xs
xsm
sm
md
lg

3 "หุ่นยนต์การแพทย์" ฝีมือไทยพัฒนาด้วยหลักการ "ง่ายและโง่"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

SensibleTab หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ คือการบริการด้านสาธารณสุขที่ต้องรองรับผู้ป่วยมากขึ้นในขณะที่มีบุคลากรทางการแพทย์เท่าเดิม คงจะดีไม่น้อยหากเรามี "หุ่นยนต์ทางการแพทย์" มาช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยแทนการทำหน้าที่ของคน
นักศึกษาให้ความรู้แก่นักเรียนที่มาชมงานเปิดบ้าน
ในโอกาสที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือฟีโบ้ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีอายุครบ 20 ปี สถาบันฯ จึงได้จัดให้มีกิจกรรมโชว์หุ่นยนต์ขึ้นภายในอาคารของสถาบันฯ ภายใต้หัวข้อ "20 ปี FIBO : 20th Anniversary Professional Robot Maker เหลียวหลังมองอดีตสู่อนาคต" เพื่อเปิดบ้านประชาสัมพันธ์การศึกษาต่อ, การเสวนาวิชาการ และจัดแสดงผลงานนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่เรียกได้ว่ามากันครบทุกแผนก

แต่ก่อนที่จะไปพบกับพระเอกของงานอย่างกองทัพหุ่นยนต์ ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมรับฟังการบรรยายในหัวข้อ "หุ่นยนต์ฟีโบ้ในโรงพยาบาลไทย" (FIBO Robots in Thai Hospitals) จาก ดร.ปราการเกียรติ ยังคง ผู้เชี่ยวชาญและนักพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์มือหนึ่ง ที่ได้กล่าวถึงการนำหุ่นยนต์เข้าไปใช้กับระบบโรงพยาบาลไทยไว้อย่างน่าสนใจ
ดร.ปราการเกียรติ ยังคง
ดร.ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ.กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด, หลอดเลือดสมองตีบ และโรคมะเร็งมากขึ้นตามภาวะสังคมผู้สูงอายุที่กำลังคืบคลานเข้ามา ในขณะที่ตัวเลขของผู้พยาบาลรักษาผู้สูงอายุในอนาคตมีน้อยลง ทำให้ "หุ่นยนต์ทางการแพทย์" เป็นความหวังและถูกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทว่าหุ่นยนต์ผ่าตัด, อุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ, หุ่นยนต์เครื่องมือแล็บ, หุ่นยนต์กู้ภัย ตลอดจนแขน ขาเทียมเป็นที่อิ่มตัวของตลาด และทำได้ยากในงบประมาณที่จำกัด การพัฒนาหุ่นยนต์ฟื้นฟูช่วยเหลือและหุ่นยนต์ช่วยจ่ายยาจึงเป็นสิ่งที่ ดร.ปราการเกียรติ สนใจและเริ่มพัฒนาด้วยการยึดหลัก "ง่ายและโง่" (simple engineering) เพื่อผลิตหุ่นยนต์ที่ซับซ้อนน้อยแต่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ง่ายต่อการใช้งาน และมีราคาไม่สูงไปกว่าหุ่นยนต์ของต่างประเทศ จนขณะนี้มีผลงานที่สำเร็จเป็นที่ประจักษ์หลายชิ้น ซึ่งในวันนี้ได้นำมาจัดแสดงให้ชมถึง 3 ผลงาน
นักเรียนร่วมสาธิตการใช้เครื่อง SensibleTab
ชิ้นแรกที่ทีมข่าวผู้จัดการจะพามารู้จักคือ หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ เซ็นซิเบิลแท็บ (Sensibletab) หุ่นยนต์ทางการแพทย์ประเภทช่วยเหลือฟื้นฟู ที่จัดทำขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อนเพื่อใช้เป็นเครื่องกายภาพบำบัดฟื้นกำลังแขนให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มักมีอาการแขนอ่อนแรง หรือแขนไม่มีแรง

เซนซิเบิลแท็บจะพยุงแขนของคนไข้ให้เคลื่อนที่ไปมาตามแนวการเคลื่อนไหวที่นักบำบัดกำหนดให้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นฟูแล้ว เครื่องยังสามารถตรวจทราบการออกแรงของผู้ป่วยว่ามีการออกแรง หรือเกร็งต้านมากน้อยเพียงใดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการประเมินรักษาและช่วยลดภาระงานของนักกายภาพบำบัด

"เซ็นซิเบิลแท็บตัวนี้เป็นพระเอกของแล็บเราเลย เพราะค่อนข้างประสบความสำเร็จ ใช้ได้ดีตามวัตถุประสงค์ และทำให้ผู้ป่วยแขนอ่อนแรงที่เข้ารับการฟื้นฟูต่อเนื่อง 6 เดือนมีอาการดีขึ้นขึ้นจริง ตอนนี้มีการนำร่องใช้แล้วที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ โดยมีชั่วโมงที่คนไข้ใช้สะสมรวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 ชั่วโมง และคาดว่าในปีนี้ก็น่าจะได้เห็นอีกในโรงพยาบาลหลายๆ แหล่ง ส่วนราคาก็อยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ" ดร.ปราการเกียรติ กล่าว
บีไฮฟ์ (B-Hive) หรือ หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ
ตัวต่อมาเป็นหุ่นยนต์ที่หน้าตาไม่เหมือนหุ่นยนต์และกำลังได้รับความสนใจจากโรงพยาบาลต่างๆ หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า บีไฮฟ์ (B-Hive) หรือ หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ เป็นหุ่นยนต์ประเภทช่วยจ่ายยาที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความผิดพลาดในการจ่ายยา, การจ่ายยาล่าช้า และการทุจริตเกี่ยวกับยา ให้สามารถรับใบสั่งยาโดยตรงจากแพทย์ผู้รักษาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และจัดเรียงยาลงสายพานด้วยกลไกคล้ายตู้กดน้ำหยอดเหรียญมาสู่เภสัชกรเพื่อจ่ายยาและให้คำแนะนำต่อไป

หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติสามารถทำการจ่ายยาได้ 7 รายการใน 1 วินาที หรือประมาณ 3 ใบสั่งยาต่อนาที และยังสามารถเชื่อมต่อกับการตรวจสอบและพิมพ์สลากยาได้ทำให้มีความแม่นยำสูงมาก เมื่อเทียบกับคนที่สามารถผิดพลาดได้ถึง 15% ทำให้หลังการเปิดตัวเพียงปีเศษมีโรงพยาบาลไทยติดต่อขอซื้อระบบมากถึง 4 แห่ง เพื่อนำไปใช้กับการยกระดับห้องจ่ายยา
บีไฮฟ์ (B-Hive) หรือ หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ
"หุ่นยนต์จ่ายยาของเราจะแตกต่างจากของต่างประเทศ คือของเราจะเป็นระบบเหมือนตู้กดน้ำ สั่งปุ๊บประเภทยาจะตกลงมาตามสายพาน ในขณะที่ของต่างประเทศจะเป็นระบบมือกล ที่จะเลื่อนไปหยิบยาแต่ละประเภทตามคำสั่ง ทำให้ของเราเร็วกว่าคือประมาณ 3 ใบสั่งยาต่อนาที แต่ตอนนี้ใช้ได้แค่กับยาประเภทยากล่องและยาขวด ส่วนหุ่นยนต์ที่จะจ่ายยาอื่นๆเช่น ยาบรรจุขวดเอง, ยาขวดแก้วคอคอด, ยาแผง, ยาที่ต้องผสม และยาอันตรายเช่น ยามะเร็งก็จะทะยอยออกตามมาคาดว่าไม่เกินปลายปีนี้"ดร.ปราการเกียรติ เผย
เครื่องวิเคราะห์การทรงท่าของเด็ก
ส่วนหุ่นยนต์การแพทย์ตัวสุดท้าย เป็นงานวิจัยล่าสุด ที่ ดร.ปราการเกียรติ เผยว่า ได้รับโจทย์วิจัยมาจากแพทย์โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ ได้แก่ เครื่องวิเคราะห์การทรงท่าของเด็กที่มีหน้าตาคล้ายโต๊ะกระจกธรรมดาแต่มีกล้องเว็บแคมและไฟสีเขียวที่เกิดจากโปรแกรมและเทคนิคการฉายแสงอยู่ด้านล่าง เพื่อจับภาพเด็กทารกขณะนอนว่ามีการทรงตัว และมีพื้นที่สัมผัสระหว่างทารกกับเครื่องวิเคราะห์อย่างไร แทนการวินิจฉัยด้วยตาเปล่าที่ทำได้ยากในเด็กทารก
เมื่อผิวสัมผัสกับกระจก แสงสีเขียวจะฉายและกล้องจะจับภาพ
เมื่อวางเด็กลงตามท่าทางต่างๆ เครื่องวิเคราะห์ฯ จะถ่ายภาพประมาณ 10 ภาพส่งให้กุมารแพทย์ เพื่อดูการเบี่ยงเบนจากศูนย์กลางของแกนกลางลำตัวเด็ก เนื่องจากเด็กที่มีภาวะสมองพิการจะไม่สามารถทรงตัวให้ตรง หรือกระจายน้ำหนักได้สม่ำเสมอเหมือนเด็กปกติ ทำให้แพทย์สามารถคัดแยกเด็กที่มีพัฒนาการช้าได้เร็วภายในอายุ 6 เดือน ซึ่งทำให้มีโอกาสรักษาหายมากขึ้น เพราะปกติกว่าจะวินิจฉัยได้ว่าเด็กมีปัญหาทางสมองจะประเมินได้เมื่อมีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งช้าเกินไปสำหรับการเยียวยา
เมื่อผิวสัมผัสกับกระจก แสงสีเขียวจะฉายและกล้องจะถ่ายภาพ หากเด็กปกติหน้าอกจะแนวกับกระจกเป็นแนวตรง แต่หากเป็นเด็กผิดปกติจะมีการทรงตัวเอียงเกินความสมดุล
"เครื่องนี้ใช้กับเด็กมาประมาณ 20 คนที่โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ ยังไม่อยู่ในระยะจำหน่าย เพราะต้องรอการจดทะเบียนมาตรฐานและวิจัยต่อ โดยเราจะติดกล้องให้มากขึ้นเพื่อจับสีหน้าและแววตาเด็กขณะเล่นของเล่นที่อยู่รอบตัวขณะทดสอบด้วย เพื่อให้แพทย์มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้นซึ่งมันจะช่วยเด็กได้อีกมหาศาล" ดร.ปราการเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม
หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์สั่งการเซลฟี่ได้
สำหรับโครงการในอนาคต ดร.ปราการเกียรติ เผยว่า จะมีการพัฒนาหุ่นยนต์นวดเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการบำบัดในโรงพยาบาล หรือสนองความต้องการของสปาในโรงแรมและศูนย์สุขภาพต่างๆ โดยตั้งใจว่าจะพัฒนาให้ทำหุ่นยนต์สามารถนวดได้หลากหลาย ทั้งการนวดแผนไทยแบบฉบับวัดโพธิ์ หรือการนวดเพื่อความผ่อนคลายแบบสปา ส่วนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือเครื่องมือศัลยกรรมต่างๆ ดร.ปราการเกียรติ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จะไม่ผลิตแน่นอนเพราะส่วนตัวไม่ชอบเห็นเลือดและความเจ็บปวด

"การผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย อุปสรรคมาก โดยเฉพาะ มจธ.ที่ไม่ได้มีคณะแพทย์อยู่ แต่มันก็กลายเป็นเรื่องดีเพราะไม่มีการเกี่ยงเรื่องสังกัด ส่วนโจทย์วิจัยผมจะเน้นการรับโจทยจากแพทย์ที่สนิทในโรงพยาบาล แล้วนำมาคิดและทำด้วยหลักง่ายและโง่ ให้มันออกมาเป็นหุ่นยนต์ที่ดูใช้ง่ายแต่ได้ประโยชน์สูงสุดและเวลาทำผมจะทุ่มสุดตัว ใช้วิธีทุบหม้อข้าวแบบพระเจ้าตาก เพราะผมเชื่อว่าถ้าฟีโบ้พัฒนาหุ่นยนต์ตัวนี้ไม่ได้ ก็ไม่มีที่ไหนในประเทศทำได้อีก "

นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการจัดแสดงหุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์, หุ่นยนต์ภาคสนาม เช่น โดรน, หุ่นยนต์กู้ภัย, หุ่นยนต์เรือ, หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์, หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และผลงานจากนักศึกษาอีกมากมาย ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เก็บภาพบรรยากาศและความล้ำสมัยของหุ่นยนต์แต่ละชนิดมาให้ชม
น้องส้มโอ, น้องแบงค์ และน้องมันแกว หุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์ ส่วนน้องแบงค์ (ตัวกลาง) มีความสามารถพิเศษตรวจธนบัตรปลอมได้
น้องนะโม หุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์
น้องโอห์ม หุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์
หุ่นยนต์อีกัวน่า
หุ่นยนต์ระบบล้อเลื่อนแบบลุกนอนได้สำหรับสุนัขพิการขาหลัง
ชุดหุ่นยนต์ล้อเดียวส่งเสริมการศึกษาการเคลื่อนที่แบบหมุน
หุ่นยนต์จิ๋ว
เด็กนักเรียนชมการทำงานหุ่นยนต์ประกอบชิ้นส่วน
ยักศึกษาต่างสถาบันเยี่ยมชมผลงาน
UAV
นักศึกษาอธิบายประโยชน์ของโดรนให้นักเรียนที่มาชมงานฟัง
ผลิตภัณฑ์จากการพิมพ์แบบลดโครงสร้าง
หุ่นยนต์จำลองการลำเลียงสินค้าในโรงงาน
เรือหุ่นยนต์
หุ่นยนต์ตรวจค้นวัตถุระเบิด
ขิมไฟฟ้า









กำลังโหลดความคิดเห็น