xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ไทยไม่สามารถเข้าสู่ระดับนานาชาติ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย
ตอน 1 - ทำไมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ไทยไม่สามารถเข้าสู่ระดับนานาชาติ?

โดย ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ 10400

ในแต่ละปีมีข่าวผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ที่เสนอข่าวว่านักเรียนไทยได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน(เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์) คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักเรียนไทยมีความรู้ความสามารถเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทัดเทียมกับอารยะประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข่าวว่านักเรียนไทยสอบได้คะแนนต่ำมากในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามมาตรฐานการทดสอบ O-NETเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะการทดสอบนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในระดับนานาชาติโดยองค์กรต่างชาติ (TIMSS)จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์โดยนักวิชาการด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ว่าเพราะเหตุใดนักเรียนไทยจึงอ่อนด้อยด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั้งๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเงินงบประมาณด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จำนวนมากในแต่ละปี มีอะไรเกิดขึ้นกับแวดวงวิชาการด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของไทย

ในทำนองเดียวกันเราได้รับทราบข่าวว่านักวิทยาศาสตร์ไทยได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยมีผลงานการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในทางการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม แต่การค้นพบสิ่งใหม่ๆในด้านเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ไม่ค่อยมีปรากฏให้เห็นในแวดวงวิชาการไทย มิหนำซ้ำมหาวิทยาลัยไทยยังไม่ติดอันดับต้นๆของโลกเลย

ทำไมการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจึงไม่สามารถพัฒนาก้าวหน้าสู่ระดับนานาชาติได้อย่างที่คาดหวังทั้งๆ ที่นักเรียนและนักวิทยาศาสตร์ไทยมีสติปัญญาความรู้และความสามารถไม่แพ้นักวิชาการต่างชาติเลยและอาจเก่งกว่านักวิทยาศาสตร์ต่างชาติในบางสาขาวิชาด้วยซ้ำไปเหตุการณ์ด้านการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์ไทยดังกล่าวเป็นประเด็นใหญ่ในการถกเถียงและเสวนาในหมู่นักวิชาการของสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับการเรียนการสอนและการวิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมาเมื่อเราเริ่มการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานความรู้และข้อมูลจากการวิจัยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 เราจะต้องทบทวนการพัฒนาการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยว่าทำไมจึงไม่ก้าวหน้าไปได้ไกลทั้งที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างดีและมีวิสัยทัศน์ชัดเจนในตอนเริ่มต้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ที่เริ่มต้นพัฒนาประเทศพร้อม ๆ กับเรา เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์สาเหตุที่แท้จริงคืออะไรและจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักการศึกษา นักวิชาการ ผู้บริหารและผู้นำประเทศที่จะต้องเร่งรีบหาคำตอบและหาแนวทางแก้ไขให้ได้โดยเร็วโดยประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มิเช่นนั้นแล้วประเทศไทยอาจตกขบวนรถไฟในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใช้เป็นฐานของการสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาจนอาจทำให้เราไม่สามารถแข่งขันทางด้านนี้ได้ในเวทีโลกที่จะยิ่งทวีความเข้มข้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้นใน 2 ทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันและรู้เท่ารู้ทันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเวทีโลกได้หรือไม่หรือแม้กระทั่งในประชาคมอาเซียนที่กำลังขับเคลื่อนกันอย่างเข้มข้นในขณะนี้

1.การจัดระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่2
หลังสงครามโลกครั้งที่2 ประเทศต่างๆ มีการปรับพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจสังคมและจัดทำยุทธศาสตร์การเมืองและความมั่นคงโดยประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน และสหภาพโซเวียตได้ร่วมลงนามจัดตั้งสหประชาชาติ(United Nations-UN)ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในปี 2485 และมีผลเป็นกฎบัตรแห่งองค์การระหว่างประเทศในปี 2488 เมื่อ 51 ประเทศได้ร่วมลงนามให้สัตยาบัน(www.un.org, มกราคม 2556)โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายพันธมิตรในยุโรปในขณะที่มีการแยกขั้วทางการเมืองของโลกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจนระหว่างระบอบประชาธิปไตยของค่ายเสรีนิยมจากซีกโลกตะวันตก (ยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ) และระบอบคอมมิวนิสต์จากค่ายประเทศตะวันออก (ยุโรปตะวันออก รัสเซียและจีน)ทำให้สถานการณ์โลกตกอยู่ในภาวะสงครามเย็นและมีการพัฒนาและสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมากโดยใช้ความสามารถการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถือว่าเป็นอาวุธและพลังอำนาจที่สำคัญของโลกยุคใหม่ที่พัฒนาก้าวหน้ามาตามลำดับทั้งในด้านวิชาการและเทคโนโลยีที่แข่งขันกันส่งจรวด ดาวเทียม การเดินทางไปยังดวงจันทร์และการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจค่ายเสรีประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกากับค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียตรัสเซีย

1.1ด้านการเงินการคลัง
ฝ่ายพันธมิตรได้จัดระเบียบโลกใหม่ทางเศรษฐกิจและการเงินการคลังโดยจัดตั้งธนาคารโลก(World Bank-WB)และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund-IMF) ในปี 2487 (www.worldbank.orgและwww.imf.org, มกราคม2556) เพื่อจัดการและควบคุมระบบการเงินของโลกรวมทั้งให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแบบให้เปล่าและโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ประเทศภาคีเพื่อพัฒนาประเทศตามระบอบประชาธิปไตยของชาติตะวันตก

การปรับระเบียบโลกใหม่ในด้านดังกล่าวมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ดังนั้นธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank - ADB)จึงถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2509 โดยความช่วยเหลือขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ธนาคารแห่งนี้มีโครงการเงินกู้ ADB สำหรับประเทศสมาชิกในทวีปเอเชียเพื่อใช้ในการพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสาธารณูปโภคและด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยก็ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารADB ตั้งแต่ปี 2511 ทั้งในรูปแบบให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (www.adb.org, มกราคม2556)

นอกจากนั้นองค์การสหประชาชาติและกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางฝ่ายพันธมิตรยังได้จัดตั้งองค์การต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทางด้านวิชาการและการพัฒนาให้แก่ประเทศภาคีรวมทั้งประเทศไทยได้แก่:

1)องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO) ปี2488 เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศบนพื้นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นและจิตสำนึกของมนุษยชาติทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสังคมท้องถิ่น (www.unesco.org,มกราคม 2556)

2)คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-ESCAP)ปี 2490 เพื่อช่วยเหลือการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมขจัดความยากจนและให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกรวมทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะต่าง ๆ ซึ่งมีประชากรรวมกันทั้งภูมิภาคจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของประชากรโลกที่ยังด้อยโอกาส(www.unescap.org, มกราคม2556)

3)โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United NationsDevelopment Programme-UNDP) ปี 2508เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจสังคมและเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในประเทศที่ด้อยพัฒนาและประเทศที่กำลังพัฒนา(www.undp.org,มกราคม 2556)

4)โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - UNEP)ปี 2515 เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีคุณภาพโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น (www.unep.org, มกราคม2556)

5) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development-USAID)ปี2493 เพื่อให้ความช่วยเหลือการพัฒนาประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในหลายด้าน เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัย การศึกษา การเกษตร การแพทย์ การสาธารณสุขพื้นฐาน การบริหารสิ่งแวดล้อม (www.usaid.gov, มกราคม2556)


6) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา (Canadian International Development Agency-CIDA)ปี2511 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การฝึกอบรม แก้ไขปัญหาความยากจนและความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศต่าง ๆในภูมิภาคเอเชีย (www.acdi-cida.gc.ca, มกราคม2556)

1.2 ด้านการเมืองการทหารและความมั่นคง
ผลกระทบจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองจากซีกโลกตะวันตกทำให้เกิดการวางยุทธศาสตร์ทางการทหารความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์โดยฝ่ายพันธมิตรได้จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียอาคเนย์หรือสปอ. (Southeast Asia Treaty Organization-SEATO) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2498 ตามข้อตกลงร่วมกันของประเทศภาคีที่ประกอบด้วย ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์,ฟิลิปินส์, ไทย, ปากีสถาน, ฝรั่งเศส, อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่กรุงมนิลา (Manila Pact 1954) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ (หัวมุมถนนศรีอยุธยากับถนนพระราม 6 ที่อยู่ของกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน) และมีนายพจน์ สารสิน เป็นเลขาธิการคนแรก (history.state.gov,มกราคม 2556)องค์การSEATO มีเป้าหมายเพื่อป้องกันประเทศและสร้างความมั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์จากการรุกรานของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในลักษณะที่คล้ายกับองค์การ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงและป้องกันประเทศภาคีในยุโรปตะวันตก(www.nato.int ,มกราคม 2556 )

1.3 ด้านการศึกษาและการวิจัย
นอกจากบทบาททางการเมือง การทหารและความมั่นคงแล้ว SEATO ยังมีบทบาทในด้านการพัฒนาการศึกษา การวิจัย เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งอนุกรรมการด้านต่างๆดังกล่าวเพื่อให้การสนับสนุนประเทศภาคี นอกจากนั้นSEATO ยังให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเช่น Graduate School of Engineering (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Asian Institute of Technology - AIT ในปัจจุบัน) (www.ait.ac.th, มกราคม 2556) และ Teacher Development Center ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯองค์การSEATO ยังให้ทุนสนับสนุนการวิจัยทางการเกษตรและทางการแพทย์แก่ประเทศภาคี เช่น จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยอหิวาตกโลกขององค์การ สปอ.ในกรุงเทพฯในปี 2502 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น หน่วยปฎิบัติการทางการแพทย์ขององค์การสปอ. (SEATO Medical Research Laboratory) ในปี 2503 ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทยกับของสหรัฐอเมริกาซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นสำนักงานโครงการวิจัยทางการแพทย์ขององค์การสปอ. (สน.วพ.สปอ.) หรือที่รู้จักกันในนาม SEATO LAB ในปี 2504 โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎ เมื่อสงครามเวียตนามยุติลงในปี 2518 ยังผลให้SEATO ลดบทบาทลงจนกระทั่งปิดสำนักงาน สปอ. ในที่สุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2550 จึงได้เปลี่ยนชื่อ สน.วพ.สปอ.เป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (Armed Forces Research Institute of Medical Research - AFRIMS) ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับโรคเขตร้อน เช่น มาลาเรีย,ไข้เลือดออก,ไข้สมองอักเสบ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันสถาบันวิจัยฯ แห่งนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเขตร้อนที่เป็นประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประเทศไทยและในภูมิภาคนี้อย่างมากนับว่าเป็นสถาบันวิจัยฯที่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อเนื่องและมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ (www.afrims.org, มกราคม2556)

นอกจากการจัดตั้งองค์การ SEATO แล้วประเทศภาคีจากฝ่ายพันธมิตรนำโดยประเทศออสเตรเลียได้จัดการประชุมกลุ่มประเทศในเครือจักรภพสหราชอาณาจักรที่เมืองโคลอมโบ(Colombo)ของซีลอน(Ceylon)หรือประเทศศรีลังกา(SriLanka)ในปัจจุบันและได้มีข้อตกลงร่วมมือกันในการพัฒนาโครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจสังคม การศึกษาและวิจัยแก่ประเทศภาคีในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ภายใต้ชื่อ “แผนการโคลอมโบ”(Colombo Plan)ในปี 2493(www.colombo-plan.org, มกราคม2556)โดยมีประเทศภาคีเริ่มก่อตั้ง 7 ประเทศคือ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินเดีย, ปากีสถาน, ศรีลังกา(ซีลอนในขณะนั้น), แคนาดา,และอังกฤษต่อมาในปี 2494 มีประเทศเพิ่มอีก 9 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, พม่า, กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซียและไทย ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศภาคีรวมทั้งประเทศไทย โดยให้ทุนการอบรมการศึกษาและการวิจัยแก่บุคลากรและนักเรียนไทยภายใต้ “ทุนโคลอมโบ” ไปศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอกทางด้านวิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, สังคมศาสตร์ใน 2 ประเทศนี้เพื่อกลับมาพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยในมหาวิทยาลัยเดิมและในมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในภาคเหนือ ภาคใต้และภาคอีสานในทศวรรษ2500

2. เริ่มการพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ
ในช่วงทศวรรษ 2490 ประเทศไทยเริ่มปรับตัวในการพัฒนาประเทศโดยได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากประเทศพันธมิตรทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การวิจัยและความมั่นคงทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยของซีกโลกตะวันตก แต่เมืองไทยในขณะนั้นก็ยังมีปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันทางการทหารและทางการเมืองจนกระทั่งต้นทศวรรษ 2500 เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารเปลี่ยนอำนาจการปกครองประเทศนำโดย พล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์(www.cabinet.thaigov.go.th, มกราคม 2556)เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามหมดอำนาจและคณะปฏิวัติได้มอบให้ พล. ท. ถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารประเทศได้ประมาณหนึ่งปีจึงมีการปฏิวัติรัฐประหารครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 เพื่อเปิดทางให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศโดยการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ คณะปฏิวัติได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งเข้ามามีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารในประเทศไทยภายใต้กรอบการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินและการบริหารจัดการตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่นESCAP, USAID, CIDA, ADB รวมทั้งองค์การต่าง ๆ ภายใต้องค์การสหประชาชาติ อาทิ UNESCO, UNDP, UNEPเพื่อการวางแผนพัฒนาประเทศไทยบนฐานความรู้สำคัญ 3 ด้าน คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาและการวิจัยเพื่อเร่งรัดการพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำมาเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาในบทความนี้ที่พอสรุปได้ดังนี้

2.1ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
หลังการปฏิวัติจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้จัดการปรับปรุง “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” พ.ร.บ. 2493 ซึ่งมีหน้าที่เสนอความเห็นและคำแนะนำตลอดจนข้อชี้แจงต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยปรับโครงสร้างและการทำงานให้กว้างขวางขึ้นโดยขยายบทบาทหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก ต่อมาหน่วยงานนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” (2502) เพื่อวางแผนและดำเนินงานการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมของชาติตะวันตกในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยเริ่มทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504-2509 สำนักงานฯนี้ดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งจึงมีการปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเปลี่ยนเป็น “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (2515) หรือที่รู้จักกันในนาม “สภาพัฒน์ฯ” เพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศโดยนำเอาภาคสังคมเข้ามาใช้ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังต่อมาในปี 2521 ได้มีการแบ่งหน่วยงานสภาพัฒน์ฯออกเป็น 2 ระดับ คือ (1) ระดับคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและ (2) ระดับสำนักงานคณะกรรการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ตาม พ.ร.บ. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในวางแผนการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมาจนถึงแผนฉบับที่ 11 (2555-2559) ในปัจจุบัน (www.nesdb.go.th, มกราคม2556)

2.2 ด้านการศึกษา
2.2.1 จัดตั้ง “สภาการศึกษาแห่งชาติ”: การศึกษาเริ่มเข้ามาสู่ประเทศสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเริ่มจัดตั้งโรงเรียนวิชาชีพต่างๆ เช่น โรงเรียนข้าราชการพลเรือน โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนเกษตร เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านต่างๆ ดังกล่าวซึ่งต่อมาโรงเรียนวิชาชีพบางแห่งได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยในนาม “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมารัฐบาลไทยได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยในสายวิชาชีพเพิ่มอีก4แห่ง คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร การจัดตั้งมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่งนี้เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.สภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ พ.ศ.2490
ต่อมาสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติได้โอนมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี(วันที่11มกราคม 2499) ในรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการสภาฯ รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานฯโดยมีเป้าหมายในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง(แต่ละมหาวิทยาลัยต้องมีวิชาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของสาขาวิชาชีพ) เพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ  โดยมีอำนาจและหน้าที่บริหารกิจกรรมของมหาวิทยาลัยต่างๆดังกล่าว

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้วจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาประเทศจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแผนการศึกษาโดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานและศาสตราจารย์  ดร.กำแหง  พลางกูร  เป็นเลขานุการเพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาของไทยในทุกระดับให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจากนั้นจึงมีการจัดตั้ง“สภาการศึกษาแห่งชาติ”ตามพ.ร.บสภาการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2502(วันที่ 14กุมภาพันธ์ 2502) (onec.go.th, มกราคม2556) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานฯ และมีศาสตราจารย์ดร.กำแหงพลางกูรเป็นกรรมการและเลขานุการและให้โอนกิจการและอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติมารวมไว้ในสภาการศึกษาแห่งชาติและได้ยกเลิก พ.ร.บ.สภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ พ.ศ.2499

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ปรารถนาที่จะทำให้ “สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นสภาที่ยิ่งใหญ่”  เพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาคนในชาติให้พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าโดยกำหนดให้  “สภาการศึกษาแห่งชาติ” มีบทบาทสำคัญในการทำแผนนโยบายบริหารจัดการและสร้างมาตรฐานการศึกษาและวิชาการรวมทั้งทำการวิจัยและติดตามประเมินผลและประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่ทำงานด้านการศึกษาของชาติให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศโดยทำคู่ขนานกับ “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ”และ “สภาวิจัยแห่งชาติ”ซึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่เช่นเดียวกันตามนโยบายหลัก 3 ประการของรัฐบาลในขณะนั้น

จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาอย่างมากดังคำกล่าวปราศรัยในการเปิดประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติครั้งแรก (วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2502) ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า“…เป็นความปิติยินดีอย่างสูงของข้าพเจ้าอีกวาระหนึ่งที่ได้เปิดประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติ  ภาพที่เราแลเห็นในการประชุมครั้งนี้เป็นที่พิสูจน์อันแน่ชัดว่าข้าพเจ้าให้ความสำคัญแก่การศึกษามากเพียงใด  ข้าพเจ้าได้จัดให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นสภายิ่งใหญ่ซึ่งถ้าลองนับจำนวนสมาชิกแห่งนี้ก็จะได้พบประธาน  รองประธาน  และรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษารวม 8 คน  กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 4 แห่ง  พระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ 67คน คณะกรรมการบริหาร 9 คนรวมตัวเลขตามรายการ90 คน… มากกว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติที่ตั้งมาแล้วจึงต้องนับว่าสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นสภาที่ยิ่งใหญ่มากเพราะมีความรับผิดชอบยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ชนในชาติให้ดียิ่งขึ้นไปและความยิ่งใหญ่ของสภานี้ไม่เฉพาะในปริมาณเท่านั้นในทางคุณภาพก็ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน เพราะสภาการศึกษาแห่งชาติประกอบด้วยผู้รู้  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ  ข้าพเจ้าลองนับดูวิทยฐานะของสมาชิกสภานี้ได้พบผู้สำเร็จการศึกษาถึงขั้นดุษฎีบัณฑิตหรือดอกเตอร์ดีกรีถึง27 คนและขั้นมหาบัณฑิตหรือมาสเตอร์ดีกรี19 คน  นับว่าตู้วิชาอันใหญ่หลวงของชาติได้ถูกยกเข้ามาวางอยู่ที่ประชุมนี้…”(onec.go.th,มกราคม 2556)

ดังนั้นสภาการศึกษาแห่งชาติจึงเป็นความหวังสูงสุดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการทำหน้าที่กำหนดทิศทางการศึกษาของชาติเพื่อพัฒนาบุคลากรให้เป็นกำลังสำคัญตามแผนการพัฒนาประเทศสภาการศึกษาแห่งชาติจึงมีบทบาทหน้าที่ประสานรวมพลังของผู้ทรงคุณวุฒินักวิชาการ ผู้บริหาร และผู้นำประเทศเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของคนในชาติไปสู่เป้าหมาย

ในปี2509 สภาการศึกษาแห่งชาติได้แบ่งออกเป็น 3 สาขา คือ คณะกรรมการระดับอุดมศึกษาคณะกรรมการระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าอุดมศึกษาและคณะกรรมการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาอื่นๆต่อมาในปี 2510  รัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งวิทยาลัยเอกชนขึ้นโดยให้สภาการศึกษาแห่งชาติทำหน้าที่ดูแลวิทยาลัยเอกชนรวมทั้งการให้บริการวิชาการและการวิจัยทางการศึกษาด้วย ต่อมารัฐบาลของจอมพลถนอมกิตติขจรได้ประกาศใช้พ.ร.บ.สภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2512 ซึ่งกำหนดให้สภาฯประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  และมีกรรมการโดยตำแหน่งรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 70 คนโดยให้เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ

************************************
บทความพิเศษ การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย  จาก ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ 10400 อนุเคราะห์ให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เผยแพร่ โดยแบ่งบทความทั้ง 3 ตอน  

(วิสุทธิ์ ใบไม้.2556. “การศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย” ในหนังสือ “ด้วยรัก เล่มที่ 4 : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองและสังคม (รวมบทความในโอกาสศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อายุ 72 ปี) ” ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (บรรณาธิการ) บริษัทสำนักพิม์สร้างสรรค์ จำกัด กรุงเทพฯ . หน้า 69-116 )






กำลังโหลดความคิดเห็น