xs
xsm
sm
md
lg

“ยักษ์จอมขโมย” ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ในอาร์เจนตินา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์อะไร หลังจากขุดพบฟอสซิลได้จากอาร์เจนตินา ล่าสุดพบว่าไดโนเสาร์ดังกล่าวที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 80 ล้านปีก่อนนั้นเป็นสมาชิกของไดโนเสาร์กินเนื้อตระกูลหนึ่ง

ฉายาของไดโนเสาร์กินเนื้อที่นักวิทยาศาสตร์ขุดพบฟอสซิลได้จากชั้นหินอายุ 80 ล้านปีในพาทาโกเนีย อาร์เจนตินา คือ “ยักษ์จอมขโมย” (Giant Thieves) จากลักษณะเด่นที่มีกรงเล็บมือเหมือนเคียว และยังปราดเปรียว ว่องไว และฉลาดเฉลียว อีกทั้งยังเป็นจอมตะกละ

ฟอสซิลไดโนเสาร์ที่เดินสองตีนนี้ถูกพบในจุดที่อุดมด้วยกระดูกฟอสซิลจากยุคปลายครีเตเชียส (Late Cretaceous Period) โดยเอเอฟพีอ้างรายงานทางวิชาการที่เตรียมตีพิมพ์ลงวารสารพลอสวัน (PLOS ONE) ว่าไดโนเสาร์นี้ อาจเผยถึงกำเนิดของไดโนเสาร์สกุลเมกะแรพทอริดส์ (megaraptorids) ซึ่งเป็นกลุ่มนักล่าที่โดดเด่นของมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic)

ชื่อวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้คือ มูรัสแรพเตอร์ บาร์โรซเอ็นซิส (Murusraptor barrosaensis) ซึ่งเมกะแรพทอริดส์ชนิดอื่นๆ ที่รู้จักก่อนหน้านี้ยังมี เมกาแรพเตอร์ (Megaraptor) ออร์โกแรพเตอร์ (Orkoraptor) และ แอโรสเตียน (Aerosteon) ซึ่งสมาชิกของไดโนเสาร์สกุลนี้บางชนิดถูกพบในออสเตรเลียและญี่ปุ่น

นักวิจัยเผยว่าฟอสซิลของยักษ์จอมขโมยที่พบในเซียร์ราบาร์โรซาทางตะวันตกเฉียงเหนือของพาทาโกเนียนี้เป็นหนึ่งในฟอสซิลเมกะแรพทอริดส์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และมีกะโหลกที่ค่อนข้างสมบูรณ์อย่างเหลือเชื่อ

ชิ้นส่วนฟอสซิลที่พบนี้บ่งบอกว่าไดโนเสาร์ยักษ์จอมขโมยนี้ยังเป็นเด็กอยู่ และอาจจะโตขึ้นมาขนาดใหญ่และเพรียวกว่าเมกะแระเตอร์ และมีขนาดเทียบเท่าแอโรสเตียนและออร์โกแรพเตอร์

หัวหน้าทีมวิจัยในการศึกาครั้งนี้คือ โรโดลโฟ คอเรีย (Rodolfo Coria) จากสภาวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาร์เจนตินา (Consejo Nacional de Investigaciones Cientificas y Tecnicas) กับ ฟิลิป คัวร์รี (Phillip Currie) จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา (University of Alberta) ในแคนาดา












กำลังโหลดความคิดเห็น