เปิดบ้านศูนย์วิจัยลำตะคอง โคราช พาชมงาน "ลำตะคองแฟร์'58" นิทรรศการแสดงผลงานวิจัยทางเทคโนโลยีการเกษตร วว.ครั้งแรก เกษตรกร-นักเรียนเข้าร่วมคึกคัก ชมนิทรรศการ แปลงเกษตรสาธิต ทุ่งดอกไม้ตระการตาพร้อมด้วยห้องเรียนวิทยาศาสตร์เกษตรเสริมการเรียนรู้
เปิดพิธีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับงาน "ลำตะคองแฟร์ 2558" งานแสดงนิทรรศการและเทคโนโลยีด้านการเกษตรโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเผยแพร่ผลงานด้านการเกษตรของ วว. และสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จ.นครราชสีมา ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมด้วย
ภายในงานเต็มไปด้วยพืชพรรณไม้นานาพันธุ์ทั้งที่อยู่ในแปลงสาธิต อยู่ในซุ้มกิจกรรมให้ความรู้และจัดจำหน่ายต่างๆ โดยมีประชาชนจากหลายพื้นที่และนักเรียนนักศึกษาทยอยมาร่วมงานตลอดวัน ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเนื้องานจะแบ่งออกเป็นส่วนย่อยทั้งสิ้น 8 ส่วนภายในพื้นที่กว่า 740 ไร่ ที่จะมีรถพ่วงไฟฟ้าคอยวิ่งให้บริการเป็นรอบๆ ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ไม่พลาดที่จะเก็บภาพมาฝาก
จุดเริ่มต้นของการเที่ยวลำตะคองแฟร์เริ่มที่ อาคารศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี วว.ที่โดยรอบจะรายล้อมไปด้วยผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แกงผักเชียงดากึ่งสำเร็จรูป เงาะอบแห้ง ครีมบำรุงผิวหน้าสารสกัดจากเมล็ดองุ่น และที่ขาดไปไม่ได้คือ ซุ้มผักพื้นบ้านอย่าง ดอกชมจันทร์และผักหวานป่า พืชพันธุ์พื้นบ้านที่ วว.นำมาวิจัยและเพิ่มคุณค่าจนกลายเป็นผักที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ซึ่งด้านหลังจะเป็นส่วนของซุ้มขายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ประกอบการในมาขายโดยตรงในราคาย่อมเยา
เมื่อรถพ่วงไฟฟ้าเคลื่อนไปเรื่อยๆ จุดดึงดูดสายตาต่อมาคือ ส่วนของแปลงสาธิตการผลิตผักพื้นบ้านและผักเชิงระบบ พื้นที่แปลงผักกว้างขวางที่ภายนอกปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพรเอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบง่ายแก่การศึกษา เช่น กะเพรา, ชะพลู, สะระแหน่, โหระพา, ชมจันทร์, มะเขือเทศ, แตงกวาและพืชอื่นๆ อีกหลากชนิด ส่วนภายในโรงเรือนผักจะมีไว้สำหรับปลูกผักที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งผักสลัดไฮโดรโพนิกส์นานาชาติ, กระบอกเพชร, หม้อข้าวหม้อแกงลิง, สัปปะรดหลากสี ซึ่งแต่ละที่จะมีวิทยากรคอยให้คำแนะนำข้อมูลแก่ผู้สนใจ
จุดต่อมาเป็นจุดสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถไถนา รถเกี่ยวข้าว รถพรวนดินที่ผู้ผลิตภาคเอกชนได้นำมาร่วมจัดแสดงเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกับกลุ่มผู้ค้ากล้าไม้พื้นเมืองและปุ๋ยที่ยกกระบะมาให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อกันอย่างจุใจ ควบคู่กับผลไม้สดๆ จากสวนที่เก็บกันมาสดๆ ทั้งฝรั่งน้อยหน่า และกะท้อน
และจุดที่ดูจะเป็นที่สนใจของผู้มาร่วมงานที่สุด คงหนีไม่พ้นแปลงดอกไม้สีสดและทุ่งทานตะวันที่ขณะนี้กำลังแข่งกันบานอวดโฉมจนหลายๆ คนอดไม่ได้ที่จะหยิบกล้องออกมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก่อนรถพ่วงไฟฟ้าจะวนรถกลับเพื่อพาเราไปชมห้องเรียนวิทยาศาสตร์พลังงานทดแทน และห้องเรียนพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์ ซึ่งมีทั้งความสนุกและสาระความรู้อยู่ควบคู่กัน
ด.ญ.ปวีณ์ธิดา คุณวงศ์ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนมัธยมวชิราลงกรณวราราม จ.นครราชสีมา หนึ่งในนักเรียนที่โรงเรียนพาร่วมงานลำตะคองแฟร์และห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เผยว่า รู้สึกตื่นตาตื่นใจเพราะก่อนหน้านี้แม้เธอจะเคยผ่านศูนย์วิจัยลำตะคองอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่เคยทราบว่าศูนย์แห่งนี้ทำวิจัยอะไรบ้าง แต่เมื่อโรงเรียนพามาทัศนศึกษาก็รู้สึกชอบ เพราะได้เรียนรู้ว่าพลังงานทดแทนคืออะไร รู้ว่าพลังงานไฟฟ้าเกิดจากอะไรทั้งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้เข้าใจและอยากเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น
ด้าน น.ส.ศศิวิมล หมี่จันทึก นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนเดียวกันได้เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การมาเยี่ยมชมงานครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์สำหรับเธอ เพราะเธอกำลังมองหาแรงบันดาลใจดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้สำหรับทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และยังเป็นการเปิดประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเธอเพราะไม่บ่อยนักที่จะได้ไปทัศนศึกษาที่ไหน
นายมนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง กล่าวว่า สถานีวิจัยลำตะคองเป็นหน่วยงานภูมิภาคของ วว. ที่มีหน้าที่หลักในการทำวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี จัดอบรม สัมมนาด้านการเกษตรให้แก่ นิสิต นักศึกษา เกษตรกรและประชาชนทั่วไป มาตั้งแต่ปี 2551 และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จัก วว.มากขึ้น สถานีวิจัยจึงจัดงานลำตะคองแฟร์ 2558 ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อฉลองโอกาสครบรอบสถาปนา 52 ปีของ วว.ด้วย
"สถานีวิจัยลำตะคองทำงานเพื่อส่วนรวมมานาน แต่ยังไม่เคยเปิดบ้านให้ใครได้ชม ผลงานหลักๆ ที่เราทำคือ การตั้งชื่อดอกชมจันทร์จนกลายเป็นที่รู้จัก และยังมีการวิจัยเพื่ออนุรักษ์และเพาะพันธุ์ผักหวานป่า ผักกูด และผลไม้พื้นบ้านอย่าง มะขามป้อม มะเม่า และเห็ดชนิดต่างๆ แต่คงไม่มีประโยชน์ถ้าเราวิจัยแล้วเก็บเอาไว้ดูคนเดียว เราจึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการทัศนศึกษาและฝึกอาชีพโดยคาดไว้ว่าจะมีคนมาร่วมงานประมาณ 1,000-2,000 คน ส่วนการจัดงานในครั้งต่อไปอาจจะจัดขึ้นอีกใน 2 ปีข้างหน้า เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความจำเจ" ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ งานแสดงเทคโนโลยีด้านการเกษตร "ลำตะคองแฟร์ 2558" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 ส.ค.2558 ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ใถานศึกษาและประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ไม่มีค่าใช้จ่าย