สนช. ขานรับนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพจับมือ NEDO เดินหน้าตั้งโรงงานต้นแบบการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยครั้งแรกในไทย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (New Energy and Industrial Technology Development Organization, NEDO) ประเทศญี่ปุ่น แถลง “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยด้วยระบบประหยัดพลังงาน” เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถเปลี่ยนวัตถุดิบที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อยให้ไปเป็นน้ำตาลเซลลูโลส โอลิโกแซคคาไรด์ และโพลีฟีนอล ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอล หรือสารไบโอเคมีต่อไปได้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก 10 อุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ New S-Curve ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันก็เกิดการกระจายรายได้สู่ทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และสังคม ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สนช. และองค์การ NEDO มีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการนำร่องในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการผลิตเอทานอลราคาถูกให้กับประเทศไทย คือ “โครงการสาธิตการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังในประเทศไทย” ซึ่งผลการดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการด้วยดี สามารถต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ และในขณะนี้อยู่ในกระบวนการแสวงหานักลงทุนชาวไทยในการขยายผลของโครงการ”
“สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ องค์การ NEDO จะเป็นผู้สนับสนุนทุนในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ และสนช. จะให้ความช่วยเหลือด้านการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในด้านวิชาการ ซึ่งในเบื้องต้นได้ร่วมกันคัดเลือกกลุ่มบริษัท โทเร อินดัสทรีส์ บริษัท มิตซุย แอนด์ โค จำกัด บริษัท มิตซุย ชูการ์ จำกัด และบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด เข้าร่วมดำเนินโครงการ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถเปลี่ยนวัตถุดิบที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย ให้เป็นน้ำตาลที่สามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลหรือสารไบโอเคมีต่อไปได้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะสร้างโรงงานต้นแบบการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อย ขนาดกำลังการผลิต 15 ตันชานอ้อยต่อวัน หรือคิดเป็น 5,000 ตันชานอ้อยต่อปี สามารถผลิตน้ำตาลเซลลูโลสได้ 3.7 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 1,400 ตันต่อปี ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้เท่ากับ 700,000 ลิตรต่อปี นับว่าเป็นการสร้างโอกาสให้หน่วยงานในระดับภูมิภาคและเอกชนไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับการเรียนรู้ร่วมวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีให้สามารถผลิตในระดับโรงงานต้นแบบได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.โยชิเตรุ ซาโตะ กรรมการบริหารระดับสูงขององค์การ NEDO ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ประกาศเมื่อปี 2558 ที่วางแผนจะเพิ่มอัตราส่วนพลังงานหมุนเวียนให้สูงขึ้นจนถึง 30% นั้น ภาครัฐจึงได้ส่งเสริมการผลิตเอทานอล และพัฒนาอัตราส่วนการใช้พลังงานอย่างพอเพียงเพื่อให้เกิดความมั่นคง ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ในการนี้ จากบันทึกความร่วมมือเดิมระหว่าง สนช. และ NEDO ที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไทยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน
"โครงการนี้จึงเกิดขึ้น ณ จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย ในฐานะโครงการนำร่อง โดยมีการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยผลิตเอทานอลจากเซลลูโลส และเพิ่มมูลค่าให้กับกากชานอ้อยเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย ต้องขอขอบคุณ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในโครงการความร่วมมือนี้ โดยหวังว่าโครงการนี้จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและบุคลากรระดับชำนาญการระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น และมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป”