อากาศหนาวๆ เย็นๆ ช่วงนี้มาพร้อมกับสตรอว์เบอร์รีที่กำลังผลิดอกออกผลต้อนรับนักท่องเที่ยวกันคึกคัก ใครเกิดมานานหน่อยอาจจะได้เคยได้ลิ้มรสสตรอว์เบอร์รีจิ้มเกลือ เนื่องจากสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกในเมืองไทยยุคแรกๆ นั้นมีรสชาติเปรี้ยว แต่ช่วง 2-3 ปีนี้มานี้ “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80” ที่หวานฉ่ำและลูกโต ทำให้เราแทบจะลืมรสชาติเก่าๆ ไปแล้ว
ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง และนักวิจัยสตรอว์เบอร์รีในโครงการหลวงรุ่นบุกเบิก กล่าวถึงสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ว่าเป็นพันธุ์ลูกผสมจากสตรอว์เบอร์รีที่ญี่ปุ่นที่นำมาขยายพันธุ์บนดอยปุย จ.เชียงใหม่ จากการคัดพันธุ์เมื่อปี 2550 และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมาได้ 2-3 ปี ซึ่งจุดเด่นของสตรอว์เบอร์รีพันธุ์นี้คือมีรสชาติหวาน แม้จะเก็บตอนยังเป็นลูกขาวก็มีรสชาติหวาน แต่ไม่หอมมาก
“สตรอว์เบอร์รีเป็นยา” ต้นทุนจากพันธุ์พระราชทาน
ก่อนหน้านั้นมีสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทานหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์พระราชทาน 16, พันธุ์พระราชทาน 50 ซึ่งออกมาในปีกาญจนาภิเษก, พันธุ์พระราชทาน 60 เฉลิมฉลองในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ล่าสุดโครงการหลวงเพิ่งเปิดตัวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 88 ซึ่งเป็นสตรอว์เบอร์รีสำหรับรับประทานสดที่มีรสชาติหอมหวาน อร่อยและให้ความรู้สึกเหมือนสตรอว์เบอร์รีละลายในปาก
“เราต้องพัฒนาพันธุ์อยู่เรื่อยๆ 5-6 ปีต้องมีพันธุ์สตรอว์เบอร์รีมาทดแทน ซึ่งกว่าจะได้สตรอว์เบอร์รีสักพัธุ์ต้องใช้เวลา พอได้สู่ตลาดแล้วผู้บริโภคไม่ยอมรับสตรอว์เบอร์รีพันธุ์นั้นก็ตกไป ปีหนึ่งๆ ทั่วโลกมีสตรอว์เบอร์รีออกสู่ตลาดมาเป็น 100 พันธุ์ แต่ในจำนวนนั้นหาที่ “กินแล้วเป็นยา” ได้น้อยมาก หากอยากกินต้องไปกินในป่าที่เมืองนอก” ดร.ณรงค์ชัยระบุ
ทั้งนี้ สตรอว์เบอร์รีนั้นเป็นผลไม้ที่คุณค่าทางอาหารสูง อุดมด้วยวิตามินซี วิตามินเค กรดโฟลิคและใยอาหารสูง และมีแอนโทไซยานินซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่บ้าง ซึ่ง ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยของนักวิจัยในอิตาลีที่มุ่งเน้นพัฒนาสตรอว์เบอร์รีให้มีสารแอนโทไซยานินสูง
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ระบุถึงงานวิจัยของ ดร.บรูโน เมซเซตติ (Bruno Mezzetti) จาก Università Politecnica delle Marche ในอิตาลี ว่าได้ปรับปรุงพันธุ์สตอว์เบอร์รีจนมีสารแอนโทไซยานินสูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อสตรอว์เบอร์รีสด 100 กรัม และเมื่อไปทดสอบในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นมะเร็ง พบว่าเมื่อหนูกินสตรอว์เบอรืรีที่มีแอนโทไซยานินสูงแล้ว เซลล์มะเร็งไม่ติบโตและฝ่อลงในที่สุด
หลังจากการหารือระหว่าง ดร.ณรงค์ชัย และ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ จึงเกิดแนวคิดพัฒนาพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีแอนโทไซยานินสูง โดยใช้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทานเป็นต้นพันธุ์ในการปรับปรุง ซึ่งปัจจุบันมีสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกในไทยทั้งหมด 6 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 80, 50, 70, และ 72 และพันธุ์ 329 จากอิสราเอล และพันธุ์อาคิฮิเมะจากญี่ปุ่น เมื่อได้พันธุ์แล้วจะส่งเสริมให้เกษตรกรในโครงการหลวงปลูกเพื่อการค้าต่อไป
สำหรับสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 นั้น แม้จะมีรูปร่างสวยงาม ผลมีสีแดงสด รสชาติหวานและเนื้อแน่น เมื่อสุกมีกลิ่นหอม และยังเป็นพันธุ์ลูกผสมที่สามารถต้านทานโรคและทนทานต่ศัตรูพืชได้ดี แต่เมื่อเปรียบเทียบปริมาณแอนโทไซยานินกับสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกในเมืองไทยแล้วพบว่ามีปริมาณแอนโทไซยานินน้อยกว่าพันธุ์อื่นๆ
ได้แล้วต้นสตรอว์เบอร์รีลูกผสมที่เจริญเติบโตดี
นายมงคล ศิริจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน จึงได้นำสตรอว์เบอร์รีทั้ง 6 พันธุ์มาจับคู่ผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีแอนโทไซยานินสูง โดยจับคู่ผสมพันธุ์ทั้งหมด 36 คู่ผสม และผลิตต้นลูกคู่ผสมละ 500 ต้น จากนั้นรอให้ต้นลูกผสมผลิตผล เพื่อนำไปวิเคราะห์หาปริมาณแอนโทไซยานิน
การปรับปรุงพันธุ์ดังกล่าวมี ผศ.ดร.พีระศักดิ์ เป็นหัวหน้าโครงการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิโครงการหลวง
ก่อนจะได้พันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีแอนโทไซยานินสูง มงคลบอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า อันดับแรกต้องหาต้นพันธุ์ที่มีความแข็งแรงและเจริญเติบโตดี จากนั้นคัดเลือกลูกผสมที่ให้ลักษณะผลผลิตที่ดี นั่นคือ มีรูปทรงสวยงาม เนื้อแน่นเพื่อทนทานต่อการขนส่ง และมีรสชาติดี เพราะหากพัฒนาพันธุ์ที่มีแอนโทไซยานินสูงแต่รสชาติไม่ดีก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
“เมื่อสตรอว์เบอร์รีลูกผสมออกผลแล้ว อันดับแรกเราต้องหาลูกผสมที่รูปทรงสวย ถ้าไม่สวยก็ขายไม่ได้ จากนั้นหาว่ารสชาติดีหรือไม่ แล้วดูต่อว่าเนื้อแน่นกรอบหรือไม่ และคุณค่าอาหารอื่นๆ ต้องยังคงอยู่ สุดท้ายคือปริมาณแอนโทไซยานินที่ต้องสูง อาจไม่ต้องสูงโดดแต่ให้มีคุณสมบัติดีๆ ด้านอื่นด้วย” มงคลบอกขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ พร้อมกล่าวถึงสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทานหลายๆ พันธุ์ที่หายไปจากตลาดแล้ว เช่น สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 16 และ 20 ซึ่งรสชาติไม่ดีและรูปทรงไม่สวยเท่าสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80
เม.ย.60 รอสตรอว์เบอร์รีออกผลให้วิเคราะห์หา “แอนโทไซยานิน”
แอนโทไซยานินนั้นมีชนิดย่อยหลายชนิด ในองุ่นและผลไม้สีม่วงจะพบแอนโทไซยานินชนิดเดลฟินิดิน (Delphinidin) ส่วนในสตรอว์เบอร์รีจะพบแอนโทไซยานินชนิดไซยานิดิน (Cyanidin) และเพลาร์โกนิดิน (Pelargonidin)
จากการศึกษางานวิจัยพบว่า สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 มีแอนโทไซยานินต่ำกว่าสตรอว์เบอร์รีพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกในเมืองไทย โดยมีประมาณ 2 มิลลิกรัมต่อสตรอว์เบอร์รีสด 100 กรัม ส่วนพันธุ์อาคิฮิเมะจากญี่ปุ่นที่มีปลูกในบางพื้นที่นั้นปริมาณแอนโทไซยานินสูงสุดประมาณ 45 มิลลิกรัมต่อสตรอว์เบอร์รีสด 100 กรัม ซึ่งเป้าหมายของมงคลนั้นต้องการพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีปริมาณแอนโทไซยานินมากกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกในไทย
หลังจากจับคู่ผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีทั้ง 6 พันธุ์ พบว่าเมื่อใช้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 เป็นต้นพ่อ และใช้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นต้นแม่ จะได้ลูกผสมที่มีการเจริญเติบโตดีที่สุด คือมีทรงพุ่มสูงและกว้างที่สุด แต่งานของมงคลยังไม่ถึงที่สุด เพราะยังไม่ได้คำตอบว่าลูกผสมคู่ไหนที่จะให้ผลผลิตที่มีลักษณะสวยงาม รสชาติดีและมีแอนโทไซยานินสูง ซึ่งต้องรอถึงเดือน เม.ย.60 เมื่อสตรอว์เบอร์รีลูกผสมออกผลจึงจะนำไปวิเคราะห์ได้
นอกจากนี้ทีมวิจัยปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทานยังวางแผนนำเทคโนโลยีโมเลกูลาร์มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ โดยมงคลอธิบายว่าในการวิเคราะห์ว่าพันธุ์ไหนจะให้ปริมาณแอนโทไซยานินสูงนั้น จะใช้วิธีวิเคราะห์การกระจายของยีน F3'H authocganin ในผลสตรอว์เบอร์รี 4 ระยะ ซึ่งหากมีการกระจายของยีนดังกล่าวสูงแสดงว่าจะมีปริมาณแอนโทไซยานินสูง โดยเขาจะนำงานวิจัยนี้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษเนื่องจากเขาเพิ่งได้รับทุนความร่วมมือนิวตัน (Newton Fund) จากสหราชอาณาจักร ในเดือน มิ.ย.60
เมื่อได้พันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่ให้ปริมาณแอนโทไซยานินสูงตามต้องการแล้ว นักวิจัยจะขยายพันธุ์ต่อไปโดยใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากปลายยอดสตรอว์เบอร์รี ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเจริญที่ปลอดจากไวรัส วิธีดังกล่าวจะทำให้ได้พันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่ปลอดไวรัสด้วย ทั้งนี้คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 2 ปีจึงจะได้พันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีปริมาณแอนโทไซยานินสูงออกสู่ตลาด
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
- ภาพชุด...ความลำบากในการผสมพันธุ์ “สตรอว์เบอร์รี”