xs
xsm
sm
md
lg

19 ต.ค. 15 “พ่อหลวงไทย” ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตำราฝนหลวง พระราชทาน
วันที่ 19 ตุลาคม 2515 เมื่อ 44 ปีที่แล้ว “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และคณะรัฐมนตรีได้เลือกวันดังกล่าวเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย”

คนไทยคุ้นเคยกับ “ฝนหลวง” มานาน แต่กว่าน้ำจากฟ้าจะกลั่นเป็นฝนหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเวลานานกว่า 14 ปีในการวิเคราะห์วิจัย ทบทวนเอกสารและข้อมูลต่างๆ และพระราชทานแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เพื่อประกอบการค้นคว้าทดลองมาโดยตลอด

พระราชดำริเกี่ยวกับฝนหลวงเกิดขึ้นระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2498 และสังเกตว่ามีปริมาณเมฆมากปกคลุมเหนือพื้นที่ระหว่างเส้นทางบิน แต่ไม่รวมตัวเป็นฝนทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชปรารภกับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ ว่าทรงเคยอ่านหนังสือว่ามีการทำฝนได้ และภายใต้การพระราชทานข้อแนะนำอย่างใกล้ชิด ฝนหลวงสูตรเฉพาะส่วนพระองค์ได้เกิดจากผลการวิจัยค้นคว้าทางวิชาการด้านฝนเทียมของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอิสราเอล และมีการทดลองปฏิบัติการจริงเป็นครั้งแรกเมื่อ 1-2 ก.ค. 2512 บริเวณวนอุทยานเขาใหญ่ และได้รายงานยืนยันจากราษฎรว่าเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่

หลังจากการทดลองทำฝนหลวงหลายครั้ง ในวันที่ 19 ต.ค. 2515 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงอำนวยการสาธิตทำฝนหลวงแก่ผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์ 3 นาย ได้ชมบริเวณอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยข้อมูลจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตรระบุว่า ทรงเลือกอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานเป็นเป้าหมาย เนื่องจากมีภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ และคณะผู้แทนอาจนำวิธีการไปไปปฏิบัติที่สิงคโปร์ได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงจำแนกการทำฝนเทียมว่ามี 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

ขั้นตอนที่ 1 “ก่อกวน” เป็นการกระตุ้นให้เมฆรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝนในระยะต่อมา สารเคมีที่ใช้ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคาร์ไบด์ แคลเซียมออกไซด์ หรือส่วนผสมระหว่างเกลือแกงกับสารยูเรีย หรือสารผสมระหว่างสารยูเรียกับแอมโมเนียไนเตรต ซึ่งสารผสมดังกล่าวจะก่อให้เกิดกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศ

ขั้นตอนที่ 2 “เลี้ยงให้อ้วน” ใช้สารเคมี คือ เกลือแกง สารประกอบสูตร ท.1 สารยูเรีย แอมโมเนียไนเตรต น้ำแข็งแห้ง และอาจใช้สารแคลเซียมคลอไรด์ร่วมด้วยเพื่อให้เกิดแกนเม็ดไอน้ำให้กลุ่มเมฆมี ความหนาแน่นเพิ่มขึ้น

ขั้นที่ 3 “โจมตี” สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้เป็นสารเย็นจัด คือ ซิลเวอร์ไอโอได และน้ำแข็งแห้งเพื่อให้เกิดภาวะไม่สมดุลมากที่สุด ซึ่งจะเกิดเป็นเม็ดน้ำที่มีขนาดใหญ่มากและตกลงเป็นฝนในที่สุด

ทั้งนี้ ข้อควรระวังข้อหนึ่งในการทำฝนเทียม คือ ในทุกขั้นตอนจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์การตัดสินใจที่จะเลือกใช้สาร เคมีในปริมาณที่พอเหมาะ และต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ ทิศทางและความเร็วของลม ตลอดจนการกำหนดบริเวณหรือแนวพิกัดที่จะโปรยสารเคมีด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทาน “ตำราฝนหลวง” แก่นักวิชาการฝนหลวงเพื่อถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ตำราดังกล่าวเป็นภาพประดิษฐ์ด้วยคอมพิวเตอร์ที่แสดงขั้นตอนและกรรมวิธรการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนจากเมฆอุ่นและเมฆ

ทั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาตลอด โดยทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยและทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2543 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้เทิดพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ในฐานะ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และกำหนดวันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย”

ทุกปีใน “วันเทคโนโลยีของไทย” กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะจัดพิธีวางพานพุ่มและถวายราชสดุดีเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังจัดงาน “วันเทคโนโลยีของไทย” (Techno Mart) เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙” ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” โดยนับจากปี 2556 เป็นต้นมาได้จัดร่วมกับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นในเดือน ส.ค.ช่วง “สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ”






กำลังโหลดความคิดเห็น