ง“สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” (สวทช หรือ NSTDA: National Science and Technology Development Agency)ตาม พ.ร.บ.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 โดยยกฐานะมาจากกพวท. โดยรวมเอาหน่วยงาน 3 แห่ง คือ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.), ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) เข้าไว้ด้วยกัน และให้ สวทช. มีวิธีการบริหารอิสระออกนอกระบบราชการแต่ก็ยังอยู่ภายใต้นโยบายการดำเนินงานของ กวทช. (www.nstda.or.th, มกราคม 2556) สวทช.ดำเนินการมาด้วยดีในตอนต้นและต่อมาได้ขยายใหญ่โตขึ้นทั้งด้านโครงสร้างและจำนวนบุคลากร นักวิจัย จนเกิดเป็น Science Park ที่ศูนย์รังสิตซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและพัฒนา การอบรมนักเรียน นักวิจัยรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ทำให้ สวทช.ดูอุ้ยอายและไม่คล่องตัวเหมือนตอนเริ่มต้นจึงมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงไปคล้ายกับสภาวิจัยแห่งชาติ
7) จัดตั้ง“สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย” (สกว. หรือ TRF: The Thailand Research Fund)ในช่วงเวลาเดียวกันตาม พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535 (วันที่ 29 มีนาคม 2535)เพื่อบุกเบิกเปิดมิติใหม่ของการวิจัยรอบด้านทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพโดยดำเนินงานเป็นองค์กรอิสระแยกออกจากระบบราชการภายใต้แนวทางที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีทำให้มีความคล่องตัวและต่อเนื่องสำนักงาน สกว.ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในด้านต่างๆให้กว้างขวางมากกว่า สวทช. และ วช.นอกจากนั้น สกว. ยังสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องและเอื้อต่อการวิจัยให้เกิดประโยชน์และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประชาคมวิจัยของประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมของชาติตามปณิธาน “สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อพัฒนาประเทศ”(www.trf.or.th, มกราคม2556) ซึ่งยังคงเป็นปรัชญาและวัฒนธรรมขององค์กรที่เป็นอิสระที่มีโครงสร้างและบุคลากรไม่ใหญ่จนเกินไปทำให้บริหารงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
8) จัดตั้ง“สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข” (สวรส.)ตาม พ.ร.บ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ.2535 ในช่วงเวลาเดียวกับการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยให้สวรส.เป็นองค์กรของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการเพื่อให้การบริหารงานและการวิจัยมีความเป็นอิสระและคล่องตัวในการจัดการความรู้ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืนสวรส.มีโครงสร้างการทำงานในแบบเครือข่ายที่สามารถทำงานวิจัยเชื่อมโยงกันได้อย่างเป็นระบบและประสานงานกับองค์กรภาคีได้เป็นอย่างดี ทำให้การดำเนินงานของสวรส.ได้ผลดีมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคมเสมอมา(www.hsri.or.th, มกราคม2556)
หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะขาดแคลนเงินงบประมาณแผ่นดินจึงต้องหวังพึ่งเงินกู้จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อนำมาใช้จ่ายในการจัดการบริหารประเทศโดยเฉพาะทางด้านการศึกษาและการวิจัยซึ่งเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลไทยจึงให้การสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรต่าง ๆโดยการช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศได้แก่
9) จัดตั้ง“โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”ในปี 2542 โดยให้ดำเนินการจากเงินกู้ 59.32 ล้านเหรียญสหรัฐจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB)โดยมีโครงการย่อย 7 โครงการซึ่งดำเนินงานได้ตามเป้าหมายและได้ผลดีในระยะแรกจนสิ้นสุดการดำเนินงาน ตามกรอบระยะเวลาโครงการเงินกู้จากธนาคารADBจนครบ 5 ปี ทบวงมหาวิทยาลัยจึงเห็นสมควรให้โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะที่2และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาฯ ระยะที่ 2 (2549-2552) โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณสนับสนุนจำนวน 2,055 ล้านบาท ต่อมาปี 2550คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพิ่มศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์และศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์โดยมีกรอบการดำเนินงาน 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.)ซึ่งต่อมาได้มีมติปรับเปลี่ยนสถานภาพและชื่อโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาฯ เป็น “สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”(สบว.)ในปี 2551โดยให้อยู่ในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาฯ ระยะที่ 2 (2549-2552) สิ้นสุดการดำเนินงานเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552
แต่ผลการดำเนินงานของบางศูนย์อาจไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้(www.perdo.or.th, มกราคม 2556) อย่างไรก็ตามสำนักงาน สบว.ได้เสนอโครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศระยะที่ 3 (2555-2559)โดยเพิ่มศูนย์ความเป็นเลิศใหม่อีก 2 ศูนย์ฯรวมกับศูนย์ฯเดิม 9 ศูนย์ฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนต่อเนื่องจากรัฐบาลโดยขอรับการสนับสนุนเงินกู้จากต่างประเทศจำนวน 9, 300 ล้านบาท และเงินงบประมาณแผ่นดิน (4,720 ล้านบาท) คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการของโครงการดังกล่าวและจัดสรรเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปประจำปี 2556 งวดที่ 1 จำนวนประมาณ 118 ล้านบาทซึ่งคงไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นี่ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่สะท้อนบทเรียนของสังคมไทยที่ขาดการสนับสนุนงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจังและต่อเนื่องทำให้หน่วยงานดังกล่าวไม่เจริญก้าวหน้าตามความคาดหวัง เข้าทำนอง“ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่เหลา ๆ ไปกลายเป็นบ้องกัญชา” อย่างน่าเสียดาย
10) จัดตั้ง“สำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร”(สวก.)ในปี 2546 ในรูปแบบองค์การมหาชนที่เป็นหน่วยงานอิสระและมีความคล่องตัวในการดำเนินงานด้วยทุนดำเนินการขั้นต้นจำนวน3, 000 ล้านบาท(www.arda.or.th, มกราคม2556)จากโครงการเงินกู้จากต่างประเทศมาสนับสนุนการปรับโครงสร้างการวิจัยภาคเกษตรเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศโดยให้การสนับสนุนทุนวิจัยกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมการข้าว แต่การพัฒนาวิชาการด้านนี้มีความก้าวหน้าล่าช้าเพราะขาดนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งๆที่มีเงินทุนสนับสนุนจำนวนมาก
11) จัดตั้ง “ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ” (นาโนเทค) (วันที่ 13 สิงหาคม 2546) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีให้ทันสมัยและสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ด้านผลิตภัณฑ์ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของประเทศไทยและเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามกระแสการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติตะวันตก ศูนย์นาโนเทคโนโลยียังมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความตระหนักแก่ผู้คนในสังคมไทยในการรับรู้ความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 (www.nanotec.or.th, มกราคม 2556)
12) จัดตั้ง“สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” (องค์การมหาชน)(สดร.) การจัดตั้งสถาบันวิจัยฯแห่งใหม่นี้มีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2547 ในโอกาสที่มีการสมโภช 200 ปีแห่งการพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยและในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทยทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ปี 2550 รัฐบาลไทยจึงอนุมัติให้ดำเนินการโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)ตามนโยบายพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่การจัดตั้งสถาบันฯแห่งใหม่นี้มีผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)พ.ศ. 2551 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2552ภายใต้กำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสถาบัน สดร.มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยพื้นฐานและสร้างสรรค์องค์ความรู้สู่สังคมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและสนับสนุนความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กำลังเป็นกระแสการพัฒนาโลกยุคไฮเทค(www.narit.or.th, มกราคม 2556)
13) จัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ” (สวทน.) ปี 2551เนื่องจากตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาผู้นำประเทศ ผู้บริหารและผู้นำทางวิชาการได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ วช.,สวทช., สกว., สวรส.,สวก. ดังที่กล่าวมาข้างบนแต่ความสามารถการแข่งขันด้านนี้ของเราก็ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพอใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ที่มีความก้าวหน้ามากกว่าเรา เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้
 
ดังนั้นหลังการปฏิวัติวันที่19 กันยาจน 2549 รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งจึงมีนโยบายที่จะปฏิรูประบบวิจัยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และสามารถสร้างวัฒนธรรมการวิจัยเชิงพาณิชย์เพื่อการแข่งขันกับนานาชาติ“สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ” (สวทน.) (www.hsri.or.th, มกราคม 2556)จัดตั้งขึ้นใหม่ตามพ.ร.บ. พ.ศ.2551 (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551) พร้อมกับการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (กวทน.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเลขานุการ และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากระดับผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชน โดยมีสำนักงาน สวทน.เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อจัดทำแผนและกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการวิจัยและพัฒนาให้เป็นเอกภาพอย่างต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมายทั้งในด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียและในระดับโลก
************************************
บทความพิเศษ การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย  จาก ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ 10400 อนุเคราะห์ให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เผยแพร่ โดยแบ่งบทความทั้ง 3 ตอน  

(วิสุทธิ์ ใบไม้.2556. “การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย” ในหนังสือ “ด้วยรัก เล่มที่ 4 : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองและสังคม (รวมบทความในโอกาสศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อายุ 72 ปี) ” ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (บรรณาธิการ) บริษัทสำนักพิม์สร้างสรรค์ จำกัด กรุงเทพฯ . หน้า 69-116 )







กำลังโหลดความคิดเห็น