xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบของการทำเกษตรกรรมฝ้ายในบริเวณรอบทะเลสาบ Aral

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ฝ้ายพร้อมเก็บเกี่ยว
Herodotus นักประวัติศาสตร์ในสมัยพุทธกาลเคยเขียนบรรยายเกี่ยวกับต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นในเอเซียว่ามีขนนุ่มปกคลุมเต็มตามลำต้น และกิ่งก้าน เพื่อให้ชาวบ้านเก็บขนนำไปทอผ้า เมื่อครั้งที่จักรพรรดิ Alexander มหาราชทรงกรีฑาทัพถึงอินเดีย พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นฝ้ายที่ชาวอินเดียปลูก และทรงทราบว่า ใยของต้นไม้ชนิดนี้เมื่อนำมาทอ จะได้ผ้าที่บางเบา และนุ่มยิ่งกว่าผ้าที่ทอจากขนแกะเสียอีก

คัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงปราชญ์ 3 ท่านที่ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าทารกเยซู ซึ่งประสูติที่หมู่บ้าน Bethlehem โดยทุกคนใส่เสื้อที่ทอด้วยฝ้าย ส่วนทารกเยซูก็ทรงบรรทมในรางหญ้าที่มีผ้าห่มซึ่งทอด้วยฝ้ายคลุม

ในปี 1519 เมื่อแม่ทัพ Hernando Cortez ยกทัพบุกอาณาจักร Aztec ในอเมริกากลาง กษัตริย์ Montezuma แห่งอาณาจักร Aztec ณ เวลานั้นทรงประทานเสื้อฝ้ายที่มีทองคำประดับให้ และ Cortez ก็ได้นำเสื้อดังกล่าวไปถวายแด่พระเจ้า Charles ที่ 5 แห่งสเปน เพราะเขาคิดว่า มันเป็นภัสตราภรณ์ที่มีค่าคู่ควรกษัตริย์มากกว่าคนทั่วไป

ด้าน Jean Baptiste Tavernier ซึ่งเป็นนักผจญภัยชาวฝรั่งเศสที่เคยสำรวจอินเดียเมื่อ 5 ศตวรรษก่อนก็ได้บันทึกว่า ได้เห็นคนอินเดียสวมใส่เสื้อผ้าที่เบาพริ้ว เสมือนไม่ได้สวมใส่อะไรเลย

เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่า คนเอเซียนิยมสวมใส่ผ้าที่ทอด้วยใยลม ได้ชักนำให้ชาวยุโรปเมื่อ 500 ปีก่อนเดินทางมาเยือนเอเซีย เพื่อค้นหาต้น Vegetable Lamb of Tartary ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ชาวยุโรปเชื่อว่ามีขนขึ้นตามกิ่ง และก้าน และมีปลูกที่เมือง Tartary ซึ่งอยู่ระหว่างเมือง Tehran กับ Samarkand และอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุง Istanbul ความจริงต้นขนแกะที่ว่านี้ คือ ต้นฝ้ายที่ชาวเอเซียรู้จักนั่นเอง ในเวลาต่อมาเมื่อชาวยุโรปรู้จักฝ้ายก็ได้นำต้นฝ้ายไปปลูกบ้าง เพื่อนำใยไปทอผ้า แต่ก็มีเฉพาะเศรษฐีเท่านั้นที่มีเงินซื้อและสามารถสวมใส่เสื้อผ้าที่ทอด้วยฝ้ายได้

ถึงปี 1750-1820 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อเมริกากำลังย่างเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การทำไร่ฝ้ายได้เป็นอาชีพที่นิยมทำกันมาก ตามปรกติคนงานในไร่ฝ้ายมักเป็นทาสนิโกรที่ถูกบังคับให้ทำงานหนัก เพื่อแลกกับค่าจ้างที่น้อยนิด การแบ่งชั้นวรรณะระหว่างทาสกับนาย และการเหยียดผิวทำให้สังคมอเมริกันในสมัยนั้นอยู่ในสภาพแตกแยก และหมดหนทางปรองดองจึงทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ความรุนแรงนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า ฝ้ายมีบทบาทไม่น้อยในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของอเมริกา

ครั้นเมื่อ James Hargreaves และ Richard Arkwright ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เครื่องจักรทอผ้าได้เป็นครั้งแรกในปี 1762 ความสามารถของเครื่องจักรทำให้ปริมาณการทอผ้าเพิ่มถึง 30 เท่าภายในเวลาเพียง 20 ปี จนอังกฤษซึ่งไม่มีการทำเกษตรกรรมปลูกฝ้ายเลย กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ส่งผลิตภัณฑ์ฝ้ายเป็นสินค้าออกที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีศูนย์กลางทอผ้าฝ้ายที่เมือง Manchester จนทำให้โลกรู้จักเมืองนี้ในนาม Cottonpolis

ถึงปี 1794 เมื่อ Eli Whitney ออกแบบเครื่องจักรที่ใช้แยกเมล็ดฝ้ายออกจากใย สิ่งประดิษฐ์ทั้งของ Whitney, Hargreaves และ Arkwright จึงได้เข้ามาปฏิรูปอุตสาหกรรมฝ้าย จนทำให้ความต้องการแรงงานทาสในไร่ลดลงมาก และทำให้ความต้องการช่างทอมีมากขึ้น ผู้คนจึงพากันหลั่งไหลไปทำงานในโรงงานทอผ้า กระนั้นก็ยังผลิตไม่ได้มากพอ จนเจ้าของโรงงานในอังกฤษต้องใช้แรงงานเด็ก โดยการบังคับให้ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง และต้องนำ 2/3 ของฝ้ายที่อเมริกาผลิตได้เข้าอังกฤษ เพื่อผลิตผ้าฝ้ายให้เพียงพอกับความต้องการของโลก

ความผูกพันในการทำธุรกิจฝ้ายร่วมกันเช่นนี้ทำให้อังกฤษและอเมริกามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมาก เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกา ชาว Lancashire ที่ไม่ชอบระบบทาสจึงสนับสนุนชาวอเมริกันในรัฐทางตอนเหนือ ในการสงครามจนทำให้รัฐทางตอนใต้ต้องพ่ายแพ้

หลังจากที่สงครามกลางเมืองสิ้นสุด อเมริกาก็ยังคงความเป็นผู้นำในการผลิตฝ้ายดิบ และได้แนะนำให้รัสเซียสนับสนุนการปลูกฝ้ายบ้าง นายกรัฐมนตรี Stalin จึงมอบให้รัฐ Uzbekistan ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัสเซียเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการผลิตฝ้ายของรัสเซีย

เพราะต้นฝ้ายต้องการน้ำมากในการเจริญเติบโต การใช้น้ำมากมีผลทำให้ Uzbekistan มีน้ำไม่เพียงพอ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องทดน้ำจากแม่น้ำ Amu Darya และ Syr Darya มาหล่อเลี้ยงไร่ฝ้าย โดยไม่ตระหนักว่า แม่น้ำทั้งสองสายคือ ต้นกำเนิดของทะเลสาบ Aral การทดน้ำในลักษณะนี้จึงทำให้น้ำในทะเลสาบ Aral ลดปริมาณลงไปมาก จนในปี 2005 องค์การ UNESCO คาดการณ์ว่า ทะเลสาบ Aral จะเหือดแห้งหายไปจากโลกในเวลาอีกไม่นาน และเหตุการณ์นี้จะทำให้ผู้คนที่อาศัยในบริเวณทะเลสาบต้องประสบความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส

ก่อนปี ค.ศ.1960 ทะเลสาบ Aral มีสภาพเป็นทะเลสาบใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก แต่เมื่อถึงปี 1997 ทะเลสาบนี้ได้ลดขนาดลงเพราะขาดน้ำ จากการที่น้ำถูกทดออกไปหล่อเลี้ยงไร่ฝ้าย และน้ำในทะเลสาบได้ระเหยไปๆ จนทะเล Aral ได้แยกตัวเป็น Large Aral ทางใต้ กับ Small Aral ทางเหนือ โดยมีแผ่นดินคั่นกลาง ถึงปี 2007 ทะเล Large Aral ก็ได้แยกออกเป็น 2 ส่วนอีก ทำให้พื้นที่ทั้งหมดลดไปมากถึง 90%

เมื่อน้ำในทะเลสาบระเหยไปเรื่อยๆ ความเข้มข้นของเกลือในทะเลสาบก็เพิ่มมากขึ้น จนปลานานาสายพันธุ์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในทะเลสาบต้องตาย และแพร่พันธุ์ได้น้อยลงๆ มีผลทำให้ชาวประมงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณรอบทะเลสาบไม่สามารถครองชีพเป็นชาวประมงได้อีกต่อไป หลายคนจึงได้อพยพทิ้งเมือง

ส่วนของฝั่งทะเลสาบที่มีพื้นที่เพิ่มขึ้นนั้น นักนิเวศวิทยาได้พบว่า ถูกปกคลุมด้วยผงเกลือ และฝุ่นดิน รวมถึงสารพิษที่เกษตรกรใช้เป็นปุ๋ยในการปลูกฝ้าย ดังนั้นเวลาลมพัด ลมจะหอบฝุ่นละอองเกลือและสารพิษไปสู่พื้นที่ๆ มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น จนชาวเมืองจำนวนมากต้องล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ ระบบการย่อยอาหาร ทำงานบกพร่อง และระบบทางเดินหายใจอักเสบ รวมถึงเป็นโรคโลหิตจาง และมะเร็งคอ เป็นต้น

ถ้าลมพัดแรง ละอองสารพิษเหล่านี้ก็อาจถูกพัดพาไปไกลเป็นระยะทางร่วม 500 กิโลเมตร และเวลาตกลงในบ่อ น้ำที่ใช้ดื่มจะมีสารปนเปื้อนที่เป็นสารพิษ สุขภาพของชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานแม้จะอยู่ไกลจากทะเลสาบ ก็ไม่ปลอดภัย

ดังที่กล่าวแล้วว่า ทะเลสาบ Aral ได้น้ำจาก แม่น้ำ Amu กับแม่น้ำ Syr และตลอดเวลาที่ผ่านมา แม่น้ำ Amu ซึ่งอยู่ทางใต้ของทะเลสาบ Aral ได้เปลี่ยนทิศการไหล อีกทั้งมีขนาดเล็กลง น้ำที่ไหลเข้าสู่ทะเล Aral จึงมีปริมาตรลดลงด้วย เพราะการระเหย และการไหลออกของน้ำมีมากกว่าน้ำที่ได้จากฝน และจากใต้ดิน ในปี 1985 นายกรัฐมนตรี Mikhail ซึ่งได้ปกปิดการสูญเสียทะเลสาบ Aral มาเป็นเวลานานนับสิบปี จึงได้เปิดเผยเรื่องนี้ให้โลกภายนอกทราบว่า ทะเลสาบ Large Aral ได้ลดปริมาตรของน้ำจาก 708 ลูกบาศก์กิโลเมตรจนเหลือเพียง 75 ลูกบาศก์กิโลเมตร ในปี 2007 และความเข้มข้นของเกลือได้เพิ่มจาก 14 กรัมเป็น 100 กรัม/ลิตร
ทะเลสาบ Aral เมื่อเดือน ก.ย.ปี 2011 จากดาวเทียมของ NASA
ลุถึงปี 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตประสบภาวะล่มสลาย และประเทศ Kazakhstan กับ Uzbekistan ได้ถือกำเนิด รัฐทั้งสองซึ่งมีทะเลสาบ Aral ร่วมกัน จึงต้องเข้ามาจัดการเรื่องการล่มสลายของทะเลสาบ และได้สำรวจพบว่า สปีชีส์ของปลาในทะเลสาบได้ลดจาก 32 เป็น 6 สปีชีส์ อีกทั้งปริมาณการจับปลาในปี 1960 ได้ลดจาก 40,000 ตัน ลงเป็นศูนย์ในปี 1985 มีผลทำให้คนว่างงานกว่า 60,000 คน ในส่วนของปลาน้ำจืดที่เคยนำมาปล่อยในทะเลสาบเพื่อแพร่พันธุ์ ก็ได้ตายไปหมด เพราะความเข้มข้นของเกลือมีมากกว่า 70 กรัม/ลิตร

ด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและนกก็ปรากฏว่า จำนวนสปีชีส์ได้ลดลงจาก 70 เป็น 32 และจาก 319 เป็น 160 ตามลำดับ จำนวนสปีชีส์ของพืชน้ำก็ได้ลดจาก 100,000 ในปี 1960 เป็น 15,000 ในอีก 30 ปีต่อมา

นอกจากนี้การลดปริมาณน้ำในทะเลสาบทำให้การเดินเรือ และการขนส่งสินค้าต้องหยุดดำเนินการ เพราะขอบทะเลสาบในปัจจุบันอยู่ห่างจากเมือง Aralsk และ Moynak เป็นระยะทางร่วมสิบกิโลเมตร

ณ วันนี้อากาศในฤดูร้อนจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ และในฤดูหนาว อุณหภูมิของอากาศก็จะต่ำกว่าปกติ ความชื้นก็ลดลง เพราะฝนตกน้อยลง และฤดูปลูกพืชก็สั้นลง

ภาวะขาดน้ำยังทำให้ท้องน้ำที่แห้งผากปรากฏเป็นพื้นที่ประมาณ 54,000 ตารางกิโลเมตร และบนพื้นดินส่วนนี้นักนิเวศได้พบสารเคมี sodium bicarbonate เกลือแกง และ sodium sulfate ซึ่งทำให้ต้นไม้เติบโตช้า อันเป็นเรื่องที่สวนทางกับการให้น้ำในทะเลสาบช่วยในการปลูกฝ้าย นอกจากนี้การขาดแคลนปลาเพื่อบริโภคก็ได้ทำให้สตรีมีครรภ์ประสบปัญหาเป็นโรคขาดสารอาหาร และโรคโลหิตจาง

เมื่อการทำให้ทะเลสาบ Aral กลับคืนสู่สภาพเดิมเป็นเรื่องที่ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะวิศวกรจะต้องนำน้ำเข้าทะเลสาบในปริมาณมาก วิธีหนึ่งที่จะลดการสูญเสียทะเลสาบ คือ การเปลี่ยนฝ้ายเป็นพืชชนิดอื่นที่ต้องการน้ำน้อยกว่า เช่น ข้าวหรือข้าวสาลี แต่ชาวไร่ฝ้ายจะเดือดร้อนถ้าเปลี่ยนพืช เพราะฝ้ายทำเงินได้มากกว่า และฝ้ายคือทองคำสีขาวของพวกเขา

การสร้างเขื่อนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถลดความเสียหายได้ ดังนั้นในปี 2005 ประเทศ Kazakhstan และธนาคารโลกจึงได้ลงทุน 85 ล้านเหรียญเพื่อสร้างเขื่อนดินยาว 13 กิโลเมตร ทำให้ทะเล Small Aral (ทางตอนเหนือของทะเลสาบ Aral) มีระดับน้ำสูงขึ้นจาก 40 เป็น 42 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และพื้นที่ทะเลสาบเพิ่ม 18% ส่วนความเข้มเกลือได้ลดจาก 20 กรัม/ลิตร เป็น 10 กรัม/ลิตร เพราะที่ความเข้มข้นนี้ ปลาหลายชนิดสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ในปี 2014 นักธรณีวิทยาได้สำรวจพบว่า ระดับน้ำในทะเล Aral ตั้งแต่สมัยโบราณมีทั้งเพิ่มและลด คือ เวลาลดขนาดของทะเลสาบจะลดลงๆ จนปรากฏดังทุกวันนี้ แล้วมันก็กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์อีกในเวลาอีกไม่นาน โดย Sergey Krivonogov แห่ง Institute of Geology and Mineralry ที่ Novosibirok ได้พบการหวนคืนสู่สภาพเดิมของทะเลสาบ Aral ในช่วงเวลา 2,000 ปี โดยการวัดอายุของตะกอนดิน และหินที่อยู่ตามฝั่งของทะเลสาบ ด้วยการใช้เทคนิคนิวเคลียร์คาร์บอน-14 ในการวัดอายุ และการขุดเจาะดินชายฝั่งลึกหลายเมตรเพื่อดูว่า ขอบทะเลสาบในอดีตเคยอยู่ ณ ตำแหน่งใด

และเขาได้พบว่า ระดับน้ำในทะเลสาบเปลี่ยนแปลงมาก และการเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดจากมนุษย์ที่ได้ทำเกษตรกรรมในบริเวณนี้เมื่อ 2,500 ปีก่อน

เพราะในปี 1960 เขาได้พบว่า ระดับน้ำในทะเลสาบอยู่ที่ 54 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

แต่ใน ค.ศ.400-600 ระดับอยู่ที่ 10 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

จากนั้นในปี ค.ศ.1000-1500 ระดับได้ลดลงเหลือ 29 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

แล้วทะเลก็กลับคืนสู่สภาพเดิมอีก จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่รัฐบาลรัสเซียทดน้ำออก

ในงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Gondwana Research Doi.org/svs คณะนักวิจัยจึงได้เสนอความเห็นว่า การ “สูญเสีย” ทะเลสาบดังที่ใครๆ คิดนั้นเป็นเรื่องชั่วคราว
ทะเลสาบ Aral เมื่อเดือน ส.ค.ปี 2014 จากดาวเทียมของ NASA
โลกนี้ไม่มีเพียงแต่ทะเลสาบ Aral เท่านั้นที่กำลังมีปัญหา ทะเลสาบ Chad ในแอฟริกากลาง และทะเล Salton ใน California ตอนใต้ของอเมริกาก็กำลังประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน

บทเรียนด้านประสบการณ์ในทะเลสาบ Aral คงช่วยนักนิเวศในการอนุรักษ์ทะเลสาบทั้งสองได้

อ่านเพิ่มเติมจาก Reclaiming the Aral Sea โดย Philip Mickin, Nikolay V. Aladen ใน Scientific American ปี 2008






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น