นักวิจัยชีวเคมี “การเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์” คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ด้านนักวิจัยฟิสิกส์ ม.ขอนแก่น นักวิจัยชีววิทยา ม.บูรพา และนักวิจัยเคมี ม.มหิดล คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2558 รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระบุองค์ความรู้ในงานวิจัย นำไปสู่การต่อยอดและพัฒนาเป็นนวัตกรรมของประเทศ
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเปิดเผยในงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2558 เมื่อ 29 ก.ค.58ว่า การมอบรางวัลดังกล่าวมูลนิธิฯ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 33 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน อันได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา หรือสาขาวิชาที่คาบเกี่ยวในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ให้ได้รับความสนใจและเกิดการกระตุ้นให้มีนักวิจัยใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะวิกฤติที่ไทยกำลังประสบปัญหาในเรื่องการขาดแคลนนักวิจัย
“แม้ประเทศไทยจะมีแนวโน้มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน กลับพบว่ามีงานวิจัยค่อนข้างน้อย จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีนักวิจัยประมาณ 11 คน ต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีนักวิจัย 100 คนต่อประชากร 10,000 คนโดยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ในอันดับ 3 ส่วนอันดับ 2 ที่นำหน้าไทยคือประเทศมาเลเซีย ขณะที่ประเทศที่มีการลงทุนสูงที่สุดในด้านนี้คือ ประเทศสิงคโปร์ดังนั้น การพัฒนานักวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ควบคู่กับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) โดยประชากรจะมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น สามารถลดความเหลื่อมล้ำ และพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งจะเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันในทุกๆ ด้านและสามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้อย่างก้าวกระโดด” ศ.ดร.ศักรินทร์กล่าว
ด้าน ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และอธิการบดี สถาบันวิทยสิริเมธีกล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างรางวัลที่ทางมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ กับรางวัลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีการมอบอยู่แล้วในประเทศไทย คือ ประการที่หนึ่ง มีการเสาะแสวงหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่น โดยไม่มีการสมัคร ประการที่สอง บุคคลผู้นี้จะต้องมีผลงานทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีความสำคัญติดต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยพิจารณาปริมาณและคุณภาพของผลงาน เพื่อเปรียบเทียบกับนักวิทยาศาสตร์ ในสาขาเดียวกัน และประการสุดท้าย มีการพิจารณาถึงคุณสมบัติของตัวบุคคล ทั้งในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรมสูง อันจะเป็นตัวอย่างที่ดี ก่อให้เกิดความศรัทธาในนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันและต่อเยาวชนของชาติที่จะยึดถือปฏิบัติตาม
“ผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จะเป็นแรงบันดาลใจของนักวิทยาศาสตร์ในการผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้จำกัดเพียงการทำการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการบริการพลังงาน สิ่งแวดล้อมและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรโลกอีกด้วย” ศ.ดร.จำรัสกล่าว
สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมีและหน่วยวิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปี พ.ศ. 2558 ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท
ศ.ดร.พิมพ์ใจมีผลงานวิจัยด้านองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับกลไกการเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์หลายประการ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถทำให้ปฏิกิริยาเกิดได้อย่างรวดเร็วและใช้พลังงานกระตุ้นที่ต่ำ นอกจากนี้ยังทำให้การเกิดปฏิกิริยามีความถูกต้องและจำเพาะสูง ทั้งนี้ การใช้เอนไซม์ในกระบวนการผลิตมีข้อดี คือลดการใช้พลังงาน ลดการใช้สารเคมีอันตราย ทำให้ได้กระบวนการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ผลงานของ ศ.ดร.พิมพ์ใจ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมวิชาการชั้นนำทั่วโลก
“วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เป็นการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติ องค์ความรู้ที่ได้จะสามารถนำไปสู่การต่อยอดและพัฒนาเป็นนวัตกรรม ซึ่งงานวิจัยด้านเอนไซม์เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้อย่างดี เพราะเมื่อเราเข้าใจว่าเอนไซม์ทำงานอย่างไร จึงทำให้ปฏิกิริยาเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและจำเพาะ เราจะสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปพัฒนากระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนายารักษาโรคชนิดใหม่ๆ ได้” ศ.ดร.พิมพ์ใจกล่าว
สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2558 ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่
1.ผศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีผลงานวิจัยการทำงานเกี่ยวกับวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าใน “แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน” ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้คนยุคใหม่เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพาแล้ว รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และการกักเก็บพลังงานจากลมและแสงแดด
2.รศ.ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมีผลงานวิจัย “เคมีอินทรีย์-อนินทรีย์สังเคราะห์” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างโมเลกุลที่มีคุณสมบัติน่าสนใจที่ไม่สามารถพบในธรรมชาติ โดยพยายามออกแบบวิธีการสังเคราะห์ สรรสร้าง โครงสร้างเคมีโมเลกุลใหม่ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารตั้งต้นและสารเติมแต่งในอุตสาหกรรมเคมี หรือแม้กระทั่งวัสดุทางการแพทย์ อีกด้วย
3. ดร.เพียงพักตร์ สุขรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพามีผลงานวิจัยเกี่ยวกับ “อนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ (Systematics) ของไบรโอไฟต์ (Bryophytes)” ซึ่งไบรโอไฟต์มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ใช้เป็นดัชนีในการบ่งบอกคุณภาพของสภาพแวดล้อม เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตลอดจนมีสารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ