xs
xsm
sm
md
lg

"สโตนแวร์โปร่งแสง" ลดใช้ดิน-ประหยัดพลังงานด้วยนาโน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สโตนแวร์โปร่งแสงมีความสวยงามและแข็งแรงเหมือนเซรามิกแต่เบาและโปร่งแสงได้
"สโตนแวร์โปร่งแสง" มิติใหม่เซรามิกไทย โปร่งแสงได้-ใช้ดินน้อย-ประหยัดพลังงาน ช่วยวิสาหกิจชุมชนเซรามิกเชียงใหม่ยืนได้อีกครั้งด้วยนาโนเทคโนโลยี จากการคิดค้นของนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เจ้าของรางวัลนวัตกรรมนาโนสร้างสรรค์ระดับประเทศปี '58

ถ้าพูดถึง "นาโนเทคโนโลยี" หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าสามารถนำมาช่วยพัฒนาคุณค่าเซรามิกอย่าง "สโตนแวร์" ได้ แต่จะนำไปใช้ในขั้นตอนใด หน้าตาของสโตนแวร์จะเป็นอย่างไร ทำความรู้จักให้มากขึ้นกับ ดร.อนิรุทธิ์ รักสุจริต นักวิจัยผู้นำนาโนมาใช้กับเซรามิกคนแรกๆ ของไทย

ดร.อนิรุทธิ์ รักสุจริต นักวิจัยด้านเซรามิก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เผยว่า ขณะนี้ตลาดเซรามิกภาคเหนือซบเซามากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กทยอยปิดกิจการเหลือแค่เพียงบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง

ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งสนใจด้านวัสดุและนาโนเทคโนโลยีมานาน จึงพยายามหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อพัฒนาเซรามิกไทยให้มีคุณภาพและมีคุณสมบัติที่แตกต่างออกไป รวมถึงหาวิธีแก้ไขกระบวนการผลิตให้มีการใช้พลังงานที่น้อยลง โดยเฉพาะส่วนของก๊าซแอลพีจีสำหรับสำหรับการเผา ต้นทุนสำคัญของการทำเซรามิกที่ควบคุมไม่ได้เพราะราคาขึ้นตลอดเวลา เพราะเชื่อมั่นในทฤษฎีที่ว่า "นาโนจะทำให้เกิดสมบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดที่ใดมาก่อนในวัสดุที่โตกว่า"

จนเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ดร.อนิรุทธ์ได้ค้นพบวิธีที่ทำให้สโตนแวร์ใช้ความร้อนในการเผาลดลงกว่าเดิม 100 องศาเซลเซียส จากที่ต้องเผาที่อุณหภูมิ 1,250-1,380 องศาเซลเซียสให้ลดลงเหลือเพียง 1,150 องศาเซลเซียส ด้วยแนวคิดการผสมสัดส่วนดินความละเอียดสูงระดับนาโนเมตร ที่ได้จากการบดพิเศษ 1 ส่วน ต่อ ดินปกติที่มีความละเอียดต่ำระดับไมโครเมตร 4 ส่วน ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานในการเผาลงได้ถึง 50%

"สโตนแวร์คือเซรามิกที่ทำจากดินไม่ทนไฟ คล้ายเซรามิกทั่วไปแต่เบาและเปราะกว่า ซึ่งตอบโจทย์กับผู้ซื้อกลุ่มใหม่ที่ไม่ชอบความหนาเทอะทะและน้ำหนัก ตอนนั้นคิดว่าแค่ลดพลังงานได้ก็ดีแล้ว แต่ตอนไปออกงานที่งานแสดงสินค้าแห่งหนึ่ง ลูกค้ามาถามว่าทำให้โปร่งแสงได้ไหม ตอนนั้นตอบเขาไปเลยว่าทำไม่ได้ เพราะมันเป็นดิน แต่พอกลับมานั่งคิดอีกที ลองเอาหลายๆแบบที่เคยทำไปส่องไฟ เฮ้ย! มันโปร่งแสงได้นาโนทำให้ดินเกิดสมบัติใหม่ได้จริงๆ เราจึงเดินหน้าพัฒนาสโตนแวร์โปร่งแสงแบบเต็มสูบเลย" ดร.อนิรุทธ์เล่า

ดร.อนิรุทธ์กล่าวว่า สโตนแวร์โปร่งแสงที่เขาทำขึ้นไม่ใช่ชิ้นแรก เพราะก่อนหน้ามีการผลิตได้บ้างแล้วจากการใส่สารเคมีตัวเติมเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี ซึ่งนักวิจัยระบุว่าควบคุมคุณภาพในการผลิตยากกว่าการผลิตปกติหลายเท่า ตัวเขาจึงใช้แนวคิด "นำตัวมันเองผสมตัวมันเอง" ที่ง่ายกว่ามาใช้กับการปรับปรุงดินควบคู่กับใช้สมบัติของขนาดเข้าไปช่วยจับด้วยคุณสมบัติทางนาโน นวัตกรรมสโตนแวร์โปร่งแสงนาโนของเขาจึงถือเป็นนวัตกรรมที่เขาคิดค้นได้คนแรกในโลก

นอกจากจะใช้พลังงานน้อยลง โปร่งแสงได้ ดร.อนิรุทธ์เผยด้วยว่า วิธีการนี้ช่วยประหยัดวัตถุดิบเพราะการขึ้นรูปทำได้บางขึ้นจึงไม่ต้องใช้ดินมากเหมือนเก่า ทำให้จากเดิมที่ต้องใช้ดิน 6 กิโลกรัมก็ใช้เพียงแค่ 3 กิโลกรัม ทำให้ผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นและเป็นการใช้ดินอย่างคุ้มค่า ซึ่งขณะนี้เขาได้ถ่ายทอดวิธีการผลิตทั้งหมดให้แก่ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพผลิตเฟอร์นิเจอร์และเซรามิกสโสตนแวร์ ในพื้นที่ อ.สันทราย, อ.ดอยสะเก็ด และอ.หางดง จ.เชียงใหม่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นที่เรียบร้อย

ท้ายสุด ดร.อนิรุทธ์ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จะต่อยอดสโตนแวร์โปร่งแสงให้มีความสวยงามขึ้น และจะผลักดันให้สโตนแวร์เป็นได้มากกว่าเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ และโคมครอบโคมไฟ โดยจะผลิตเป็นหลอดไฟถนอมสายตา เพราะมีความเป็นไปได้ และง่ายกว่าการหล่อหลอดแก้วฟลูออเรสเซนท์ ที่ถ้าทำสำเร็จ เขาจะเป็นคนแรกในโลกที่ผลิตหลอดไฟจากดินเหนียว

ผลงานของ ดร.อนิรุทธ์ยังได้ร่วมในการแข่งขันโครงงานนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทเศ ประจำปี 2558 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จ.สมุทรปราการ เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยงานวิจัยสโตนแวร์โปร่งแสง ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์และได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
(ซ้าย)ดร.อนิรุทธิ์ รักสุจริต นักวิจัยด้านเซรามิก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
ดินที่ได้รับการบดให้ละเอียดถึงระดับนาโนเมตร
มีการประยุกต์ใช้เป็นครอบโคมไฟเพราะโปร่งแสงได้
นักวิจัยเตรียมพัฒนาให้สโตนแวร์โปร่งแสงมีรูปลักษณ์ที่สวยขึ้น
จุดเด่นของสโตนแวร์โปร่งแสงคือน้ำหนักเบา









กำลังโหลดความคิดเห็น