xs
xsm
sm
md
lg

เหลียวหลังแลหน้า...ท่องเส้นทาง "แสงคือชีวิต" ในมหกรรมวิทย์ '58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิทรรศการแสง รู้ไหมว่า? ... จุดกำเนิดของแสงอยู่ตรงไหน? แสงสร้างประโยชน์อะไรให้กับมนุษย์? และมนุษย์รู้จักการเรียนรู้เรื่องแสงตั้งแต่เมื่อใด? ร่วมไขคำตอบสารพัดเรื่องแสง ในนิทรรศการ "แสงคือชีวิต" ในมหกรรมวิทย์ '58

สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2558 อีกนิทรรศการหนึ่งที่พลาดไม่ได้คือ นิทรรศการแสงคือชีวิต (Light is life) นิทรรศการขนาดใหญ่จากส่วนกลาง ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใกล้เคียงกับแลนด์มาร์คของมหกรรมฯ ด้วยความยิ่งใหญ่ของนิทรรศการที่ถูกเนรมิตให้เป็นห้องขนาดใหญ่บุด้วยสีดำดูลึกลับ ตัดกับแสงไฟสีขาว สีน้ำเงินสะดุดตา ดึงดูดให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เดินเข้าไปพิสูจน์พร้อมๆ กับบรรดาเหล่าเยาวชน

เมื่อม่านดำปิด ความมืดผลักให้เราค่อยๆ เดินเข้าไปยังด้านใน สองข้างระหว่างทางเดิน เต็มไปด้วยแผ่นความรู้สีสะท้อนแสงสดใสที่ช่วยบรรยายให้เราทราบข้อมูลได้โดยง่ายแม้จะไม่มีนักวิชาการคอยอธิบายเหมือนบูธอื่น เนื้อหาปูทางให้เห็นว่ากว่าจะเกิดแสงในสรรพสิ่งต่างๆ โลกต้องเดินก้าวข้ามอะไรมาบ้าง

ตั้งแต่การกำเนิดระบบสุริยะตั้งแต่เมื่อประมาณ 9 พันล้านปีหลังเกิดบิ๊กแบง เรื่อยมาจนการกำเนิดดาวฤกษ์และดาราจักรรุ่นแรกเมื่อประมาณ 300 ล้านปีหลังการเกิดบิ๊กแบง จนถึง 5 พันล้านปีที่แล้วที่เริ่มมีวิวัฒนาการของดาราจักร เรื่อยมาจนถึงยุคแห่งความมืด และยุคที่มีการรวมตัวใหม่ของดาราจักรเมื่อประมาณ 380,000 ล้านปีหลังบิกแบง จนเกิดเป็นแสงในสรรพสิ่ง ซึ่งในบูธนี้ได้ยกตัวอย่างของแสงจากธรรมชาติในสัตว์มาให้ได้ชม

ตัวอย่างที่นำมาจัดแสดงให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จัก ณ ที่แห่งนี้ คือ "แมงกะพรุนคริสตัล" (Crystal Jelly fish) สายพันธุ์เอควาเรีย วิคตอเรีย (Aequorea victoria) แต่จะเอาตัวจริงมาไว้ในตู้นานนับ 2 สัปดาห์ตลอดช่วงการจัดมหกรรมคงไม่รอด ผู้จัดจึงได้จำลองเหล่าแมงกะพรุนเรืองแสงเหลือนี้ขึ้นมาแทนจากพลาสติกเสมือนจริง ที่ทำให้ห้องมืดๆ กลับดูสวยงามมากขึ้นไม่ใช่น้อย จนกลายเป็นอีกจุดสำคัญของนิทรรศการนี้

วิทยากรประจำจุด อธิบายว่า แมงกะพรุนคริสตัลมีหลักการเกิดแสง 2 ภาค กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งไปกระทบที่บริเวณขอบร่มหรือขอบลำตัวของแมงกะพรุนที่เรียกว่า โฟโตฟอร์ (photophores) จะทำให้เกิดแสงสว่างขึ้น เพราะเกิดการเปล่งแสงทางชีวภาพและการวาวแสง เพราะภายในอวัยวะสร้างแสงเกิดปฏิกริยาเคมี ทำให้เกิดการเปล่งแสงชีวภาพสีน้ำเงิน ส่วนโมเลกุลวาวแสงจะเปลี่ยนแสงสีน้ำเงินนี้ให้เป็นสีเขียวอีกทีหนึ่ง ซึ่งสารเคมีผลิตแสงนี้สามารถถ่ายโอนพลังงานให้แก่โมเลกุลวาวแสงที่เรียกว่า โปรตีนวาวแสงสีเขียว หรือ "จีเอฟพี"

ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามนำจีเอฟพีมาใช้ประโยชน์สำหรับการติดตามสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น ปลาม้าลายได้ ด้วยการใส่ตัดต่อโปรตีนจีเอฟพีลงไปในปลา ซึ่งนอกจากแมงกะพรุนจะวาวแสงได้แล้ววิทยากรยังบอกอีกว่า สัตว์บางชนิดอย่างหิ่งห้อย แมงป่อง และแมงมุมก็สามารถวาวแสงได้เช่นกัน รวมไปถึงแร่บางชนิดก็มีการวาวแสง เพราะมีโมเลกุลวาวแสงที่ส่องสว่างได้เมื่ออยู่ภายใต้แสงอัลตร้าไวโอเลต

ส่วนสุดท้ายภายในห้องมืดเป็นส่วนจัดแสดงภาพยนตร์การ์ตูนภาษาอังกฤษพร้อมแปล เรื่องย่อยๆให้เยาวชนได้ศึกษาไปพร้อมๆ กับการนั่งพักผ่อน โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวาวแสงของปลาและสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลน้ำลึกเป็นการจบโซนวาวแสงอย่างสวยงาม ก่อนที่เราจะออกมาสู่โลกแห่งแสงสีอีกครั้งกับ "โซนนักวิทยาศาสตร์เรื่องแสง" ที่รวบรวมเอานักประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจและทำงานเกี่ยวกับแสงในยุคอดีตกว่า 20 คนทั่วโลก มาให้เราทำความรู้จักกันตั้งแต่ประวัติ, ผลงานที่ทำ และรูปภาพใบหน้าของเหล่านักปราชญ์

เช่น โยฮันเนส เคปเลอร์ นักปราชญ์ชาวดัตช์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการมองเห็นโดยเป็นคนแรกที่สร้างทฤษฎีทางคณิตศาสตร์มาอธิบายการทำงานของกล้องรูเข็ม และยังได้พัฒนากล้องรูเข็มให้ดีขึ้นจากรุ่นแรกๆ ด้วยการใส่เลนส์เว้าเข้าไปหลังเลนส์นูน ที่ช่วยขยายพาพให้มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งเป็นหลักเดียวกับการทำงานของเลนส์เทเลโฟโต้ในปัจจุบัน โดยเคปเลอร์ได้อธิบายการเห็นภาพว่า ในดวงตามีเลนส์ที่ใสแบบคนิสตัลคอยปรับโฟกัสแสงที่พุ่งเข้าสู่ดวงตาให้ตกลงบนเรตินา จนเรามองเห็นภาพต่างๆ และเรียกภาพที่มองเห็นนี้ว่า "พิคทูรา" ที่ในภายหลังกลายเป็น "พิคเจอร์" ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า "ภาพ" ในภาษาไทย

บิดาแห่งทฤษฎีแสงอย่าง อัลซาเซน (Alhazen Founder of light theory) นักปราชญ์ผู้ลบล้างทฤษฎีเอกซ์ตร้ามิชชั่นของปโตเลมีและยูคลิดอธิบายไว้ว่า มีกองไฟเล็กๆ ซ่อนอยู่ในดวงตาสัตว์ทุกชนิดที่มองเห็นสิ่งต่างๆ เพราะรังสีแสงจากดวงตาของเราพุ่งไปตกกระทบกับวัตถุ ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ได้รับความนิยมเรื่อยมาในสมัยนั้น จนกระทั่งอัลฮาเซนได้ค้นพบหลักฐานชัดเจนที่ล้มล้างความเชื่อแบบเดิม

วันหนึ่งขณะที่อยู่ในห้องขังอันมืดมิด อัลฮาเซนมองเห็นแสงที่ส่องทะลุรูเล็กๆ บนกำแพง แสงที่ส่องลอดรูเข้ามาได้ทอดไปยังผนังห้องอีกด้านและปรากฏภาพสิ่งที่อยู่ด้านนอก ในเมื่ออัลฮาเซนถูกขังจึงไม่มีทางที่แสงจากดวงตาของเขาจะพุ่งออกไปกระทบกับวัตถุที่อยู่นอกห้อง คำอธิบายในทฤษฎีเอ็กซ์ตร้ามิชช้าจึงเป็นสิ่งที่เขาไม่ยอมรับ ทำให้ตั้งแต่นั้นเขาเริ่มการพิสูจน์สมมติฐานของตัวเองด้วยการทดลองซ้ำๆ และได้คำตอบเหมือนกันทุกครั้ง จนเกิดความรู้ใหม่หักล้างทฤษฎีแสงจากดวงตาของปราชญ์ชาวกรีก ทำให้อัลซาเซนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งแสง”

เมื่อดื่มด่ำกับประวัติอันน่าสนใจของเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์แล้ว โซนต่อมาที่อยู่ข้างๆ กันคือ ส่วนของประโยชน์จากแสงในด้านต่างๆ ที่ถูกนำมาอธิบายไว้บนบอร์ดรอบทิศทางพร้อมๆ กับการฉายวิดิโอภาพเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้เด็กๆ เข้าใจว่านอกจากแสงจะช่วยให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มองเห็นแล้ว แสงยังมีประโยชน์ต่อการแพทย์สาธารณสุขในการตรวจรักษาและวินิจฉัยสมมติฐานของโรค ซึ่งทำให้เห็นภาพภายในได้แม้ไม่ผ่าตัด นอกจากนี้แสงยังเป็นตัวกลางที่เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน เพราะในปัจจุบันเราใช้ใยแก้วนำแสงและการสื่อสารแบบไร้สายเข้ามาใช้สำหรับการส่งสัญญาณภาพและเสียง ทำให้คนบนโลกที่อยู่ไกลกันสามารถติดต่อกันได้ในเวลาเพียงเสี้ยวนาที



นอกจากนี้ในบริเวณใกล้ๆ กันยังมีห้องทดลองการเรืองแสงด้วยไฟแบล็คไลท์และเลเซอร์ ให้น้องๆ ได้ร่วมสนุกด้วยการวาดภาพและเขียนข้อความประทับใจประดับไว้ที่ข้างฝา ซึ่งไฟแบล็กไลท์จะสะท้อนตัวอักษรให้เป็นสีเรืองแสงขึ้นมา สร้างความสวยงามแปลกตาไปอีกแบบซึ่งเด็กๆ ต่างก็ให้ความสนใจร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี










"หนอนผีเสื้อถุงทอง" สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี ได้เป็นอย่างดี ร่วมติดตามเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมและดำดิ่งไปในโลกวิทยาศาสตร์กับเราได้ที่ www.manager.co.th/science #larva #butterfly #insects #lepidoptera #entomology #biology #science #sciencenews #managerscience #astvscience #natural #thailand #biodiversity

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น