แม้มหาอุทกภัย'54 จะจบและจากพวกเราไปนานแล้ว แต่ความเสียหายของทรัพย์สินและอาคารบ้านเรือนบางส่วน ยังเป็นเครื่องตอกย้ำได้อย่างดี หลายบ้านต้องขนตู้ เตียง เฟอร์นิเจอร์ไม้สารพัดสิ่งทิ้งไป เพราะการถูกแช่น้ำเป็นเวลานานทำให้ไม้เหล่านั้นบวมและโก่งจนเกิดความเสียหาย นักวิจัย มทส.จึงพัฒนาไม้ประดิษฐ์ที่ทั้งอึด ถึก ทนมาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ที่เข็ดขยาดกับไม้แบบเดิม
ผศ.ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ในอดีตคนไทยนิยมสร้างบ้านและเฟอร์นิเจอร์จากไม้ธรรมชาติ ซึ่งมีความแข็งแรงและมีลายเนื้อไม้ที่สวยงามแตกต่างกันไปตามเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เมื่อสังคมขยายตัวใหญ่ขึ้นไม้จากธรรมชาติที่ถูกกฎหมายกลายเป็นที่ขาดแคลนอีกทั้งยังมีราคาสูงมาก ทำให้ตั้งแต่เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนเริ่มมีนวัตกรรมไม้เชิงวิศวกรรม (Engineered Woods) หรือไม้ประดิษฐ์เข้ามาทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งในรูปแบบของไม้อัดเอ็มดีเอฟ (Medium Density Fiberboard: MDF) และไม้อัดแผ่น ซึ่งนิยมนำมาทำเป็นกล่องบรรจุสินค้า แบบหล่อปูนงานก่อสร้าง งานเฟอร์นิเจอร์สำหรับตลาดระดับล่างและการตกแต่งภายใน ทว่าไม้เชิงวิศวกรรมที่ใช้ในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนในเรื่องของ ความแข็งแรงเชิงกลต่ำ คือค่อนข้างบอบบางจนไม่สามารถแทนที่ไม้เนื้อแข็งจากธรรมชาติ เช่น ไม้เต็งและไม้แดงได้ อีกทั้งยังไม่มีความทนทานต่อความชื้น ทำให้โก่งบวมเสียรูป ขึ้นรา และยังเป็นอาหารชั้นดีของปลวก
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.อุทัย จึงพัฒนานวัตกรรมการผลิตวัสดุไม้เชิงวิศวกรรม หรือไม้ที่ผลิตขึ้นจากเศษวัสดุไม้ หรือ เศษวัสดุที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างขี้เลื่อย, ชานอ้อย, ฟางข้าว, ซังข้าวสาลี, ซังข้าวโพด, ไม้ยูคาลิปตัส และไม้ยางพารา ด้วยการนำโฟมเข้ามาเป็นส่วนผสมเสริมกับสารยึดติดประเภทกาวยูเรีย หรือกาวลาเท็กซ์ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับไม้เชิงวิศวกรรม จนสามารถนำไปใช้งานได้เช่นเดียวชิ้นไม้ธรรมชาติ ทนลมทนน้ำ ทนแดดและการเจาะทำลายของแมลงต่างๆ
"ที่แข็งแรงเทียบเท่ากับไม้ธรรมชาติเพราะไม้ของเราเกิดมีหลายชั้น ทั้งชั้นของไม้อัด ที่นำเศษวัสดุทางการเกษตรต่างๆ มาอัดด้วยแรงอัดและอุณหภูมิที่เหมาะสม ประกอบกับชั้นของเส้นใยแก้วสลับกันกับชั้นกาวคุณภาพสูงแล้วปิดหน้าด้วยแผ่นไม้สักหรือวีเนียร์บางๆเพื่อความสวยงาม ทำให้มีความทนทานและไม่บวมน้ำแม้จะถูกแช่อยู่เป็นเวลานานถึง 1 ปี มีน้ำหนักพอเหมาะ และที่สำคัญคือมีต้นทุนที่สูงพอๆ กับไม้อัดธรรมดา และอาจถูกได้มากกว่านี้ถ้ามีการผลิตในเชิงพาณิชย์แต่ก็อาจจะถูกกว่า โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 517 บาทต่อตารางเมตร แต่เราไม่ได้จะผลิตขาย เรามุ่งไปที่การถ่ายทอดนวัตกรรมซึ่งขณะนี้เราจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อย ผู้สนใจสามารถติดต่อเพื่อนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจได้" ผศ.ดร.อุทัย กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดต่อเจรจาธุรกิจได้โดยตรงที่ เทคโนธานี มทส.จ.นครราชสีมา โทร 044-223-000 โดยนวัตกรรมไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูงยังเป็นผลงานหนึ่งที่จัดแสดงในงาน Investor's Day ประจำปี 2015 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเป็นจุดพบปะเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ