xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเด็กอาชีวะเปิดศึก "จรวดดินขับเพื่อการสื่อสาร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปืนผาหน้าไม้หลบไป เด็กอาชีวะรุ่นใหม่สู้กันด้วย “จรวดดินขับ” แถมดวลกันด้วยสมอง ในค่าย “จรวดประดิษฐ์ปี '59”โดย สทป.เจ้าเก่า ที่ปีนี้ปรับโจทย์ใหม่ให้เป็น “จรวดเพื่อสื่อสาร” เน้นการใช้งานมากกว่าแข่งเอามันส์หวังดึงศักยภาพเด็กช่างเป็นมันสมองกองทัพ

“จรวดปีนี้ไม่เหมือนเดิม สี่ปีก่อนเราแข่งเอาความสูง แต่ปีนี้เราแข่งกันที่ประสิทธิภาพ เพราะได้เพิ่มชุดการสื่อสารเข้าไป เดี๋ยวลองดูรับรองว่าสนุก” คำกล่าวทักทายของ นางนิลวรรณ ศิวภุชพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนกิจการพิเศษ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) เอ่ยขึ้นอย่างน่าสนใจ ขณะนำทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เข้าสู่สนามทดสอบยิงปืนใหญ่ เขาพุโลน จ.ลพบุรี อันเป็นพื้นที่ประจำสำหรับการจัดแข่งขันจรวดประดิษฐ์

ปกติในช่วงเดือน พ.ค.59 เมื่อ 3- 4 ปีที่ผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ สทป.จะจัดการแข่งขันจรวดประดิษฐ์ เพื่อนำเสนอเนื้อหาสาระด้านวิทยาศาสตร์และผลการแข่งขันจรวดซึ่งมีความแตกต่างจากหลายๆ เวที ตั้งแต่การอบรมและออกแบบโดยนายทหารชำนาญการจาก สทป.ที่ถอดเครื่องแบบมาให้บริการความรู้แก่นักเรียนหัวกะทิระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปจนถึงการขับเคลื่อนจรวดด้วย “ดินปืน” เช่นเดียวกับจรวดของจริงที่มีในกองทัพ

นางนิลวรรณ ศิวภุชพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนกิจการพิเศษ สทป. กล่าวว่า การดำเนินงานค่ายจรวดประดิษฐ์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จดีเยี่ยม เพราะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนดีระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศ เกิดการเรียนรู้ตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสร้างนักวิจัย แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าความรู้ที่ได้เป็นแบบให้แล้วหมดไป ไม่มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

การจัดโครงการขึ้นในปีที่ 4 ทาง สทป.จึงมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ โดยเริ่มจากการให้ความสำคัญแก่กลุ่มครูและนักเรียนอาชีวะ ซึ่งมีการใช้ความรู้เกี่ยวกับงานช่างและมีความอยากรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ต่างไปจากเด็ก ม.ปลาย

ด้วยทักษะทางช่างของเด็กอาชีวะที่มีมากกว่าเด็กปกติ นางนิลวรรณ เผยว่า โจทย์ของการประดิษฐ์จรวดในปีนี้จึงเปลี่ยนไปด้วย โดยมองไปถึงประโยชน์ใช้สอยที่จรวดควรทำได้ มากกว่าการแข่งขันเพื่อวัดระดับความสูงหรือเสถียรภาพของจรวดทั่วไปแบบทุกปี จึงยก “การสื่อสาร” ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทางทหารต้องการใช้มากที่สุด มาเป็นความพิเศษ การแข่งขันจรวดในครั้งนี้จึงมีชื่อว่า “กิจกรรมค่ายจรวดประดิษฐ์เพื่อการสื่อสาร ปี 2559” ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาอาชีวะระดับ ปวส. สาขาวิศวกรรมด้านต่างๆ ของวิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศ จำนวน 90 คน

แบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงอบรมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีจรวดด้วยหลักการทางฟิสิกส์เป็นเวลา 4 วัน 3 คืนที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-12 ก.พ., ช่วงสร้างจรวดและพบปะคณะที่ปรึกษา ตั้งแต่ช่วง ก.พ.-เม.ย.และช่วงนำเสนอผลงาน จัดทำรายงานและการแข่งขันทดสอบ เมื่อวันที่ 11-13 พ.ค. ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสเข้าร่วม

สำหรับการคิดคะแนน นางนิลววณ เผยว่า จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนของการนำเสนอ-รูปเล่มรายงาน และส่วนของผลการยิง ซึ่งจะแยกออกอีกเป็นระบบจรวด ว่ามีการทำงานอย่างไร, สูงเกิน 200 เมตรหรือไม่, ร่มกางหรือไม่ และส่วนของระบบสื่อสารว่า สามารถส่งข้อมูลที่กำหนดไว้ได้ไหม, คุณภาพข้อมูลเป็นอย่างไร, และบังคับให้จรวดตกในพื้นที่เป้าหมายได้หรือไม่

“หากพิจารณาดูจะรู้ว่าปีนี้โจทย์ละเอียดและยากพอสมควร เพราะนอกจากจรวดจะต้องสูง ยังต้องส่งข้อมูลและบังคับให้ตกตามเป้าหมายได้ด้วย แปลว่านอกจากคุณภาพของจรวดจะต้องดี เยาวชนยังต้องเขียนโปรแกรมเพื่อบังคับจรวดให้ลงที่จุดหมายอย่างถูกต้องและปลอดภัยแต่ก็คาดว่าไม่น่าเกินความสามารถเพราะในกลุ่มหนึ่งอาจประกอบไปด้วยนักศึกษาอาชีวะที่ถนัดในด้านต่างๆ ทั้งงานทางอิเล็กทรอนิกส์ งานช่างกล และงานช่างไฟฟ้า เราจึงให้เด็กทำรายงานดิจิทัลดีไซน์ส่งด้วย ว่าจรวดที่เขาทำเป็นอย่างไร ใช้การประดิษฐ์รูปแบบไหน ใช้วิธีคิดแบบใด อ้างทฤษฎีอะไร เพื่อเป็นข้อมูลให้กับรุ่นน้องหรือกองทัพที่อาจต้องอาศัยองค์ความรู้ที่ดีเพื่อประดิษฐ์จรวดขึ้นใหม่ในอนาคต และที่สำคัญนอกจากเด็กเรายังให้อาจารย์จากวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมอบรมด้วย” นางนิลวรรณ เผยแก่ทีมข่าวถึงความพิเศษในการแข่งขัน

การจัดเตรียมจรวดแต่ละลำเป็นไปนานพอสมควร ทีมข่าวฯ จึงย้ายตัวเองลงไปประจำการที่เต้นท์กลางสนามเพื่อสอบถามถึงสาเหตุของความล่าช้า ซึ่งเราก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า การปล่อยจรวดครั้งนี้ “ไม่ง่าย” เหมือนปีก่อน เพราะนอกจากจะมีใหญ่ขึ้นซึ่งแปลว่าต้องใช้ดินปืนมากขึ้น ยังเสี่ยงต่อการชำรุดได้มากกว่าเนื่องจากมีอุปกรณ์หลายชิ้นที่ต้องบรรจุลงไป เราจึงเห็นภาพผู้เข้าแข่งขันหลายรายถอดอุปกรณ์ของจรวดเข้าออกอยู่หลายครั้ง จนการแข่งขันจรวดลำแรกเริ่มขึ้นเมื่อเวลาเกือบเที่ยงวัน

ด้าน พลอากาศตรีเจษฎา คีรีรัฐนิคม รองผอ.สทป.และผอ.ฝ่ายวิจัยและพัฒนา เผยว่า ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะระบบสื่อสารของจรวดมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก ทำให้นักศึกษาซึ่งยังไม่เชี่ยวชาญการประดิษฐ์ไม่มั่นใจ พลางก็หยิบหลอดระบบสื่อสารให้ทีมข่าวฯ ได้ชม

ระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ใหญ่ประมาณกระบอกข้าวหลามขนาดย่อมๆ มันถูกบรรจุอยู่ภายในหลอดพลาสติกม้วนขนาดใหญ่ภายในประกอบไปด้วยจีพีเอสเพื่อระบุพิกัด อุปกรณ์ไอเอ็มยูที่จะเก็บข้อมูลความเร่ง ความสูง ความกดดันอากาศ อัตราการหมุน ความลาดเอียง การสั่นควง และอุณหภูมิซึ่งข้อมูลจากระบบจะเชื่อมต่อและส่งลงมายังตัวรับข้อมูลด้านล่างด้วยคลื่นวิทยุซึ่งจะช่วยชี้วัดว่าจรวดลำใดมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีส่วนของระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ซึ่งเป็นชิปบอร์ดขนาดเล็กซึ่งถูกเขียนโปรแกรมด้วยอาดูโนนาโน สำหรับควบคุมทิศทางการร่อนลงของร่มชูชีพที่ติดกับระบบสื่อสาร ซึ่งส่วนนี้ผู้แข่งขันจะต้องบังคับทิศทางร่มให้ตกในจุดที่ต้องการด้วยตัวเองผ่านรีโมท

การปล่อยจรวดขึ้นสู่ท้องฟ้ายังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ในสภาพอากาศร้อนระอุ เด็กหนุ่มบนอัฒจรรย์ส่งเสียงเชียร์กันดังสนั่นสร้างความครึกครื้นได้ไม่น้อย โดยเฉพาะจรวดลำที่ยิงขึ้นได้ไกลและสูงจะได้รับเสียงปรบมือดังเป็นพิเศษแสดงให้เห็นถึงน้ำใจนักกีฬาอันอบอวล แม้ว่าแต่ละคนจะต่างที่มา หรือต่างวิทยาลัยก็ตาม

การประกาศผลจรวดในปีนี้จะถูกกล่าวขึ้นทันทีหลังการยิงเสร็จสิ้น เพราะทันทีที่จบการแข่งขันผลคะแนนความสูง ซึ่งมีเครื่องมือตั้งวัดอยู่ถึง 2 ที่ คือบริเวณเต๊นท์บนพื้นราบด้านหลังจุดยิง และบนเขาสูงด้านบนอัฒจรรย์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยวัดพิกัดและคำนวณความสูงด้วยทฤษฎีพีทากอรัส และเสถียรภาพของจรวดจะถูกประมวลออกมาทันทีด้วยข้อมูลที่ได้จากระบบสื่อสาร ทำให้หลายกลุ่มถึงกับโห่ร้องดีใจเมื่อได้ฟังผลคะแนนของตัวเอง ทว่าผลการแข่งขันจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะต้องมีการรวมคะแนนรูปเล่มและการรายงานปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการลงไปด้วย ทำให้ผลผู้ที่ชนะออกมาค่อนข้างกลับตาลปัตร ชนิดที่หลายทีมยังไม่รู้ว่าตัวเองได้รับรางวัล ซึ่งในปีนี้มีทีมที่ชนะดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร ชนะได้วยคะแนนรวม 84.67 คะแนน รับเงินรางวัล 20,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ มีคะแนน 78.94 คะแนนรับเงินรางวัล 10,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม มีคะแนน 77.94 รับเงินรางวัล 5,000 บาท

นายณัฐพล อินทรจินดา นักศึกษา ปวช.ชั้นปีที่ 2 แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาเทคนิคคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร ตัวแทนทีมชนะเลิศ เผยว่า รู้สึกตื่นเต้นมากและไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้แชมป์เพราะการทำจรวดเป็นสิ่งที่ท้าทายมากและต้องใช้ความละเอียดค่อนข้างสูง ทีมของเขาใช้เวลาพัฒนาจรวดอยู่ประมาณ 2 เดือน เพราะต้องทำทั้งตัวลำจรวดและเซนเซอร์บังคับการร่อนลง ซึ่งถือเป็นส่วนที่เขาคิดว่ายากที่สุด

“กว่าจะเป็นจรวดลำนี้ได้ พังมาไม่รู้กี่รอบ ก่อนหน้านี้เคยทำลำหนึ่งร่มก็บินออกป่าจนหาไม่เจอ เพราะร่มใหญ่เกินไป ในขณะที่ตัวจรวดเราเบา ต้องค่อยๆ นั่งวิเคราะห์แล้วช่วยกันแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ แล้วก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะอุปกรณ์เหล่านี้เป็นของบนฟ้า เป็นของทหาร คนทั่วไปจะเข้าถึงลำบาก เงินที่ได้มา 20,000 บาทจึงตั้งใจจะนำมาใช้สำหรับการต่อยอด” ตัวแทนทีมแชมป์กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

เช่นเดียวกับนายบุญพจน์ หอมสุคนธ์ นักศึกษาปวช. ปี 3 ฝ่ายช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา กล่าวว่า นี่เป็นการประดิษฐ์จรวดครั้งแรกในชีวิตของเขา เป็นเรื่องใหม่ที่เข้าใจยาก แต่พอลงมือทำแล้วรู้สึกสนุก เพราะนักวิจัย สทป.ให้ความรู้อย่างละเอียดตั้งแต่หลักทางฟิสิกส์ การทำไมโครคอนโทรลเลอร์ การออกแบบรูปทรงจรวด ซึ่งความรู้ที่ได้ล้วนนำไปประยุกต์กับการเรียนในชีวิตจริง โดยเฉพาะการทำแผงวงจรซึ่งเขาถนัดอยู่แล้วจากการเรียนในสาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนนักเรียนจ่าอากาศ อรชุน สกุลโพน ชั้นปีที่ 3 โรงเรียนจ่าอากาศ ที่เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้ความรู้ใหม่ๆ ไปพอสมควรโดยเฉพาะการเชื่อมต่อระบบสื่อสาร เนื่องจากในกลุ่มเขามีหน้าที่พัฒนาตัวไมโครคอนโทรลเลอร์ และใช้เซอร์โวต่อเข้ากับตัวรับเพื่อบังคับทิศทางการตกของร่ม ที่แม้จะทำให้สำเร็จได้ไม่ยากแต่ก็เหนื่อยจนเขาแทบถอดใจ เนื่องจากระบบชำรุดบ่อยและพวกเขาไม่มีเวลาในการทำจรวดมากนัก เนื่องจากเป็นนักเรียนโรงเรียนจ่าอากาศ ไม่มีช่วงปิดเทอม และในแต่ละช่วงเวลามีกฏบังคับตายตัว ทำให้ต้องใช้เวลาช่วงกลางคืนในการประดิษฐ์จนเกือบถูกทำโทษอยู่บ่อยครั้ง

“ทุกๆ ปีโรงเรียนจ่าอากาศจะได้รับเชิญจาก สทป.มาร่วมการแข่งขันจรวดประดิษฐ์ทุกครั้ง ทำให้มีพี่จ่าหลายคนที่มีความชำนาญ ยินดีที่จะกลับมาช่วย แต่ปีนี้เป็นจรวดแบบใหม่ต้องใส่เครื่องมือสื่อสารเข้าไปจึงกลายเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน แต่ก็ผ่านมาด้วยดี แม้จะไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไรเพราะพวกผมพยายามกันอย่างเต็มที่ แก้ไขกันจนถึงตี 4 ของเมื่อวานแม้จะค่อนข้างเหนื่อย แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่เราประยุกต์มาใช้กับสายงานของตัวเองได้ในระยะยาว ไม่ใช่แค่แข่งขันให้มันจบๆไป” นักเรียนจ่าอากาศอรชุน กล่าวทิ้งท้าย



































กำลังโหลดความคิดเห็น