กลายเป็นเรื่องไม่คาดคิดว่า “ผงแป้ง” ผสมสีจะเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้และกลายเป็นโศกนาฏกรรมขึ้นได้ในสวนน้ำที่ไต้หวัน ด้านนักเคมี ม.มหิดลชี้เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นไม่ง่าย ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง เกิดได้ในแป้งจากผลิตผลทางการเกษตรเพราะเป็นสารอินทรีย์ ส่วนแป้งทาตัวเป็นสารอนินทรีย์ที่ติดไฟยากกว่า ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแป้งทราบดีเกี่ยวกับความเสี่ยงเหล่านี้และมีการป้องกัน
เหตุเพลิงไหม้และปะทุระเบิดระหว่างการพ่นผงสีในงานปาร์ตีคัลเลอร์ เพลย์ เอเชีย (Color Play Asia) ของสวนน้ำฟอร์โมซา ฟัน คอสท์ (Formosa Fun Coast Water Park) ในเขตปาหลี่ มหานครนิวไทเปซิตี เมื่อหัวค่ำวันที่ 27 มิ.ย.ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บสาหัสอีกกว่า 500 ราย
ทางด้าน รศ.ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์เหตุการณ์จากคลิปที่ปรากฏตามข่าวให้แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เพลิงไหม้ดังกล่าวเกิดจากฝุ่นของแป้งข้าวโพดผสมสีที่อัดฉีดให้ฟุ้งในสวนน้ำเพื่อสร้างบรรยากาศ
การที่ฝุ่นแป้งติดไฟขึ้นมาได้นั้น รศ.ดร.พลังพลอธิบายว่า ทางสวนน้ำได้ใช้แป้งข้าวโพดผสมสีมากหลายตันอัดฉีดให้ฟุ้งในอากาศเพื่อสร้างสีสันเมื่อส่องไฟ แต่การอัดแป้งในปริมาณมากนั้นทำให้เกิดการเสียดสีและอาจเกิดประกายไฟจนเกิดการติดไฟ และเมื่ออนุภาคหนึ่งของแป้งข้าวโพดเกิดการเผาไหม้ก็เกิดการถ่ายเทพลังงานไปยังอนุภาคข้างเคียงทำให้เกิดการเผาไหม้ต่อเนื่องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่จนกระทั่งเชื้อเพลิงหมด
“จากภาพที่ปรากฏเห็นเป็นเปลวเพลิงสีส้มแดงคาดเดาได้ว่าอุณหภูมิที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วง 400-500 องศาเซลเซียส และเกิดไฟลุกลามในอากาศประมาณ 10 วินาที แล้วเกิดไฟลุกที่พื้นอีกประมาณ 30 วินาที ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความดันสูงจากการขยายตัวของอากาศ และอุณหภูมิสูงขึ้น ขณะเดียวกันการเผาไหม้ทำให้ออกซิเจนบริเวณที่เกิดเหตุลดลง ผู้คนที่ไม่มีอากาศหายใจจะพยายามหายใจเข้า ซึ่งมีโอกาสหายใจเอาฝุ่นที่มีอุณหภูมิสูงเข้าไป และเป็นสาเหตุหนึ่งของการบาดเจ็บ” รศ.ดร.พลังพลอธิบายและคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเนื่องจากร่างกายทนบาดแผลไฟไหม้ไม่ไหว
ทั้งนี้ การติดไฟได้นั้นต้องมี 3 องค์ประกอบคือ เชื้อเพลิง ออกซิเจนและความร้อน ในกรณีของฝุ่นแป้งนี้จะเกิดการเผาไหม้เมื่อมีความหนาแน่นมากกว่า 100 กรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ซึ่งการฟุ้งกระจายของแป้งที่เป็นสารอินทรีย์ทำให้อนุภาคแป้งมีพื้นที่ผิวในการทำปฏิกิริยากับความร้อนมากขึ้น แต่ความร้อนต้องสูงถึง 500 องศาเซลเซียส หรือความร้อนระดับเตาแก๊สหุงต้ม และหากอยู่ในพื้นที่จำกัดไม่ใช่พื้นที่เปิดโล่งจะทำให้เกิดการระเบิดได้ เนื่องจากการขยายตัวของอากาศ
“ในอุตสาหกรรมแป้งรู้ดี เมื่อมีการเสียดสีของอนุภาคทำเกิดไฟฟ้าสถิตย์ ซึ่งแก้ไขด้วยการต่อสายดิน อุบัติเหตุเช่นนี้เคยขึ้นในโรงงานทั่วโลก และในไทยก็น่าจะมีเกิดขึ้นเป็น 10 ครั้ง และเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนทั้งอุตสาหกรรมแป้ง การใช้แรงดันลมลำเลียงผลิตผลิตทางการเกษตรที่มีฝุ่นละออง แต่เหตุการณ์แบบนี้ทำให้เกิดความสูญเสียต่อโรงงาน เจ้าของเขาย่อมต้องป้องกัน และทางกรมโรงงานก็มีกฎระเบียบอยู่” รศ.ดร.พลังพลระบุ
วิทยาศาสตร์อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด จากเหตุการณ์ไฟไหม้สวนน้ำที่ไต้หวันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังมีการจัดปาร์ตี้ที่มีการ...
Posted by Mahidol Channel on Tuesday, June 30, 2015
อย่างไรก็ตาม แม้อุบัติเหตุที่เกิดจะเป็นอันตรายแต่ รศ.ดร.พลังพลระบุว่าไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย หากเอาความร้อนไปจี้แป้งที่กองไว้ย่อมไม่เกิดการเผาไหม้หรือระเบิด เนื่องจากพื้นที่ผิวในการทำปฏิกิริยามีน้อย ซึ่งเขาได้ทำการทดลองสาธิตการเผาไหม้จากฝุ่นแป้งอินทรีย์เพื่อแพร่ผ่านรายการ Mahidol Channel โดยได้ทำการทดลองก่อนถ่ายทำ และพบว่าการทำให้แป้งติดไฟและเผาไหม้นั้นไม่ง่าย แต่ย้ำว่าเป็นการทดลองที่ไม่ควรลอกเลียนแบบ และควรมีชุดป้องกัน พร้อมอธิบายอีกว่ากรณีของแป้งฝุ่นทาตัวนั้นไม่เกิดการเผาไหม้หรือระเบิดได้ง่าย เพราะเป็นสารอนินทรีย์ ซึ่งจะทำให้เกิดการเผาไหม้ได้ต้องใช้อุณหภูมิที่สูงนับพันองศาเซลเซียส
ผู้สนใจการทดลองระเบิดฝุ่นแป้ง ติดตามได้ทางรายการ Mahidol Channel