xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...แบตเตอรีระเบิดได้อย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Cr.Ed Jones / AFP
ในที่สุดซัมซุงก็ประกาศให้ลูกค้าทั่วโลกหยุดใช้งาน “กาแล็กซี โน้ต 7 ” สมาร์ทโฟนเรือธงอีกรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน และยังไม่วางจำหน่ายในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ เหตุจากปัญหาแบตเตอรีระเบิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กรณีแบตเตอรีสมาร์ทโฟนกาแล็กซี โน้ต 7 (Galaxy Note 7) ของซัมซุงระเบิด รายงานจากเอเอฟพีระบุว่าเป็นตัวอย่างการระเบิดล่าสุดของแบตเตอรีลิเธียม ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่แลปทอป โฮเวอร์บอร์ด ไปจนแบตเตอรีเครื่องบิน และเป็นการย้ำเตือนว่าการเร่งรัดรวบเทคโนโลยีนั้นนำไปสู่ปัญหาใหญ่ได้

แบตเตอรีลิเธียมไอออนเป็นแบตแบบชาร์จไฟได้ และบรรจุพลังงานได้มากเมื่อเทียบกับน้ำหนัก ทำให้เหมาะสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา

แบตเตอรีอาจใช้วัสดุต่างกัน แต่หลักการก็คล้ายกัน มีส่วนแคโธด (cathode) ที่มีไอออนบวก และส่วนแอโนด (anode) ที่มีไอออนลบ โดยไออนเหล่านี้จะเคลื่อนที่เป็นทางเดียวเมื่อถูกชาร์จ และจะเคลื่อนที่กลับเมื่อถูกคายประจุหรือแบตเตอรีถูกใช้งาน ทั้งสองส่วนจะต้องไม่สัมผัสกัน ดังนั้นโรงงานจะใส่แผ่นกั้นเพื่อแยกสองส่วนนี้ออกจากกัน

ทว่าว่าปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้แบตเตอรีทำงานนั้นก็ทำให้เกิดความร้อนด้วย ไม่เพียงเท่านั้นแบตเตอรีเองยังมีสารประกอบที่ติดไฟง่าย และเซลล์ของแบตเตอรีก็ถูกปรับความดันด้วย ซึ่งรอยร้าวในแผ่นกั้นที่เกิดจากการผลิตเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการระเบิด

อีกสาเหตุคือการประจุไฟมากเกินไปหรือเร็วเกินไป ก็ทำให้เกิดความร้อนส่วนเกิน และเกิดการลัดวงจรที่ทำให้เกิดการระเบิดได้

ในกรณีของซัมซุงนั้นทางบริษัทระบุว่า กระบวนการผิดพลาดที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนั้นส่งผลต่อแผ่นกั้น ทำให้ส่วนของแบตเตอรีที่ไม่ควรสัมผัสกันเกิดแตะกันขึ้น

ทั้งนี้ โรงงานผลิตมีความพยายามอย่างหนักที่จะเพิ่มความจุของแบตเตอรี เพื่อรองรับความกระหายพลังงานของอุปกรณ์พกพา

“ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต่างพยายามที่จะลดขนาดแบตเตอรีเหล่านี้ให้เล็กและบางลง แต่เพราะแบตเตอรีนั้นสร้างพลังงานจากปฏิกิริยาเคมี มันจึงยากมากที่จะลดความเสี่ยงที่จะระเบิดไม่ให้เกิดขึ้นเลย” ฮิเดกิ ยาซึดะ (Hideki Yasuda) นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเอซ (Ace Research Institute) ในโตเกียวให้ความเห็น

การระเบิดของแบตเตอรีลิเธียมเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น แบเตอรีในแลปทอป แบตเตอรีของเครื่องบินโบอิง แบตเตอรีของจักรยานไฟฟ้า ส่วนกรณีระเบิดของแบตเตอรีซัมซุงนั้นเกิดขึ้นระหว่างชาร์จไฟ

อย่างไรก็ตาม ปริมาณแบตเตอรีลิเธียมที่ถูกผลิตขึ้นปีละหลายล้านก้อนนั้น มีเพียงส่วนน้อยที่ติดไฟหรือระเบิด
Cr.NICOLAS ASFOURI / AFP
Cr.NICOLAS ASFOURI / AFP






กำลังโหลดความคิดเห็น