ขณะที่มีความต้องการย้อมผ้าสีดำจำนวนมากก็มีความกังวลว่าจะจัดการน้ำเสียจากการฟอกย้อมอย่างไร ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้เปิดบูธให้บริการจัดการน้ำทิ้งที่เกิดจากการย้อมผ้าสีดำ พร้อมทั้งเผยแพร่เทคนิคเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำไปใช้
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้เปิดศูนย์บริการบำบัดน้ำเสียจากการฟอกย้อมผ้าสีดำ ณ จุดให้บริการสนามราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) หลังตระหนักถึงปัญหาน้ำทิ้งดังกล่าว และได้รับการประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการจัดการน้ำทิ้งที่เกิดจากการย้อมผ้าให้เป็นสีดำ
พร้อมกันนี้ได้เผยแพร่เทคนิคการบำบัดน้ำเสียจากการฟอกย้อมผ้าสีดำ โดยมีอุปกรณ์และสารเคมี ดังนี้
1.ถังน้ำขนาด 20 ลิตร 2.ไม้สำหรับกวนผสม 3.ลังพลาสติก 4.กระดาษวัด pH 5.ทราย 6.ถ่านกัมมันต์ 7.ใยแก้วสำหรับตู้เลี้ยงปลา 8.สารส้ม 9.คลอรีนผง 10.ปูนขาว
ขั้นตอนการบำบัดน้ำเสีย
1.เทน้ำเหลือทิ้งจากการฟอกย้อมสีลงถังน้ำ 20 ลิตร
2.ค่อยเติมสารส้มผงและคลอรีนผงละลายในน้ำ ในสัดส่วนสารส้ม 3 กรัม ต่อ คลอรีนผง 1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วคนให้ละลาย
3.ทิ้งให้ตกตะกอนประมาณ 15-30 นาที โดยสังเกตตะกอนนอนก้นภาชนะ
4.นำลังพลาสติกมารองด้วยใยแก้วที่ชั้นล่างสุด จากนั้นรองชั้นบนต่อมาด้วยถ่านกัมมันต์ แล้วรองชั้นบนถัดมาด้วยทราย และรองชั้นบนสุดท้ายด้วยใยแก้ว จากนั้นค่อยๆ เทน้ำที่ตกตะกอน โดยเทส่วนที่เป็นน้ำใสก่อนลงลังพลาสติกที่รองด้วยวัสดุต่างๆ ตามที่ระบุไว้ แล้วเทส่วนที่มีตะกอนตามหลัง โดยใช้ภาชนะมารองน้ำที่ผ่านการกรอง
5.วัดค่า pH ของน้ำ หากต่ำกว่า 5 ให้เติมปูนขาวจนได้ pH 6.0-8.5 แล้วปล่อยทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม
6.สำหรับตะกอนบนใยแก้วแล้ววัสดุกรองที่เสื่อมสภาพ ให้นำไปกำจัดด้วยการฝังกลบหรือเผา
***ข้อควรระวังในการใช้สารเคมี***
- ควรสวมแว่นตาและถุงมือขณะบำบัดน้ำทิ้ง
- อ่านฉลากเตือนข้างบรรจุภัณฑ์สารเคมีและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในส่วนของผงคลอรีนให้ตักด้วยช้อนพลาสติกที่แห้งและสะอาด และระวังอย่าให้ผงคลอรีนสัมผัสกรด ด่าง วัตถุไวไฟ และเคมีภัณฑ์อื่นๆ เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรง
- หลังใช้งานแล้วเก็บสารเคมีในที่แห้ง ไกลจากเปลวไฟ และห่างจากสัตว์เลี้ยงและเด็ก
- กรณีผงคลอรีนถูกไฟไหม้จะปล่อยก๊าซออกซิเจน จึงต้องดับไฟด้วยเครื่องดับเพลิงที่ให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือผงเคมีสำหรับดับไฟ
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ