ล้ำไปอีกขั้นนักวิจัยญี่ปุ่นปลูกเซลล์ผิวจากลิงตัวเดียวเพื่อชีวิตใหม่ให้หัวใจลิงป่วยอีก 5 ตัว ด้านนักวิจัยระบุว่าการทดลองมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อให้ได้แหล่งกำเนิดเซลล์ต้นกำเนิดที่มีอยู่มหาศาลและไม่ขัดจริยธรรม เพื่อปลูกถ่ายสู่ผู้ป่วยโรคหัวใจ
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการเนเจอร์ (Nature) ซึ่งรายงานจากเอเอฟพีระบุว่า งานวิจัยนี้จะลบความจำเป็นในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนหรือจากผู้รับการปลูกถ่ายเอง โดยทีมใช้เทคนิคเหนี่ยวนำสเต็มเซลล์พลูริโพเทนต์ (induced pluripotent stem cells) หรือ iPSCs
เทคนิคดังกล่าวสร้างเซลล์ต้นกำเนิดจากการกระตุ้นเซลล์แก่ตัวที่เปลี่ยนไปเป็นเซลล์จำเพาะแล้ว เช่น เซลล์ผิวหนัง ให่กลับไปอยู่ในสถานะเซลล์ตัวอ่อนที่ยังไม่เปลี่ยนไปเป็นเซลล์จำเพาะ ทำให้เซลล์เหล่านั้นพัฒนาไปเป็นเซลล์มนุษย์ชนิดอื่นๆ ได้
ก่อนจะมีเทคนิค iPSCs เอเอฟพีระบุว่า สเต็มเซลล์พลูริโพเทนต์ได้จากตัวอ่อนมนุษย์ ซึ่งถูกทำลายในกระบวนการที่มีความขัดแย้งทางจริยธรรม
ทั้งนี้ มีการทดลองใช้สเต็มเซลล์หัวใจในผู้ป่วยโรคหัวใจ และการรักษาด้วยสเต็มเซลลืตัวอ่อนก็แสดงให้เห็นความหวังที่จะบำบัดอาหารหัวใจล้มเหลว แต่ทีมนักวิจัยญี่ปุ่นระบุว่าการศึกษาของพวกเขาเป็นการศึกษาครั้งแรกที่ใช้เทคนิค iPSCs ซ่อมแซมหัวใจที่เสียหาย ซึ่งมีแนวโน้มมานานแล้วว่าเทคนิคนี้จะเป็นแหล่งผลิตเซลล์สำหรับซ่อมหัวใจ
นักวิจัยเขียนรายงานว่าการปลูกเซลล์หัวใจจากเซลล์ของผู้ป่วยเองนั้น กินทั้งเวลา แรงงานและค่าใช้จ่าย ขณะที่เซลล์หัวใจที่ปลูกจากเซลล์ของคนอื่นนั้นก็อาจจะถูกระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยปฏิเสธเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งแปลกปลอ
การทดลองในลิงนั้นทีมวิจัยได้เลือกโมเลกุลในเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งตรงกับทั้งของผู้บริจาคและของผู้ป่วย เพื่อหยุดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการจำแนกและตอบสนองต่อ “เซลล์บุกรุก” อีกทั้งยังให้ยายับยั้งภูมิคุ้มกันระดับต่ำ แล้วเฝ้าดูอยู่นาน 12 สัปดาห์
ทีมวิจัยพบว่าเซลล์ช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่สิ่งสำคัญคือเซลล์ใหม่ไม่ถูกปฏิเสธ แต่ ยูจิ ชิบะ (Yuji Shiba) ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยชินชู (Shinshu University) ในญี่ปุ่น บอกเอเอฟพีว่า พวกเขายังมีอุปสรรคอยู่ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่เซลล์จะก่อตัวขึ้นเป็นเนื้อร้าย ปัญหาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ ค่าใช้จ่ายสูงและอื่นๆ แต่เข้าเชื่อมั่นว่าการทดลองเซลล์หัวใจจากเทคนิค iPSC จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้กล่าวว่า นี่เป็นอีกก้าวสู่อนาคตแต่ก็เตือนว่ายังมีหนทางอีกยาวไกลรออยู่ข้างหน้า โดย ทิม ชิโค (Tim Chico) จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิล์ด (University of Sheffield) ในอังกฤษ ไม่เชื่อว่าการบำบัดโรคหัวใจล้มเหลวจะเป็นจริงได้ในอีกหลายปีข้างหน้า