รู้จัก "แสง" ให้มากกว่าที่เคยไปกับนิทรรศการ "แสงแห่งเอกภพ" ในมหกรรมวิทย์ '58 นิทรรศการดาราศาสตร์จัดเต็มจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ที่มาพร้อมกับเครื่องมือวิทย์ของจริง-นานาเครื่องเล่นจับต้องได้ และกล้องกล้องโทรทรรศน์หลากหลายรูปแบบ และปฏิบัติการสุดมันส์ในห้องแสงเลเซอร์ mission impossible
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า เนื่องด้วยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศให้ปี 2015 เป็นปีแสงสากล นิทรรศการที่ทาง สดร.จัดขึ้นจึงเน้นไปที่การให้ความรู้เกี่ยวกับแสง ภายใต้แนวคิด “แสงแห่งเอกภพ” เพื่อให้เยาวชนและผู้สนใจได้รับความรู้เกี่ยวกับแสง รวมไปถึงความรู้ด้านดาราศาสตร์ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมนุษย์มีการค้นพบอะไรเกี่ยวกับแสง และแสงให้ประโยชน์อะไรกับมนุษย์
ภายในนิทรรศการถูกจัดให้เป็นเนื้อเดียวกัน เริ่มจากส่วนหน้าสุด คือ "ห้องแห่งแสงและเงา" ห้องมืดที่ถูกปิดด้วยม่านสีดำดูลึกล้ำซับซ้อน ดึงดูดให้เด็กๆ เกิดความอยากรู้อยากเห็น ที่ภายในมีกิจกรรมให้ได้ลองสังเกตดูเงาของตัวเองบนผนังเรืองแสงซึ่งเรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างดี
ห่างจากกันไม่กี่ก้าวจะเป็นส่วนของ "การหักเหของแสงผ่านเลนส์" ที่เป็นการทำให้เห็นว่าเมื่อแสงเดินทางผ่านวัตถุตัวกลางที่มีความหนาแน่นต่างกัน, รูปทรงต่างกัน และวิธีการจัดวางวัตถุที่ต่างกันจะให้ลำแสงสุดท้ายเป็นอย่างไร นำไปสู่หลักการรวมแสง กระจายแสงของเลนส์เว้าและเลนส์นูน ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างกล้องโทรทรรศน์ เครื่องมือสำคัญในการศึกษาเอกภพของนักดาราศาสตร์
นายศุภฤกษ์กดปุ่มไฟให้ทีมข่าวฯ สังเกตดูการเดินทางของแสงในกล้องโทรทรรศน์ พร้อมอธิบายประกอบว่ากล้องโทรทรรศน์มี 3 ประเภท ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงที่จะใช้เลนส์ในการรวมแสงที่จุดโฟกัส แล้วเลนส์ใกล้ตามีหน้าที่ขยายภาพที่จุดโฟกัสมายังดวงตา, กล้องโทรทัศน์แบบสะท้อนแสงเป็นกล้องที่ใช้เลนส์ 2 ชิ้น โดยแสงของวัตถุจะตกกระทบไปยังเลนส์ตัวที่ 1 แล้วสะท้อนไปยังตัวที่ 2 แล้วค่อยไปรวมแสงที่จุดโฟกัส ส่วนแบบที่ 3 คือกล้องโทรทรรศน์แบบผสมที่ใช้หลักการของแบบสะท้อนและหักเหแสงรวมกัน ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการใช้ประโยชน์ของกระจกและเลนส์
เมื่อความรู้มีมากขึ้นและมนุษย์มีกล้องโทรทรรศน์ ความอยากรู้อยากเห็นจึงขยายไปถึงดาวดวงอื่นๆ ว่าดาวที่อยู่ไกลๆ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง มนุษย์จึงสร้าง "แผ่นเกรตติง" หรืออุปกรณ์ในการแยกแสงให้กระจายออกเป็นสเปคตรัมบนฉากรับขึ้น ที่ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบถึงองค์ประกอบทางเคมี, อุณหภูมิ, พลังงาน, ความเร็วและการเคลื่อนที่ของวัตถุผ่านการวิเคราะห์แถบสเปคตรัมที่ขาดหายเป็นช่วงๆ ของดาวแต่ละดวง
เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ในส่วนนี้จึงมีการทดลองให้ผู้ชมมองผ่านแผ่นเกรตติงไปยังหลอดไฟแบบทังสเตนและฟลูออเรสเซนต์ที่ตั้งอยู่ทางด้านหลังด้วย โดยสเปคตรัมที่ได้จากแผ่นเกรตติงจะให้แถบสเปคตรัมต่างกัน เพราะหลอดไฟทังสเตนเป็นหลอดไส้ไม่มีแก๊สภายใน เวลาส่องด้วยเกรตติงจึงเห็นสเปคตรัมติดกันไปเป็นทางยาว แต่หลอดฟลูออเรสเซนต์ซึ่งมีก๊าซบรรจุภายในจะเห็นสเปคตรัมขาดจากกันเป็นท่อน อันเปรียบได้กับชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ ซึ่งส่วนที่เป็นท่อนๆ หรือแถบมืดของสเปคตรัมนี่เอง ที่ศุภฤกษ์เผยว่าเป็นกุญแจสำคัญของการไขความลับในองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศบนดาวต่างๆ เพราะก๊าซแต่ละชนิดจะมีความสามารถในการดูดซับแสงแต่ละช่วงคลื่นต่างกัน
"การดูสเปคตรัมทำให้เรารู้ว่าเอกภพกำลังขยายตัว โดยนักดาราศาสตร์เราจะดูสเปคตรัมเป็นแนวโน้มสี ถ้าสีมีแนวโน้มไปทางสเปคตรัมทางแดงแปลว่ามันกำลังเคลื่อนออกจากเรา แต่ถ้ามันมีแนวโน้มไปทางสีน้ำเงินแปลว่ามันกำลังวิ่งเข้าหาเรา" ศุภฤกษ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาสเปคตรัมแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ พร้อมพาเดินชมในส่วนถัดไป ที่เป็นเครื่องเล่นความรู้เกี่ยวกับการรวมแสง ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ลองฉายกระบอกไฟยักษ์สีเขียว สีแดง และสีน้ำเงินลงไปบนฉากสีขาว เพื่อเรียนรู้การผสมสีที่เห็นจากฉากด้านหลังและทำความเข้าใจกับการเกิดแสงสีขาว ที่ได้จากการนำแสง 3 สีมาส่องรวมกันซึ่งเป็นหลักเดียวกันกับที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าเพื่อให้ภาพที่ได้มีสีเหมือนกับที่ตามองเห็น
สำหรับจุดต่อไปของนิทรรศการ "แสงแห่งเอกภพ" คือส่วนที่มีชื่อว่า .. เราอยู่จุดไหนของกาแล็กซี? เป็นส่วนที่จัดแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วอวกาศนั้นช่างแสนกว้างใหญ่และระบบสุริยะเป็นเพียงฝุ่นผงที่แทบมองไม่เห็น เพราะขนาดดวงอาทิตย์อันยิ่งใหญ่ยังเป็นแค่ 1 ในดาวฤกษ์ดวงเล็กๆ จาก 2 แสนล้านดวง เปรียบได้กับจุดจุดหนึ่งบนแขนของกาแล็กซีเท่านั้น
ซึ่งใกล้เคียงกัน ยังมีบอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะฉบับโปสเตอร์อัปเดตล่าสุดเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้นักเรียน นักศึกษามาจดบันทึก ซึ่งส่วนนี้ศุภฤกษ์ เผยว่า เป็นโปสเตอร์เอกสารประกอบการเรียนรู้ชุดเดียวกันกับที่ส่งมอบให้โรงเรียนใน 77 จังหวัดทั่วประเทศในโครงการของ สดร. โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มาถึงส่วนเกือบท้ายของนิทรรศการเป็นโซนให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของแสงทางดาราศาสตร์ ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่านักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ได้ด้วยการใช้ "แสงเลเซอร์" ให้สะท้อนไปยังกระจกปริซึมมุมฉากที่ถูกนำไปวางไว้บนดวงจันทร์ตั้งแต่โครงการอพอลโล 11-14 ที่แสงเลเซอร์จะสะท้อนกลับมาในเส้นทางเดิมเสมอ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณระยะห่างได้ เพียงแค่จับเวลาแล้วคำนวณด้วยสมการความเร็ว
และไฮไลท์ ที่ดูเหมือนจะเป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดาน้องๆ หนูๆ ที่สุด คือ "ห้อง mission impossible" ที่มีการฉายแสงเลเซอร์เป็นข่ายใยแมงมุมเป็นแสงสีต่างๆ ให้เด็กๆ ประลองไหวพริบและความอ่อนตัวแบบสายลับในหนัง ควบคู่กับการปล่อยควันที่เป็นการทำให้เห็นถึงละอองอนุภาค ซึ่งศุภฤกษ์เผยว่าเป็นความตั้งใจส่วนตัวที่อยากจำลองห้องแบบในภาพยนตร์มาให้เด็กๆ ได้เล่นเป็นแห่งแรกของไทย และสามารถมั่นใจใรความปลอดภัยได้ เพราะแสงเลเซอร์ที่นำมาใช้ไม่เป็นอันตรายต่อดวงตาและการเล่นทั้งหมดอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
มาถึงเป็นมุมสบายๆ เน้นความสวยงามของภาพถ่ายดาราศาสตร์จากการประกวดที่มีผู้ส่งผลงานเข้าแข่งขันจากทั่วประเทศ, ภาพถ่าย hubble Uldra-Deep Field (HUDF) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่แสดงให้เห็นกาแล็กซีน้อยใหญ่หลากสีสัน และโซน The Messier Objects หรือ 110 วัตถุท้องฟ้าที่นักดาราศาสตร์ต้องศึกษาให้ครบก่อนตาย ที่ถูกนำมาจัดแสดงอย่างสวยงามไว้เต็มฝาผนังจนใครหลายคนอดไม่ได้ที่จะต้องหยิบกล้องมาเซลฟีกับใบหน้าตัวเอง
นอกจากนี้บริเวณด้านนอก ยังมีการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ไว้อีก 2 จุด จุดแรกเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง 2 ชนิดที่เหมือนกันทุกประการยกเว้นขนาดหน้ากล้อง คือ กล้องตัวหนึ่งมีขนาดหน้ากล้องกว้างและอีกตัวหนึ่งมีขนาดหน้ากล้องแคบ เพื่อให้เยาวชนได้ลองส่องและเปรียบเทียบภาพที่เห็น และวิเคราะห์ดูว่าทำไมจึงได้ภาพเป็นเช่นนั้น และอีกจุดเป็นกล้องโทรทรรศน์มองดาวที่ติดตั้งโปรแกรมดูดาวไว้ภายในโดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทดลองส่องและขยับกล้องได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้นิทรรศการ "แสงแห่งเอกภพ" โดย สดร.เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ 2558 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จรถึงวันที่ 25 พ.ย. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี สอบถามเพิ่มเติมที่ 02-577-9960