โครงการค้นหาวัตถุใกล้โลกของนาซาค้นพบอีก 2 วัตถุใกล้โลก ที่บอกได้ชัดๆ ว่าเป็นดาวหาง 1 ดวง และมองเห้นได้ด้วยกล้องสองตาช่วงสัปดาห์แรกของปี 2017 ส่วนอีกดวงยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อย แต่ไม่ต้องตระหนกเพราะวัตถุทั้งสองไม่เข้าใกล้ในระยะอันตราย
ปฏิบัติการนิโอไวส์ (NEOWISE) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยการค้นพบอีก 2 วัตถุท้องฟ้า ซึ่งหนึ่งในนั้นระบุได้แน่ชัดว่าเป็นดาวหาง ส่วนอีกดวงยังไม่แน่ชัดว่าเป็นดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อย ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นปฏิบัติการค้นหาดาวเคราะห์น้อยและดาวหางใกล้โลกด้วยยานอวกาศไวส์ (Wide-Field Infrared Survey Explorer: WISE) ที่ถูกส่งขึ้นสุ่อวกาศเมื่อ 14 ธ.ค.2009
วัตถุท้องฟ้า 2016 WF9 ถูกค้นพบโดยปฏิบัติการนิโอไวส์เมื่อ 27 พ.ย.2016 และอยู่ในวงโคจรที่ดึงให้เข้ามาในระบบสุริยะ นาซายังไม่ทราบแน่ชัดว่าวัตถุดังกล่าวเป็นดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อย ซึ่งตอนนี้กำลังเข้าใกล้วงโคจรของดาวพฤหัสบดี
ตลอดคาบโคจร 4.9 ปีโลก 2016 WF9 เคลื่อนที่เข้าสู่ด้านในของระบบสุริยะ ผ่านใต้แถบดาวเคราะห์น้อย และวงโคจรดาวอังคาร จนกระทั่งถูกเหวี่ยงเข้ามาในวงโคจรของโลก หลังจากนั้นจะโคจรกลับออกไปจากระบบสุริยะ ซึ่งลักษณะโคจรแบบนี้ นาซาระบุว่าวัตถุดังกล่าวมีโอกาสเป็นได้หลายอย่าง โดยอาจจะเคยเป็นดาวหาง หรืออาจจะเป็นวัตถุพลัดหลงจากกลุ่มวัตถุดำมืดในแถบดาวเคราะห์น้อย
ในวันที่ 25 ก.พ.2017 นี้ วัตถุ 2016 WF9 จะเข้าใกล้โลก ด้วยระยะห่าง 51 ล้านกิโลเมตร ซึ่งไม่ใช่ระยะทางที่ใกล้โลกนัก และนักวิทยาศาสตร์เข้าใจวิถีโคจรของวัตถุ 2016 WF9 เป็นอย่างดี และมั่นใจได้ว่า วัตถุนี้ไม่เป็นอันตรายต่อโลกในอนาคตอันใกล้
นาซาระบุว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ของโครงการนิโอไวส์ทราบแน่ๆ เกี่ยวกับ 2016 WF9 คือวัตถุดังกล่าวค่อนข้างใหญ่ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 กิโลเมตร อีกทั้งเป็นวัตถุที่ค่อนข้างมืด มีแสงเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้นที่ตกลงบนพื้นผิววัตถุดังกล่าว ส่วนรูปร่างของวัตถุนั้นคล้ายกับดาวหาง ทั้งในแง่การสะท้อนและวงโคจร แต่ไม่ปรากฏลักษณะของฝุ่นและก๊าซที่บ่งชี้ว่าเป็นดาวหาง
อีกวัตถุหนึ่งที่นาซาทราบแล้วว่าเป็นดาวหางอย่างแน่นอน คือ C/2016 U1 NEOWISE ซึ่งปฏิบัติการนิโอไวส์ค้นพบก่อนหน้าวัตถุ 2016 WF9 ประมาณ 1 เดือน โดยค้นพบเมื่อ 21 ต.ค.2016 และมีโอกาสที่คนบนโลกจะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ผ่านกล้องสองตา ทว่า พอล โชดัส (Paul Chodas) ผู้จัดการงานศึกษาศูนย์วัตถุใกล้โลกของนาซา ที่ห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ในพาซาดีนา แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า เรายังมั่นใจไม่ได้ว่าจะมองเห็นดาวหางดวงนี้ เพราะความสว่างของดาวหางเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
ในซีกโลกเหนือนั้นจะมองเห็นดาวหาง C/2016 U1 NEOWISE ได้บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก่อนรุ่งเช้าในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2017 โดยดาวหางจะเคลื่อนลงใต้ทุกวันจนกระทั่งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 14 ม.ค. ซึ่งตำแหน่งที่ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดนั้นอยู่ในวงโคจรของดาวพุธ จากนั้นดาวหางจะเคลื่อนที่ออกสู่ชั้นนอกของระบบสุริยะด้วยวงโคจรที่มีคาบนานหลายพันปี
หลังจากปฏิบัติยานไวส์ช่วยให้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยมากกว่า 34,000 ดวง ยานก็ถูกปลุกขึ้นจากภาวะจำศีลขึ้นมาปฏิบัติงานอีกครั้งในเดือน ธ.ค.2013 เพื่อค้นหาและศึกษาเพิ่มเติมว่าดาวเคราะห์น้อยและดาวหางดวงไหนที่จะทำอันตรายต่อโลก หากพบว่าวัตถุ 2016 WF9 เป็นดาวหาง ก็จะเป็นการค้นพบดาวหางดวงที่ 10 นับแต่ยานถูกปลุกขึ้นมาทำงานอีกครั้ง