xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ขน "ยุงลาย" มาให้รู้จักในมหกรรมวิทย์ '58

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักเรียนร่วมกิจกรรมรู้จักยุงลายในบูธนิทรรศการต่างประเทศ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์58
ข่าวคราวอาการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกของดาราหนุ่มมากความสามารถ "ปอ ทฤษฎี" ทำให้คนในสังคมหันมาตระหนักถึงภัยร้ายของโรคไข้เลือดออกมากขึ้น ในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ขอพาทุกคนย้อนกลับไปทำความรู้จักกับ "ยุงลาย" พาหะนำไข้เลือดออกตัวร้ายให้มากขึ้น

ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เยี่ยมชมนิทรรศจากหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่ต่างงัดทีเด็ดของตัวเองมาจัดแสดง เพื่อให้ความรู้และมอบประสบการณ์วิทย์แสนสนุกแก่เยาวชน ซึ่งภายในนิทรรศการการต่างประเทศจากสหรัฐฯ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ อะฟริมส์ (AFRIMS) ที่เป็นหน่วยงานวิจัยระดับสูงระหว่างไทยและสหรัฐฯ ได้นำกรงยุงและตัวอย่างของยุงหลากชนิดในระยะต่างๆ มาจัดแสดง สร้างความน่าฉงนสงสัยให้แก่เยาวชนที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่ไม่น้อย

นางสาวจารุวรรณ ต๊ะวงศ์ ผู้ช่วยนักวิจัย แผนกกีฏวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) ให้ข้อมูลแก่ทีมข้าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า โดยปกติแผนกกีฏวิทยาของอะฟริมส์มีหน้าที่ศึกษาวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับแมลงพาหะนำโรค ซึ่ง "ยุง" ก็เป็นแมลงหลักที่นักวิจัยอะฟริมส์ทำการศึกษาพร้อมๆ กับการเพาะพันธุ์ยุงชนิดต่างๆ เพื่อรองรับกับความต้องการใช้ของงานวิจัย โดยยุงที่นำมาจัดแสดงให้เยาวชนได้ชมในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์มีด้วยกัน 3 สายพันธุ์ได้แก่ ยุงลาย, ยุงก้นปล่อง และยุงยักษ์

จารุวรรณ ระบุว่า ยุงเป็นแมลงในอันดับดิพเทอรา (Order Diptera) พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะโซนเขตภูมิอากาศอบอุ่น ซึ่งทั่วโลกมีมากกว่า 3,000 ชนิด โดยแต่ละชนิดจะมีรูปร่างหน้าตาและลักษณะเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่ปกติวงจรชีวิตของยุงจะชีวิตจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ไข่, ลูกน้ำ, ตัวโม่ง และตัวเต็มวัย ซึ่งเวลาในการเปลี่ยนผ่านไปแต่ละระยะ ของยุงแต่ละชนิดก็แตกต่างกัน

ยุงลาย (Aedes) เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก หรือไข้เด็งกี่ ยุงลายตัวเต็มวัยจะมีขีวิตได้นานนับเดือน ยุงลายตัวผู้จะกินน้ำหวานเป็นอาหารอย่างเดียว เช่นเดียวกับยุงลายตัวเมียในภาวะปกติไม่ได้กินเลือดตลอดเวลาเหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ โดยยุงลายตัวเมียจะกินเลือดสัตว์อื่นเป็นอาหารเฉพาะช่วงที่ต้องการวางไข่เท่านั้น เพื่อนำโปรตีนและสารอาหารจากเลือดมาพัฒนาให้ตัวอ่อนเจริญเติบโต ซึ่งจารุวรรณเผยว่า ยุงลายตัวเมียที่ได้รับเลือดมากพอจะออกไข่ได้คราวละ 40-100 ฟอง โดยแม่ยุงจะเลือกไข่ในภาชนะน้ำนิ่งที่มีน้ำใสสะอาด

จารุวรรณ อธิบายว่า ไข่ของยุงลายจะมีลักษณะพิเศษ คือมีรูปร่างหัวท้ายแหลมรียาวเหมือนเมล็ดข้าวสาร และมีความทนทานสูงเพราะถึงแม้ว่าปริมาณน้ำในภาชนะที่ยุงไข่จะแห้งลงแต่ไข่ก็ไม่ฝ่อ และพร้อมที่จะฟักออกมาเป็นลูกน้ำระยะที่ 1 ทันทีที่มีน้ำเติมเข้ามาอีกครั้ง โดยจะใช้เวลาพัฒนาไข่ก่อนจะออกมาเป็นลูกน้ำเป็นเวลาประมาณ 2-7 วัน และจากลูกน้ำไปเป็นตัวโม่งใช้เวลาประมาณ 4-7 วัน ส่วนยุงก้นปล่องและยุงยักษ์เมื่อวางไข่สำเร็จจะเป็นลูกน้ำทันที และใช้เวลา 2-3 วันสำหรับพัฒนาเป็นตัวโม่ง

สำหรับการสังเกตในชีวิตประจำวัน จารุวรรณ อธิบายว่า ยุงลายจะมีขนาดตัวไม่ใหญ่นักประมาณเมล็ดข้าวสาร ที่ตัวมีลายเป็นแถบสีขาวสลับดำ และจะออกหากินตอนกลางวัน ส่วนยุงอีกชนิดที่คล้ายคลึงกันแต่ตัวมีสีดำล้วน ไม่มีลาย ออกหากินตอนหัวค่ำจะเป็นยุงรำคาญที่มักอาศัยและวางไข่ตามน้ำเน่า โดยยุงลายยังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 2 สายพันธุ์หลักๆ คือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ที่มักพบตามบ้านเรือนและนำโรคไข้เลือดออก ส่วนอีกชนิด คือ ยุงลายสวน (Aedes albopictus) ที่มักพบตามเรือกสวนไร่นาและป่า ที่เป็นพาหะนำโรคชิคุนกุนยาเป็นส่วนใหญ่และไข้เลือดออกเป็นส่วนน้อย โดยอะฟริมส์จะเน้นการผลิตยุงลายบ้านเป็นพิเศษ เพราะในงานวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกต้องใช้ตัวอย่างยุงเป็นจำนวนมาก

"การเลี้ยงยุงทำไม่ยาก แต่ต้องมีมาตรฐานและการควบคุมที่ดี โดยเฉพาะยุงที่จะนำมาใช้กับการวิจัย โดยส่วนใหญ่ที่เราเลี้ยงจะเป็นยุงลายบ้านกับยุงก้นปล่องเพราะ ไข้เลือดออกกับมาลาเรียยังคงไม่หมดไปจากโลก ส่วนวิธีการเลี้ยงก็คล้ายๆ กัน คือเราจะให้น้ำหวานผสมวิตามินแก่ยุงเป็นอาหารทั้งตัวผู้และตัวเมีย ยกเว้นตัวเมียในระยะที่ต้องการวางไข่เราจะมีวิธีให้เลือดสัตว์ผ่านเยื่อเพราะยุงจำเป็นต้องได้รับโปรตีนไปใช้กับการพัฒนาตัวอ่อน แต่ถ้าเป็นยุงยักษ์จะให้น้ำหวานอย่างเดียวเลยเพราะเขาไม่กินเลือด เนื่องจากปากมีลักษณะเป็นแท่งม้วนงอเหมือนผีเสื้อ ตัวนี้เราเลี้ยงไว้ศึกษาการใช้ธรรมชาติควบคุมกันเอง" ผู้ช่วยนักวิจัยกล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ จารุวรรณ ยังเผยด้วยว่า ในฐานะผู้เลี้ยงที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการกีฏวิทยามาเป็นเวลานาน ทำให้ทราบว่าปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกสูตรใดที่ประสบความสำเร็จ จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันลดต้นตอการเกิดไข้เลือดออก ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่มักอยู่ในบ้านเรือนของตัวเอง ด้วยการสำรวจแหล่งน้ำขัง และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และรู้จักการประยุกต์ใช้การกำจัดทางชีววิธีอย่างถูกวิธี เช่น การปล่อยปลากินลูกน้ำ รวมถึงรู้จักเลือกใช้สารป้องกันยุงและฆ่าลูกน้ำที่ปลอดภัยและพยายามรักษาสภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
นักเรียนให้ความสนใจและถ่ายภาพยุงเป็นที่ระลึก
ตัวเต็มวัยยุงลาย ถูกบรรจุใส่กรงมีมุ้งครอบหนาแน่นเพื่อจัดแสดงให้เยาวชนได้ชมและตระหนักถึงภัยของไข้เลือดออก
ไข่ของยุงลาย มีสีดำ เรียวยาวเหมือนเมล็ดข้าวสาร มีความทนทานสูง
ตัวยึกยือสีขาวใส คือ ลูกน้ำยุงลาย ส่วนก้อนกลมที่มีสีเข้มกว่า คือ ตัวโม่ง
ลูกน้ำยุงลาย
แท่งสีเหลืองภายใน คือน้ำหวานผสมวิตามิน อาหารปกติของยุง
ยุงลายบ้าน ตัวเมียในระยะที่จะวางไข่เท่านั้น ที่จะกินเลือด
ยุงก้นปล่อง พาหะของโรคมาลาเรียก็ถูกนำมาจัดแสดง
ไข่ยุงก้นปล่อง มีสีดำเรียวแหลมคล้ายไข่ยุงลาย แต่เมื่อส่องดูใต้กล้องจุลทรรศน์จะเห็นลักษณะเด่นของไข่ คือมีแพช่วยในการลอยตัวในน้ำซึ่งยุงลายไม่มี
ลูกน้ำยุงก้นปล่อง
ยุงก้นปล่องจะมีลักษณะคล้ายยุงลายแต่ตัวเรียว มีสีดำเข้มและไม่มีลาย
ตัวเต็มวัยยุงยักษ์สร้างความตื่นเต้นให้เยาวชนและผู้ที่เข้าชมนิทรรศการได้ไม่น้อย เพราะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่ายุงปกติถึง 3 เท่า
ไข่ยุงยักษ์จะเป็นเม็ดกลมสีขาว
ลูกน้ำยุงยักษ์
ลักษณะเด่นของยุงยักษ์อยู่ที่ปากเป็นท่อและม้วนงอคล้ายกับปากของผีเสื้อ จึงไม่กินเลือดแต่กินน้ำหวานเป็นอาหาร และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นหนวดเป็นแผงสวยงามแตกต่างจากยุงชนิดอื่นๆ
ไข่ของยุง 3 ชนิด นำมาวางเปรียบเทียบกัน
บูธยุง อยู่ในโซนนิทรรศการต่างประเทศ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2 เมืองทองธานี

นิทรรศการให้ความรู้เรื่องยุงโดยอะฟริมส์
จารุวรรณ ต๊ะวงศ์ ผู้ช่วยนักวิจัย แผนกกีฏวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS)
สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อได้ที่โทร. 0 2577 9960 เวลาที่เหมาะสมของการเข้าชมสำหรับประชาชนทั่วไป วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 15.00 - 20.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00-20.00 น. ติดตามข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.nstf2015.com หรือ facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ








"หนอนผีเสื้อถุงทอง" สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี ได้เป็นอย่างดี ร่วมติดตามเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมและดำดิ่งไปในโลกวิทยาศาสตร์กับเราได้ที่ www.manager.co.th/science #larva #butterfly #insects #lepidoptera #entomology #biology #science #sciencenews #managerscience #astvscience #natural #thailand #biodiversity

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น