xs
xsm
sm
md
lg

"สะแกราชโมเดล" ต้นแบบรักษาป่าด้วยวิทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ วว.ร่วมถ่ายภาพกับรมว.วิทยาศาสตร์ ในโอกาสลงพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา
ชูความสำเร็จ "สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช" เป็นพื้นที่ต้นแบบใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมช่วยจัดการป่าไม้ยั่งยืน ยก“สะแกราชโมเดล” เป็นสุดยอดวิธีดำเนินการ "เอาคนออก-แบ่งโซนชัด-จัดสรรพื้นที่-ดำรงตำแหน่งหลายปี-วิจัยวิทย์หลากหลาย" สทอภ.เตรียมรับลูกใช้ดาวเทียมหาพื้นที่ขยายผล

"คุณคงมีคำถามใช่ไหมว่ากระทรวงวิทย์มาเกี่ยวอะไรด้วยกับการดูแลป่าไม้? ต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานฯ สิ ก็ใช่ครับ แต่ที่นี่พิเศษกว่าที่อื่นตรงที่เรารักษาป่าไว้ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ด้วยคุณค่าของงานวิจัยและความเข้าใจของคนในพื้นที่ ทำให้ 48 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าสะแกราชแทบไม่มีคำว่าลดลงมีแต่เพิ่มขึ้น แล้วทางวิทยาศาสตร์เราก็ไม่ได้มองว่าที่นี่คือป่า แต่ที่นี่คือธนาคารเก็บพันธุกรรมพืชและสัตว์ที่ดีที่สุด ซึ่งความสำเร็จที่ชัดเจน ทำให้วันนี้สะแกราชโมเดลเป็นที่จับตามอง" ดร.ทักษิณ อาชวคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เอ่ยขึ้นระหว่างนำทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่เพื่อรับฟังการเสวนาและแถลงความสำเร็จของสะแกราชโมเดล

ดร.ทักษิณ กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายบูรณาการและเชื่อมโยงงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในมิติต่างๆ ทั้งด้านการวิจัยเชิงพาณิชย์, ด้านการวิจัยเชิงสังคม-ชุมชน, ด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการ, ด้านการพัฒนากำลังคนและด้านทรัพยากร และเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูป วทน.ของประเทศด้านทรัพยากร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) จึงจำเป็นต้องเฟ้นหาพื้นที่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่ดูแลงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและประสบความสำเร็จเพื่อเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา ที่ดำเนินงานด้วย “หลักสะแกราชโมเดล” ได้รับการพิจารณาว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด

ดร.ทักษิณ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 4 ก.ย.58 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จึงได้มีคำสั่งให้ดำเนินการจัดทำพื้นที่ต้นแบบสะแกราชขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบการบูรณาการงานด้าน วทน. ภายใต้การจัดการเชิงพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการป่าอย่างสมดุลยั่งยืน และเพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการป่าในรูปแบบใหม่ให้กับพื้นที่อื่นๆ

"จากภาพถ่ายดาวเทียมของ สทอภ.ที่สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ถึง 30 ปี พบว่าสภาพป่าของสะแกราชกว่า 50,000 ไร่ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีการบุกรุก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าป่าได้รับการดูแลอย่างดี จนทำให้ป่าสะแกราชได้รับการยกย่องให้เป็นพื้นที่ชีวมณฑลจากยูเนสโก และป่าผืนเดียวที่กระทรวงวิทย์ดูแลแห่งนี้ ยังถือเป็นป่าอันทรงคุณค่า เพราะรองรับงานวิจัยและค่ายวิชาการต่างๆ จนมียอดการจองคิวยาวข้ามปี วันนี้เราจึงมาร่วมกันวิเคราะห์บทเรียน เพื่อให้พื้นที่อื่นหรือองค์กรด้านป่าอื่นๆ นำกุญแจความสำเร็จของสะแกราชไปใช้ต่อยอด" ดร.ทักษิณเผย

สำหรับกุญแจความสำเร็จของพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชมี 4 ข้อด้วยกัน ซึ่ง ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ.ได้กล่าวสรุปว่า กุญแจดอกแรก คือ ที่สะแกราชมีการแยกคนออกจากป่าอย่างสมบูรณ์ เพราะหากปล่อยให้มีชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ป่าย่อมมีการบุกรุกถางทำลายไม่มากก็น้อย โดยการเชิญชาวบ้านออกจากป่า ดร.ทักษิณ เผยว่าในช่วงแรกจะใช้วิธีอธิบายให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการอนุรักษ์ป่า กและเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน แบ่งเป็นครัวเรือนละ 20 ไร่สำหรับทำการเกษตรและปลูกบ้านพักอาศัยอีก 2 งาน พร้อมทำตัวเป็นพี่เลี้ยงในระยะแรกในงานเกษตรให้ชาวบ้านด้วย เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรู้สึกถึงความโดดเดี่ยว ไม่ยุติธรรมจากการให้ออกนอกพื้นที่และย้งเป็นการปลูกฝังจิตอนุรักษ์ธรรมชาติในคราวเดียวกัน

กุญแจดอกที่ 2 คือ พื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ใช้หลักการบริหารพื้นที่ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่สงวนชีวมณฑล โดยจัดโซนออกเป็น 3 ส่วนบนพื้นที่รวมกันทั้งสิ้นราว 1 ล้านไร่ ของ อ.วังน้ำเขียว และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ได้แก่ เขตแกนกลางเป็นพื้นที่ห้ามบุกรุกใช้งานครอบคลุมเนื้อหาประมาณ 50,000 ไร่ มีไว้สำหรับการทำวิจัยและการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ป่าเท่านั้น, เขตกันชนเป็นพื้นที่ห้ามใช้ประโยชน์และจัดตั้งบ้านพักอาศัยเช่นเดียวกับส่วนแกนกลาง แต่ในส่วนนี้จะมีการจัดค่ายกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ มีการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ป่า และมีการถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัย และแนวเขตรอบนอกที่เป็นเขตที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นเขตที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกและขยายพันธุ์พืชป่ากินได้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์โดยสะแกราช เพื่อส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยการลงพื้นที่สอนของนักวิจัย วว.

กุญแจดอกที่ 3 คือ ที่สะแกราชมีการทำงานที่ต่อเนื่องของบุคลากร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากของการบริหารงานด้านป่าไม้ เพราะการใช้คนทำงานหรือผู้บริหารชุดเดิมที่มีประสิทธิภาพ มีความรู้ ความเข้าใจในพื้นที่ย่อมทำให้รู้ปัญหาและแนวทางการแก้ไขที่ดีกว่า เช่น ผอ.ทักษิณ ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีฯ มาเป็นเวลาถึง 14 ปีย่อมมีความรู้ ความเข้าใจและได้รับความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่และชุมชนใกล้เคียงที่ดีกว่า การเปลี่ยนหน้าผังบริหารรายปี หรือราย 4 ปีแบบที่หน่วยงานด้านป่าไม้อื่นๆ กำลังใช้อยู่ เพราะเวลาการดำรงตำแหน่งที่น้อยเกินไปจะทำให้นโยบายดีๆ ที่ผู้บริหารคนเก่าเคยจัดการไว้ถูกพับเก็บไปเมื่อผู้บริหารคนใหม่เข้ามา

ส่วนกุญแจดอกสุดท้าย ทั้งสำคัญและทำให้สะแกราชมีความโดดเด่นกว่าป่าที่อื่นๆ ทั้งหมด เพราะใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับงานหลายด้าน เช่น ด้านการวิจัยเพราะภายในสะแกราชถือเป็นแหล่งชุมนุมนักวิจัยทั้งไทยและต่างชาติขนาดย่อมๆ โดยหัวข้อการศึกษามีความครอบคลุมทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะงานวิจัยด้านงูจงอาง, ไก่ฟ้าพญาลอ และการสร้างรังนกเทียมเพื่อเพิ่มอัตราการรอดของนกที่ถือว่าเป็นงานวิจัยบุกเบิกและค่อนข้างมีชื่อเสียงในแวดวงวิชาการ

อีกทั้งยังมีงานวิจัยด้านการแปรรูปใช้ประโยชน์ก็มีมากโดยเฉพาะสมุนไพร ที่นักวิจัยของ วว.จะนำใช้และคิดค้นออกมาเป็นองค์ความรู้สำหรับการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาสอนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ทำเพื่อสร้างรายได้ นอกจากนี้ในส่วนของการบริหารจัดการ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชยังได้นำเทคนิคการจัดการน้ำจากสถาบันสารสนเทศทรัพยาน้ำและการเกษตร (สสนก.) และระบบภาพถ่ายดาวเทียมติดตามสภาพผืนป่าของ สทอภ.มาใช้ด้วย

ดร.ทักษิณยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ป่าสะแกราชถือเป็น “ธนาคารพันธุกรรมพืชและสัตว์” ซึ่งเป็นต้นแบบความสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะระบบนิเวศป่าไม้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์สัตว์นานาชนิด อาทิ เลียงผาเก้ง ไก่ฟ้าพระยาลอ ไก่ป่า กวางป่า และยังอุดมไปด้วยผักพื้นบ้านนานาพันธุ์ อาทิ ผักกูด ผักหวาน กระถิน สะตออีสาน ที่ วว.ยกให้เป็นพืชนำร่องในโครงการรณรงค์ปลูกพืชท้องถิ่นกินได้เพื่อสร้างรายได้

ส่วนการนำไปสะแกราชโมเดลไปขยายผลต่อในพื้นที่อื่น ดร.อานนท์ เผยว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะสภาพป่าในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน และพื้นเพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่ในเบื้องต้น สทอภ.จะใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม และระบบระบุตำแหน่ง (GIS) ในการศึกษาว่าพื้นที่ป่าบริเวณใดของประเทศที่มีลักษณะคล้ายคลึงหรือมีปัญหาที่สามารถนำสะแกราชโมเดลไปช่วยแก้ไขได้ และจะเดินหน้าหากุญแจความสำเร็จของสะแกราชโมเดลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด สำหรับการจัดทำคู่มือสะแกราชโมเดลไว้สำหรับแจกจ่ายองค์กรด้านป่าไม้หรือแม้แต่ผู้สนใจที่เดินทางมาศึกษาดูงานที่สถานีฯ

"สะแกราชโมเดลอยู่ได้เพราะมีกิจกรรมวิจัยและถ่ายทอดความรู้ซึ่งมันเป็นฟังก์ชันหลักของพื้นที่ตรงนี้ ที่นี่แทบไม่มีเจ้าหน้าป่าไม้ถือปืนเดินไปมา แต่ที่นี่มีนักวิจัยเต็มไปหมดที่คอยเป็นหูเป็นตาแทน ถ้าจะขยายผลไปที่อื่นก็ต้องดูว่าพื้นที่ตรงนั้นมันมีคุณค่าด้านการวิจัยและถ่ายทอดไหม ถ้าไม่มีคุณค่าก็เอาสะแกราชโมเดลไปไม่ได้ แต่ถ้าจะเอาไปใช้ก็ต้องดูก่อนว่าพื้นที่นั้นมีการกำหนดพื้นที่ไหม ถ้ามีทั้งการทำวิจัย ทั้งการแบ่งโซน ก็เอาสะแกราชโมเดลไปใช้ได้เลยไม่ว่าจะเป็นป่าสมบูรณ์หรือเสื่อมโทรม ซึ่งตอนนี้ผมเห็นว่าป่าที่ภาคเหนือและอีสานหลายแห่งที่มีศักยภาพนำโมเดลนี้ไปใช้ได้" ดร.อานนท์กล่าว

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลังจากเดินทางลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อสรุปสะแกราชโมเดลถึงพื้นที่ ก็ได้กล่าวให้นโยบายเพิ่มเติมว่า แนวทางสะแกราชโมเดลให้ผลสำเร็จที่เห็นผลได้ชัดน่าชื่นชม แต่เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลระดับโลก จึงอยากให้ยกระดับจากโมเดลระดับประเทศให้เป็นโมเดลระดับนานาชาติ ด้วยการเพิ่มหัวข้อการวิจัยจากด้านพืชและสัตว์เป็นหลักให้ครอบคลุมเนื้อหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งการศึกษาน้ำ ดิน ป่า อากาศให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้มีการนำนวัตกรรมอันทันสมัย เช่น ระบบดาวเทียม, ระบบการสำรวจข้อมูลระยะไกล, ระบบจีพีเอสให้มากขึ้นกว่าเดิม ควบคู่กับการสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ป่าที่ดำเนินการอยู่แล้ว

"ผมไม่ได้มองว่าสะแกราชโมเดลจะเป็นเพียงแค่ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดีเยี่ยม แต่ผมมองเห็นว่ามันยังเป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลกได้ด้วยทั้งเรื่องน้ำ, การมีส่วนร่วม, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมจึงอยากให้มีการศึกษาเพิ่มอย่างเข้มข้นในส่วนนี้อีกในอนาคต เพราะนอกจากจะเป็นต้นแบบป่าอื่นๆ ยังเป็นต้นแบบให้กับอาเซียนหรือประเทศในเขตศูนย์สูตรได้ด้วย แล้วที่สำคัญที่ทำให้ผมแปลกใจมาก คือมาที่นี่ผมเห็นแต่นักวิจัยจากต่างประเทศ จึงอยากจะเชิญชวนให้นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาเข้ามาทำงานที่นี่มากๆ และผมจะกระตุ้นให้นักวิจัยของกระทรวงที่เก่งๆ เข้ามาทำงานที่นี่ให้มากขึ้น" ดร.พิเชฐ กล่าวทิ้งท้าย
บรรยากาศการเสวนาในหัวข้อเรียนรู้ความสำเร็จในการรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน
วิทยากรและเจ้าหน้าที่ วว.ถ่ายภาพร่วมกันหลังการเสวนา
บรรยากาศการเสวนา มีทั้งตัวแทนสถานศึกษา หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม
ดร.พิเชฐ พูดคุยกับเหล่านักเรียนที่มาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ที่สถานีวิจัยฯ
ดร.พิเชฐ พูดคุยกับนักวิจัยต่างชาติที่มาศึกษาเรื่องงูจงอางในสถานีวิจัยฯ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รับการต้อนรับจาก ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว.
ดร.ทักษิณ อาชวคม ผอ.สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สทอภ.









กำลังโหลดความคิดเห็น